เมื่อข้อมูลคือการสะสมทุน: การปรับตัวของกลุ่มทุนไทยในยุคดิจิทัล

เมื่อข้อมูลคือการสะสมทุน: การปรับตัวของกลุ่มทุนไทยในยุคดิจิทัล

“Data is the new oil” ในยุคที่ข้อมูลมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ย่อมส่งผลต่อการปรับตัวของกลุ่มทุนในแต่ละประเทศ ซึ่งรวมถึง "กลุ่มทุนไทย" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

บทความโดย : อดิศักดิ์ สายประเสริฐ SIAM-LAB, อดิศา ชูดวง นิสิต เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาฯ, นรชิต จิรสัทธรรม คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ขอนแก่น
 

“Data is the new oil” ในยุคที่ข้อมูลมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นอย่างมากจนเปรียบเสมือนได้กับน้ำมันที่เป็นแหล่งพลังงานขับเคลื่อนเครื่องจักร นอกจากนั้นน้ำมันก็เองก็มีราคาสูงจนทำให้เกิดมหาเศรษฐีจากอุตสาหกรรมน้ำมันและปิโตรเคมีจำนวนมาก 

ข้อมูลในศตวรรษที่ 21 ก็เป็นเช่นเดียวกับน้ำมัน การได้ยินคำว่า Big Data การเรียน Data Science หรือการออกแบบชุดข้อมูลให้คนเข้าใจง่ายอย่าง Data Visualization ถือเป็นเรื่องปกติที่เห็นได้ทั่วไป เมื่อข้อมูลสามารถนำไปทำอะไรต่อมิอะไรได้เยอะขนาดนี้ ย่อมส่งผลต่อการปรับตัวของกลุ่มทุนในแต่ละประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จาธาน ซาโดสกี้ (Jathan Sadowski) นักวิจัยแห่ง Emerging Technologies Research Lab ของมหาวิทยาลัยโมนาชในออสเตรเลียได้ศึกษาระบบทุนนิยมในศตวรรษที่ 21 พบว่าข้อมูลมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการสะสมความมั่งคั่งทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความมั่งคั่งในอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี การเงิน และ การประกันภัย ฉะนั้น “ทุนทางข้อมูล” (data capital) สร้างความมั่งคั่งด้วยการสะสมข้อมูลการทำกิจกรรมของคน สถานที่ และเครื่องใช้ต่างๆ ที่มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์ เพื่อนำไปสร้างผลิตภัณฑ์หรือออกแบบบริการจากข้อมูลเพื่อครองตลาดได้ง่ายกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ 

การประมวลผลโดยคอมพิวเตอร์มีบทบาทอย่างมากในการสั่งสมทุนทางข้อมูล  เพราะมันสามารถขุดข้อมูลผู้ใช้งานในระหว่างการทำงาน การนอนหลับพักผ่อนที่บ้าน การซื้อสินค้าออนไลน์ หรือแม้แต่การเดินบนทางเท้าแล้วถูกส่องโดยดาวเทียม 

สิ่งนี้คือปรากฏการณ์ที่เรียกว่า การสะสมทุนโดยการ “ขุดค้น” ข้อมูล (accumulation by extraction) แล้วเชื่อมข้อมูลเหล่านี้เข้าด้วยกันกันเป็นสิ่งที่ทำให้ระบบทุนนิยมดิจิทัลขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว แม้จะมีการสร้างข้อมูลเท็จ ข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ รวมถึงภาษาทิพย์ แต่อัลกอริธึ่มก็สามารถสร้างการเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจและคัดกรองข้อมูลเหล่านี้ได้ในระดับหนึ่ง 

ไม่ว่าเราจะเป็นคนสร้างข้อมูลเองหรือข้อมูลถูกสร้างจากเครื่องมือใดๆ ก็ตาม การไหลเวียนของข้อมูลและการสะสมข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์มักจะอยู่ในระบบข้อมูลที่มีความซับซ้อนเป็นการถาวร แม้ว่าเราจะลบข้อมูลทิ้งไปแล้วก็ตาม แต่ร่องรอยของคำสั่งที่เรากดลบก็จะยังคงอยู่ โดยที่คนทั่วไปตรวจสอบความโปร่งใสของระบบอัลกอริธึมนี้อย่างยากลำบาก

ทุนนิยมในลักษณะนี้ก็มีชื่อเรียกหลายแบบ ทั้งทุนนิยมสอดแนม (surveilance capitalism) ที่อุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ ทำการสอดแนมการเคลื่อนไหวเราอยู่เสมอ ทุนนิยมข้อมูล (informational capitalism) หรือทุนนิยมแพลตฟอร์ม (platform capitalism) ที่เราใช้บริการต่างๆ จากแอพพลิเคชัน

