เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือ “สังคมผู้สูงอายุ” ไทย อย่างไรดี?

เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือ “สังคมผู้สูงอายุ” ไทย อย่างไรดี?

ภายในปี 65 ที่จะถึง เราจะกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ สถาบันวิจัยผู้สูงอายุไทยและสถาบันประชากรไทย แนะนำให้ประชาชนเร่งปรับตัวตามสถานการณ์ พร้อมการพัฒนากิจกรรม กระบวนการเรียนรู้สำหรับวัยสูงอายุที่เหมาะสม

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ภาคีสร้างสุข มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดเวทีสาธารณะ : ก้าวต่อไปของผู้สูงอายุไทย 12 ล้านคน ผู้สูงอายุไทยอยู่ส่วนไหนของโลก ผ่านโปรแกรมซูม โดยระดมความคิดหลากมิติ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสังคมสูงวัยไทยที่กำลังใกล้เข้ามาในอีกไม่นานนี้ 

ดร.ณปภัช สัจนวกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ยกข้อมูลรายงานที่มูลนิธิสถาบันวิจัยพัฒนาผู้สูงอายุไทยและสถาบันวิจัยประชากรไทยและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำร่วมกัน โดยในส่วนของอาเซียน 10 ประเทศ มี 7 ประเทศเป็นสังคมสูงวัยแล้ว มีเพียง 3 ประเทศ ที่ยังไม่เข้าสู่สังคมสูงวัย คือ ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และ สปป. ลาว 

ทั้งนี้ ประเทศไทยและสิงคโปร์ ถือว่าเข้มข้นที่สุด ส่วนประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2565 ที่จะถึงนี้

เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือ “สังคมผู้สูงอายุ” ไทย อย่างไรดี?

"ในอีก 10 ปี หรือปี 2574 เราจะกลายเป็นสังคมสูงวัยขั้นสุด หรือสังคมสูงวัยระดับสุดยอด เหมือนญี่ปุ่นซึ่งรุนแรงและรวดเร็วมาก จึงเป็นเรื่องท้าทายมาก ในด้านความมั่นคงทางรายได้ของคนไทย เรามีคน 3 กลุ่ม คือ

1. ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพ 9.6 ล้านคน ใช้งบประมาณไป เกือบ 8 หมื่นล้านบาท

2. ผู้สูงอายุที่ได้รับบำเหน็จ 8 แสนกว่าคน ใช้งบประมาณเกือบ 3 แสนล้านบาท

3. กลุ่มผู้สูงอายุที่ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ จากองทุนประกันสังคม 5.9 แสนคน ใช้งบประมาณ 2 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งจะเห็นว่าแต่ละกลุ่มได้รับความมั่นคงทางด้านรายได้แตกต่างเหลื่อมล้ำกัน"

เรามีผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยเยอะมากเกินกว่า 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุไทย 12 ล้านคน หรือน้อยเกินกว่า 5 ล้านคน และคาดว่าจะมากขึ้นต่อไปในอนาคต เป็นความท้าทายสำคัญที่รัฐมีหน้าที่ต้องจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรมมากกว่าที่เคย

ดร.ณปภัช กล่าวถึงข้อเสนอ 4 ข้อสำหรับรองรับสังคมสูงวัยที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า คือ 

  1. เรามีผู้สูงอายุ 12 ล้านคน อีก 20 ปีข้างหน้ามันจะกลายเป็น 21 ล้านคน ถามว่าจะให้เขาอยู่ที่ไหนดี สิ่งที่เราต้องทำคือ ทำให้คนสามารถอยู่ในบ้านของตัวเองได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ขณะเดียวกันรัฐก็มีหน้าที่ในการเพิ่มเติมบริการให้ด้วย 
  2. การสูงวัยต้องทำอย่างมีพลัง มีสุขภาพดี มีความมั่นคงทางการเงิน มีส่วนร่วมมีอิสระ เมื่อใดที่เราทำให้คนยังแอคทีฟหรือมีพลัง ภาระของรัฐและสังคมก็จะน้อยลงตามไป
  3. ผู้สูงอายุมีการเข้าถึงดิจิทัลเทคโนโลยีน้อยมาก ซึ่งเราก็ต้องพยายามส่งเสริมเรื่องนี้
  4. การสูงวัยที่เป็นธรรมและเท่าเทียม

เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือ “สังคมผู้สูงอายุ” ไทย อย่างไรดี?

ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สสส.) กล่าวว่า จากสถานการณ์สังคมสูงอายุที่ประเทศไทยกำลังจะเป็น สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ ในปี 2565 ซึ่งจะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นสิ่งที่ท้าทายในการกำหนดนโยบาย มาตรการ แนวทางที่เหมาะสมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย รวมทั้งการปฏิบัติตัวของผู้สูงอายุและครอบครัวในการใช้ชีวิตร่วมกัน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญนอกเหนือจากการสร้างเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ เพื่อให้มีสุขภาพดี ช่วยเหลือ ดูแลตนเองได้อย่างยาวนานแล้ว ประเด็นการคุ้มครองทางสังคม โดยเฉพาะหลักประกันทางรายได้ของผู้สูงอายุยังเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงในระยะยาว เนื่องจากผู้สูงอายุยังคงมีรายจ่ายในการดำเนินชีวิต

ดังนั้น จึงเป็นโจทย์สำคัญในการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจทั้งการสนับสนุนจากภาครัฐในรูปแบบการจัดสวัสดิการอย่างถ้วนหน้า การส่งเสริมการมีอาชีพหรือการทำงานอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการมีกิจกรรมทางสังคม และพัฒนาเรียนรู้ ตนเองอย่างต่อเนื่อง

ที่ผ่านมา สสส. และภาคีเครือข่ายร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดระบบความคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ การพัฒนากิจกรรม กระบวนการเรียนรู้สำหรับวัยสูงอายุที่เหมาะสมกับบริบทและสถานการณ์ รวมถึงการเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ Young Happy พัฒนาหลักสูตร “เกษียณคลาส” ที่ออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุได้เรียนรู้วิธีการเข้าถึงเทคโนโลยีควบคู่กับการเรียนรู้ที่หลากหลายก่อนก้าวเข้าสู่วัยเกษียณ 

นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรผู้สูงวัยดิจิทัล ที่พัฒนาระบบโดย มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยมีเป้าหมายให้ผู้สูงอายุเข้าถึงการมีสุขภาวะ มีความสุข และเป็นพลังของสังคมอย่างต่อเนื่อง