"เปิดประเทศ 1 พ.ย." ผลดี-ผลเสีย และเสียงประชาชนส่วนใหญ่

"เปิดประเทศ 1 พ.ย." ผลดี-ผลเสีย และเสียงประชาชนส่วนใหญ่

เปิดมุมมอง กรณี "เปิดประเทศ 1 พ.ย." ผลดี-ผลเสีย และเสียงประชาชนส่วนใหญ่

คนไทยกำลังชั่งน้ำหนัก ความเป็นจริงความเสี่ยง ความเป็นเหตุเป็นผล และทำความเข้าใจสถานการณ์วิกฤติโควิด 19 ยังระบาด กรณีรัฐบาลประกาศเดินหน้า "เปิดประเทศ 1 พ.ย. 64" ซึ่งหลายฝ่ายออกมาแนะนำ ติติง และตักเตือน จะหวังผลทางการเมืองหรือไม่ก็ตาม แต่รัฐบาลต้องรับฟังและนำไปพินิจพิจารณา เพื่อทำความเข้าใจต่อประชาชน

ดังที่ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยแพร่วันนี้ (17 ต.ค. 64) ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี “เปิดประเทศ 1 พ.ย. 64” ระหว่างวันที่ 11-14 ตุลาคม 2564 
 

  • ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่กับ “การเปิดประเทศ” วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564

 ไม่เห็นด้วย 59.86% - เห็นด้วย 40.14%    

 

  • ประชาชนคิดว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยจะเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศโดยไม่ต้องกักตัว

ยังไม่ถึงเวลา 60.10%  - ถึงเวลาแล้ว 39.90%
 

  • “ผลดี”ของการเปิดประเทศ 

อันดับ 1    กระตุ้นเศรษฐกิจ เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ 
อันดับ 2    ประชาชนมีงานทำ สามารถทำมาหากินได้
อันดับ 3    สร้างรายได้ให้กับประเทศและในพื้นที่ท่องเที่ยว          
อันดับ 4    ผู้ประกอบการ ธุรกิจท่องเที่ยวฟื้นตัว  
อันดับ 5    สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน/ผู้ประกอบการ 
 

  • “ผลเสีย” ของการเปิดประเทศ 

อันดับ 1    อาจเกิดการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้น
อันดับ 2    ต้องกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง 
อันดับ 3    กระทบต่อความพร้อมด้านสาธารณสุข เช่น จำนวนเตียง บุคลากรทางการแพทย์ 
อันดับ 4    อาจเกิดการลักลอบเข้าประเทศตามชายแดน           
อันดับ 5    กระทบกับการใช้ชีวิตของประชาชนในประเทศ         
อ่านข่าว : นายกฯสั่งกองทัพหนุนเปิดประเทศ-ช่วย ศบค.คุมโควิดชายแดนใต้

  • “5 ปัจจัย” ที่จะช่วยให้เปิดประเทศได้ตามกำหนด

อันดับ 1    ฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้กับประชาชนได้เกินร้อยละ70           
อันดับ 2    คุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้  
อันดับ 3    ความพร้อมทางด้านสาธารณสุข โรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ 
อันดับ 4 มีการตรวจเชิงรุกอย่างสม่ำเสมอ/ตรวจคัดกรองก่อนเข้าสถานที่ต่างๆ  
อันดับ 5    สร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในพื้นที่ท่องเที่ยว เช่น สนามบิน รถสาธารณะ ร้านอาหาร โรงแรม 


"เปิดประเทศ 1 พ.ย." ผลดี-ผลเสีย และเสียงประชาชนส่วนใหญ่

แน่นอนว่า สถานการณ์ต่างๆ ในตอนนี้ ทั้งเรื่องภาวะเศรษฐกิจ สังคมและสาธารณสุข เป็นปัจจัยหลักที่บีบให้รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องตัดสินใจเดินหน้าสร้างความหวังความเชื่อมั่นให้ประชาชนได้ลุกขึ้น ออกจากบ้าน สู้กับโรคร้ายติดเชื้อแพร่ระบาด เพื่อหารายได้จุนเจือตนเองและครอบครัว ท่ามกลางนโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวให้เข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องเดินทางมาจากกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำและต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว

ปัญหาคือ ความเสี่ยงเพราะคนไทยที่ได้รับการฉีดวัคซีนทั่วประเทศแล้วนั้น ยังไม่มากพอ แม้กระทรวงสาธารณสุขจะทำงานหนัก แต่เพราะการได้มาซึ่งวัคซีนโควิดไม่มากพอและต่อเนื่อง ทำให้ตัวเลขฉีดวัคซีน 70% ของจำนวนประชากร ยังต้องรอเวลา ประเมินจากผลสำรวจจากสวนดุสิตโพล พบว่า ประชาชนร้อยละ 60 คิดว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยว

เนื่องจากว่าหวั่นผลเสียของการเปิดประเทศ อาจเกิดการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้น และต้องกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง ยิ่งกระทบต่อความพร้อมด้านสาธารณสุข เช่น จำนวนเตียง บุคลากรทางการแพทย์ อีกด้วย

ดังนั้น ความหวังจะสร้างความเชื่อมั่น บนเงื่อนไขไม่มีหลักประกันในการเปิดประเทศ ทำให้คนส่วนใหญ่ยังกังขา ซึ่งต้องเร่งทำความเข้าใจ และถือเป็นการเดิมพันของรัฐบาลและประเทศครั้งสำคัญ.