เมื่อข้อมูลได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการสะสมทุนยุคปัจจุบัน ส่งผลให้กลุ่มทุนปรับตัวตามกระแสโลก ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มทุนในไทยที่มีการปรับตัวมาอย่างต่อเนื่องหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ธุรกิจจำนวนมากทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ตกอยู่ในภาวะล้มละลายและมีหนี้สินมหาศาล โดยเฉพาะธุรกิจในกลุ่มธนาคารและอสังหาริมทรัพย์

อีกทั้งยังส่งผลให้ทุนใหญ่ในธุรกิจกลุ่มอื่นๆ เช่น ธุรกิจในกลุ่มค้าปลีก ธุรกิจอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ และธุรกิจปูนซีเมนต์ จำเป็นต้องลดสัดส่วนความเป็นเจ้าในธุรกิจของตัวเองลงด้วยการขายกิจการบางส่วนออกไปให้กับกลุ่มทุนต่างชาติเพื่อความอยู่รอด

ตัวอย่างเช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ เครือซีพี ที่ตัดสินใจยอมขายกิจการห้างโลตัสซึ่งเป็นธุรกิจห้างไฮเปอร์มาเก็ตในเครือให้กับกลุ่มเทสโก้จากประเทศอังกฤษ จนเทสโก้ขณะนั้นมีสัดส่วนความเป็นเจ้าของในห้างโลตัสอยู่ที่ร้อยละ 82 หรือ การที่เครือเซ็นทรัลตัดสินใจขายกิจการห้างไฮเปอร์มาร์เก็ตบิ๊กซีและคาร์ฟูร์ ให้กับกลุ่มคาสิโนจากประเทศฝรั่งเศส ส่งผลให้คาสิโนขณะนั้นมีสัดส่วนความเป็นเจ้าของในห้างบิ๊กซีและคาร์ฟูร์อยู่ที่ร้อยละ 66 และ ร้อยละ 40 ตามลำดับ

ขณะเดียวกันภาคธุรกิจที่มีต่างชาติถือหุ้นร่วมก็ได้นำระบบสมาชิกหรือ club member เข้ามาใช้ในการสะสมยอดซื้อเพื่อรับสิทธิพิเศษ ในแง่หนึ่งก็เป็นการจูงใจลูกค้าให้กลับมาซื้อสินค้าแล้วสะสมแต้มไปเรื่อยๆ จนสามารถแลกของสมนาคุณหรือส่วนลดได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการเก็บข้อมูลประวัติการซื้อสินค้าของลูกค้าในระยะยาวเพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้จ่าย ฐานะทางการเงิน ลักษณะของครอบครัว ที่ช่วยให้ภาคธุรกิจคิดโปรโมชันหรือออกแบบผลิตภัณฑ์ได้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม กลุ่มทุนข้ามชาติรายใหญ่ก็ไม่ได้ทำให้การผูกขาดและการกระจุกตัวของทรัพย์สินของกลุ่มทุนรายใหญ่ของไทยลดลงมากนัก เนื่องจากกลุ่มทุนรายใหญ่ของไทยที่รอดจากวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ได้เข้าซื้อธุรกิจที่ขาดทุนหลายกิจการ รวมทั้งควบรวมกิจการเหล่านั้นเข้ามาไว้ในเครือของตนเอง

เช่น กลุ่ม Thaibev ของตระกูลสิริวัฒนภักดี ที่ขยายธุรกิจด้วยการลงทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องกับการทำสุรา ซึ่งได้แก่ ข้าว แก้ว และการขนส่ง รวมไปถึงธุรกิจโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ เซรามิก วัสดุก่อสร้าง จนเรียกได้ว่าเป็นเศรษฐีที่ดินซึ่งกลุ่มธุรกิจภายใต้การถือหุ้นครอบครองที่ดินทั่วประเทศหลายแสนไร่ 

หรือแม้แต่เครือซีพีเองที่แม้จะขายกิจการห้างโลตัสออกไปให้กับกลุ่มเทสโก้แล้ว แต่เครือซีพีก็ยังสามารถใช้ประสบการณ์และเครือข่ายความสัมพันธ์กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของตนจัดหาที่ดินทำเลทองสำหรับก่อสร้างและขยายสาขาให้กับห้างเทสโก้-โลตัสได้ และในช่วงหลังจะเห็นได้ว่าบริษัทในเครือได้แตกไลน์ธุรกิจในประเทศจำนวนมาก จากเดิมที่เน้นธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรไปลงทุนด้านอื่น ๆ อย่างเข้มข้น 

