เดินหน้าสู่ยุคใหม่แห่ง “การธนาคารที่มีจิตสำนึกรับผิดชอบ”

เดินหน้าสู่ยุคใหม่แห่ง “การธนาคารที่มีจิตสำนึกรับผิดชอบ”

สวัสดีครับ ธนาคารพาณิชย์ไทยได้ร่วมเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ด้วยการขานรับต่อหลักการสากลด้านการธนาคารที่มีจิตสำนึกรับผิดชอบ โดยลงนามแสดงเจตจำนงรับ “หลักการธนาคารที่รับผิดชอบ” (Principles for Responsible Banking) ของ UNEP Finance Initiative (UN PRB) ในช่วงปลายเดือนก.ย.ที่ผ่านมา

  เพื่อนำมาใช้เป็นกรอบการดำเนินงานขับเคลื่อนธนาคารไทยสู่ความยั่งยืนในระดับสากล นับเป็นพันธะสัญญาครั้งใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม หลังจากธนาคารไทย 15 แห่งร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Sustainable Banking Guidelines – Responsible Lending) เมื่อสองปีก่อน ซึ่งเป็นเพียงแนวทางที่มีขอบเขตจำกัดกว่าและอยู่ในระดับประเทศเท่านั้น

            จากนี้ไป ธนาคารผู้ลงนาม UN PRB ยังมีภาระกิจต่อเนื่องที่สำคัญ เพื่อสานต่อหลักการดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง โดยธนาคารจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดเพื่อเข้าร่วมเป็นธนาคารผู้ลงนาม หรือ Signatory Bank อย่างเป็นทางการภายใน 12 เดือนหลังการลงนามครั้งนี้ และยังต้องออกรายงานผลการดำเนินงานตามเป้าหมายฉบับแรกภายใน 18 เดือนหลังจากได้เป็น Signatory Bank แล้ว จากนั้นต้องรายงานความคืบหน้าทุกปี และดำเนินการตามแนวปฏิบัติที่กำหนดให้สำเร็จภายใน 4 ปี  หากไม่สามารถปฏิบัติได้อาจจะถูกให้ออกจากการเป็น Signatory Bank ดังนั้นธนาคารพาณิชย์ที่ได้ร่วมลงนามไปแล้ว จำเป็นต้องมีความเข้าใจหลักการ UN PRB อย่างถ่องแท้

การรับหลักการ UN PRB เป็นการแสดงเจตนารมณ์ในการดำเนินกิจการโดยผนวกปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบธุรกิจและการบริหารความเสี่ยงร้อมกับการตั้งเป้าหมายที่มุ่งปรับเปลี่ยนไปสู่ธนาคารที่มีจิตสำนึกรับผิดชอบ  คำนึงถึงวิสัยทัศน์สู่อุตสาหกรรมธนาคารที่มีบทบาทสำคัญในสังคมแห่งศตวรรษที่21 ในการส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อให้เกิด “สังคมสำหรับทุกคน” (Inclusive Society) ที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และมีพันธกิจที่จะเป็นผู้นำ และใช้ผลิตภัณฑ์ บริการ และสร้างความสัมพันธ์เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและวิถีชีวิตในระดับฐานราก  

            โดยมีหลักการสำคัญ 6 ข้อ ที่เป็นเสมือนดัชนีชี้วัดผลงานของธนาคารผู้ร่วมลงนาม ได้แก่

            1. Alignment: การวางกลยุทธ์ให้สอดคล้องและสนับสนุนความต้องการส่วนบุคคลและเป้าหมายของสังคมตามที่ปรากฎในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ  และความตกลงปารีส (Paris Climate Agreement)  

            2. Impact & Target Setting: การสร้างผลกระทบเชิงบวกและลดผลกระทบเชิงลบอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดกับผู้คนและสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากกิจกรรม ผลิตภัณฑ์ หรือบริการของธนาคาร 

            3. Clients & Customers: การดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบต่อลูกค้าเพื่อสนับสนุนให้เกิดแนวปฏิบัติที่ยั่งยืน  นำไปสู่การแบ่งปันความเจริญงอกงาม (Shared Prosperity)

 

            4. Stakeholders: การปรึกษาหารือและเป็นพันธมิตรกับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องอย่างจริงใจ ร่วมกันยกระดับผลกระทบเชิงบวกเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางสังคมและสิ่งแวดล้อม

            5. Governance & Culture: กระบวนการกำกับดูแลและการส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรตามหลักการธนาคารที่รับผิดชอบ  การกำหนดบทบาทและหน้าที่ของบุคลากรอย่างชัดเจนควบคู่กับการจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อให้เกิดผลลัพธ์สูงสุด 

            6. Transparency & Accountability: ความโปร่งใสและรับผิดชอบต่อผลกระทบทั้งเชิงบวกและลบ รวมถึงการมีส่วนร่วมผลักดันให้บรรลุเป้าหมายของสังคมตามหลักการธนาคารที่รับผิดชอบ

             การลงนามประกาศเจตจำนงในครั้งนี้ สะท้อนถึงความจริงจังต่อเป้าหมายข้างต้นซึ่งมีระยะเวลาการปฏิบัติที่ชัดเจน และความมุ่งมั่นในการประกอบธุรกิจตามแนวทางการธนาคารเพื่อความยั่งยืน อีกทั้งช่วยยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานของสถาบันการเงินในประเทศไทยให้เทียบเท่าระดับสากล สอดรับกับเป้าหมาย SDG ขององค์การสหประชาชาติ  ดังนั้น หากสามารถปฏิบัติได้จริง จะทำให้ธนาคารไทยได้ชื่อว่าเป็นธนาคารที่มีความรับผิดชอบซึ่งกำลังดำเนินบทบาทการเป็นพลเมืองที่ดี (Corporate Citizenship) เพื่อนำสังคมสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างแท้จริง