กฎหมายควบคุมการโพสต์รูป | ณิชนันท์ คุปตานนท์

กฎหมายควบคุมการโพสต์รูป | ณิชนันท์ คุปตานนท์

หากเป็นกรณีคนทั่วไปที่โพสต์รูปเห็นกันเฉพาะในกลุ่มเพื่อน ๆ ก็อาจไม่ส่งผลกระทบมากนัก แต่หากเป็นกรณีของคนที่มีชื่อเสียงซึ่งมีแนวโน้มจะสามารถส่งอิทธิพลต่อความคิดของคนอื่นได้

ด้วยเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้า การแต่งรูปก็เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะด้วยความสามารถของกล้องถ่ายรูปหรือแอพลิเคชั่นต่าง ๆ ซึ่งมาพร้อมฟังก์ชั่นการแต่งรูปที่หลากหลาย ไม่ว่าจะให้ผิวดูเนียนขึ้น ตากลมโต คางรูปตัววี การแต่งหน้าโทนสีต่าง ๆ รวมไปถึงการปรับแต่งรูปร่างเพื่อให้ได้สัดส่วนสวยงามตามใจปรารถนา

นอกจากนี้ ด้วยอิทธิพลของอินเตอร์เน็ตและความนิยมของการใช้โซเชียลมีเดีย กระแสการโพสต์รูปสวย ๆ เพื่อเรียกยอดไลค์ยอดแชร์ก็เป็นสิ่งที่ผู้คนในโลกโซเชียลนิยมทำกันมากขึ้น 

หากเป็นกรณีคนทั่วไปที่โพสต์รูปเห็นกันเฉพาะในกลุ่มเพื่อน ๆ ก็อาจไม่ส่งผลกระทบมากนัก แต่หากเป็นกรณีของคนที่มีชื่อเสียงซึ่งมีแนวโน้มจะสามารถส่งอิทธิพลต่อความคิดของคนอื่นได้ หรือที่มักเรียกทับศัพท์ว่าอินฟลูเอนเซอร์ (influencer) นั้น

การโพสต์รูปของบุคคลเหล่านี้ ก็สามารถส่งผลกระทบต่อความคิดและจิตใจของหลายคนได้ไม่น้อยที่เอาตนเองไปเปรียบเทียบกับคนดังเหล่านั้น แล้วทำให้ตนเองรู้สึกว่าไม่สวยไม่หล่อ รูปร่างไม่ดีเหมือนอย่างบรรดาอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะความเครียดต่าง ๆ รวมไปถึงโรคซึมเศร้า ทั้งยังอาจส่งผลต่อไปยังพฤติกรรมอื่น ๆ  ที่สร้างผลร้ายต่อสุขภาพ และซ้ำร้ายยังอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้ต้องเสียพลเมืองที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศส่วนหนึ่งจากอาการป่วยเหล่านั้น 

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่ความสวยงามในรูปต่าง ๆ ของเหล่าคนดังทำให้เกิดเป็นค่านิยมในเรื่องมาตรฐานของความงาม และส่งผลทำให้เกิดการ bully คนที่มีรูปร่างหน้าตาไม่ได้ตามมาตรฐานความงามเหล่านั้นด้วย 

หลังจากที่ประเทศอังกฤษได้ออกร่างกฎหมายรูปที่ผ่านการปรับแต่งดิจิตอล (Digitally Altered Body Image Bill) เมื่อปีกลายซึ่งกำหนดให้ผู้โฆษณา บรอดแคสเตอร์ และผู้ผลิตสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ แสดงโลโก้ลงบนภาพที่ได้มีการปรับแต่งส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายเพื่อประโยชน์ในจุดประสงค์ที่เกี่ยวข้องในการเผยแพร่ภาพนั้น  

ประกอบกับเมื่อช่วงกลางปี รัฐสภานอร์เวย์ก็ได้ผ่านกฎหมายแก้ไขกฎหมายการตลาดในเรื่องของการโฆษณาที่ผ่านการตกแต่ง หรือที่มักนิยมเรียกสั้น ๆ ว่า Retouched Photo Law เพื่อลดปัญหาเรื่องมาตรฐานความสวยงามอันเกิดจากกระแสของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์อันส่งผลกระทบในทางที่ไม่ดีต่อประชาชนโดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่น 

กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้บริษัท ผู้โฆษณา แพลตฟอร์มสื่อต่าง ๆ และเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ที่ได้รับสปอนเซอร์จากการโพสต์รูปลงบนโซเชียลมีเดีย รวมถึงการประชาสัมพันธ์แบรนด์ต่าง ๆ ระบุเครื่องหมายที่ได้รับการออกแบบจากรัฐบาลในรูปที่โพสต์ด้วยหากรูปนั้นผ่านการปรับแต่งหรือใส่ฟิลเตอร์ และให้เปิดเผยข้อมูลทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปรับแต่งรูป  เพื่อให้คนทั่วไปได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ฟิลเตอร์ การปรับแสง หรือการปรับแต่งสีผิว รูปร่าง หน้าตา เช่น การทำให้เอวคอด ขาเรียว การเพิ่มขนาดของกล้ามเนื้อ เป็นต้น

กฎหมายใหม่นี้จึงเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญเพื่อปกป้องคุ้มครองสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่นที่อ่อนไหวต่ออิทธิพลด้านความคิด เพราะผลการสำรวจได้แสดงให้เห็นว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีเด็กและเยาวชนชาวนอร์เวย์ประมาณเจ็ดหมื่นคน (จากจำนวนประชากรทั้งหมดประมาณ 5.4 ล้านคน) ที่ประสบปัญหาทางสุขภาพจิตอย่างมาก

อันเนื่องมาจากปัญหาความเครียดในเรื่องของรูปร่างหน้าตาของตนเองที่ไม่สวยงามเหมือนเหล่าคนดัง ทั้งยังพบว่าโรคอะนอเร็กเซีย (Anorexia nervosa) หรือที่เรียกว่าโรคคลั่งผอมเป็นสาเหตุการตายอันดับสามของเยาวชนหญิงของนอร์เวย์อีกด้วย

แม้จะมีกระแสตอบรับที่ดีต่อกฎหมายดังกล่าว แต่ก็ยังมีความเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวอาจยังไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้เพราะมีการบังคับใช้แค่กับการปรับแต่งภาพที่โพสต์ลงในสื่อต่าง ๆ ซึ่งได้รับค่าตอบแทนเท่านั้น ทั้งยังยากในการพิสูจน์  

ปัญหานี้หยั่งรากลึกและมีความซับซ้อนเกินกว่าที่จะแก้ปัญหาเพียงการบังคับให้มีการเปิดเผยข้อมูลการปรับแต่งรูปได้  นอกจากนี้ เรื่องของเทคนิคการใช้สีในการแต่งหน้า รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการปกปิดริ้วรอยก็มีส่วนทำให้รูปออกมาสวยงาม ซึ่งก็ไม่ใช่ข้อมูลที่กฎหมายบังคับให้เปิดเผยด้วย

ประเทศไทยก็ประสบปัญหาเหล่านี้อยู่ไม่น้อย แม้อาจไม่ใช่ในลักษณะเดียวกับนอร์เวย์เสียทีเดียว เช่น กระแสค่านิยมเรื่องผิวขาวในอดีตที่ส่งผลให้มีโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่เน้นการทำให้ผิวขาวถูกผลิตออกมามากมายทั้งที่ได้มาตรฐานและไม่ได้มาตรฐาน อันส่งผลให้ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อย ตกเป็นเหยื่อของสารเคมีอันตรายที่ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางผิดกฎหมาย 

นอกจากนี้ เรายังพบเห็นการ bully ในเรื่องรูปลักษณ์ หรือสีผิวกันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะในสื่อโทรทัศน์หรือภาพยนต์ จะในรั้วโรงเรียนหรือสถานที่อื่น ๆ   รวมไปถึงคอมเมนท์ในสื่อโซเชียลต่าง ๆ 

ทั้งนี้ แม้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของไทยได้กำหนดเรื่องการของการเปิดเผยข้อความในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญของเครื่องสำอาง หรือการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายก็ตาม แต่ก็คงจะยากที่จะเอาผิดกรณีที่มีการใช้รูปที่มีการปรับแต่งมา 

น่าจะเป็นเรื่องที่ดีหากประเทศไทยจะเอากฎหมายใหม่ดังกล่าวของนอร์เวย์มาปรับใช้บ้าง เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับทราบข้อมูลการปรับแต่งรูป และได้รับรู้ว่าความสวยงามแบบอุดมคติเหล่านั้นจริง ๆ แล้วผ่านการปรับแต่งมาอย่างไรบ้าง ทั้งยังสอดคล้องกับสิทธิของผู้บริโภคที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้รัฐธรรมนูญในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง

อย่างไรก็ดี กฎหมายดังกล่าวคงไม่สามารถแก้ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน สถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษายังคงมีความสำคัญในการปลูกฝังจิตสำนึกเด็กและเยาวชนให้เข้าใจธรรมชาติและความแตกต่างของบุคลิกรูปลักษณ์ การให้เกียรติบุคคลอื่น ละเว้นการล้อเลียน หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำร้ายจิตใจของบุคคลอื่น และการไม่ล่วงละเมิดเรื่องส่วนตัวของผู้ใด.