หากเปรียบว่าบ้านคือสถานที่แรกที่เราใช้ชีวิต เครือซีพีลงทุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สร้างที่อยู่อาศัย เมื่อก้าวเท้าออกจากบ้านไปเรียนหรือไปทำงาน เครือซีพีมีบริษัทโทรคมนาคม มีร้านสะดวกซื้อหลายพันแห่ง มีสถาบันการศึกษา หลังเลิกงานที่ต้องไปพักผ่อนหรือทานข้าว เครือซีพีมี The Third-Place ที่เป็นไลฟ์สไตล์คอมเพล็กซ์ให้คนมาพบปะพูดคุยกัน ซึ่งเน้นการสะสมข้อมูลการใช้ชีวิตของผู้คนที่อาศัยในเมืองให้เข้มข้นมากขึ้น 

นอกจากนั้นเครือซีพียังได้ซื้อหุ้นกิจการที่เคยเป็นของตัวเองจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างเช่น Makro เมื่อปี 2558 และ ซื้อ Tesco Lotus ที่มีทั้งไฮเปอร์มาร์เก็ต ตลาดโลตัส และโลตัสเอ็กซ์เพรส รวม 1,967 สาขา เมื่อปี 2564 เปรียบเสมือนการต่อจิ๊กซอธุรกิจการค้าปลีก-ไฮเปอร์มาร์เก็ต-ค้าส่ง ให้ครบวงจร ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถชำระผ่าน Money Wallet ธุรกิจการชำระเงินออนไลน์ภายในเครือที่สามารถระดมทุนจนกลายเป็น Unicorn ตัวใหม่ของวงการสตาร์ทอัพไทย

เมื่อมองผ่านการสะสมทุนข้อมูลก็ทำให้เห็นว่าเครือซีพีมีข้อมูลลูกค้าที่ครอบคลุมทุกกลุ่มคน ทุกพื้นที่ของประเทศ และเกือบครบทุกกิจกรรมของชีวิต 

ขณะที่กลุ่มทุนไทยอื่น ๆ อย่างเช่นเครือเซ็นทรัลพยายามปรับตัวสู่การสะสมทุนข้อมูลด้วยการร่วมทุนกับกลุ่ม JD จากประเทศจีนสร้างแพลตฟอร์ม JD-Central สำหรับขายสินค้าออนไลน์ แต่จำนวนผู้ใช้งานและส่วนแบ่งตลาดก็ยังเป็นรอง Lazada และ Shopee หรือด้วยการมีบัตรสมาชิก The One Card และบัตรเครดิต Central The 1 ที่แม้จะรวบรวมข้อมูลจากผู้ใช้บริการห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ห้างโรบินสัน ท้อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อเซ็นทรัล-แฟมิลี่มาร์ท แต่สาขาของห้างและร้านสะดวกซื้อในเครือเซ็นทรัลมักกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ จึงส่งผลให้สะสมข้อมูลด้วยความเร็วที่ช้ากว่าเครือซีพีเป็นอย่างมาก

การขยายกิจการตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำในแง่หนึ่งก็อาจเป็นการเพิ่มอำนาจเหนือตลาด แต่ขณะเดียวกันก็ได้การเชื่อมต่อข้อมูลลูกค้าในแต่ละบริษัทเข้าด้วยกัน จนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีทุนข้อมูลที่แข็งแกร่งที่สุดในประเทศ

เมื่อกลุ่มธุรกิจถือครองข้อมูลอย่างเข้มข้นก็ทำให้ start-up รายใหม่ที่ต้องการเติบโตจากเทคโนโลยีข้อมูลเสียเปรียบธุรกิจขนาดใหญ่เป็นอย่างมาก เพราะการจะก้าวไปสู่การเป็น start-up ที่ประสบความสำเร็จต้องพึ่งพาการฟูมฟักและข้อมูลจากกลุ่มทุนใหญ่เป็นหลัก 

ประเด็นหนึ่งที่ จาธาน ซาโดสกี้ ตั้งคำถามถึงทุนนิยมข้อมูล คือ แล้วรัฐจะกำกับดูแลข้อมูลที่บริษัทเก็บมาได้อย่างไร?

เพราะในแง่หนึ่งข้อมูลที่บริษัทเก็บมานั้นเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ระบุตัวตนได้ แต่รัฐบาลก็ยังไม่ได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ทุกมาตราในทางปฏิบัติ หากมองว่าข้อมูลเป็นโครงสร้างพื้นฐานของสาธารณะแล้วรัฐก็ควรเข้ามากำกับดูแลไม่ให้บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ครอบครองข้อมูลมากเกินไปจนนำไปสู่การผูกขาดทางธุรกิจ 

การซื้อขายหรือควบรวมกิจการจึงมิใช่เพียงการเปลี่ยนแปลงในทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเชื่อมข้อมูลลูกค้าเข้าด้วยกันจนส่งผลให้กลุ่มทุนมีอำนาจข้อมูลขนาดใหญ่เหนือตลาด.