Facebook Smart Glasses

เมื่อรูปแบบของการใช้เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลง อาจมีโอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งกันระหว่างกฎหมายกับการใช้เทคโนโลยีขึ้นมาได้ ตัวอย่างเกิดขึ้นแล้วจากกรณีของสินค้า smart glasses กับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

แว่นตาอาจถือได้ว่าเป็นอุปกรณ์พกพาชนิดหนึ่งที่อยู่คู่กับหลาย ๆ คนมานาน ในยุคที่ทุกๆ อย่างถูกทำให้อัจฉริยะมากขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีฝังเข้าไปในอุปกรณ์เพื่อให้มีความเป็น smart devices และสามารถตอบสนองต่อการใช้งานที่มีประสิทธิภาพ หลากหลายมากขึ้น และสามารถเชื่อมต่อในระบบเครือข่ายอัจฉริยะของ IoT เจ้าแว่นตาก็เป็นอุปกรณ์หนึ่งที่หลายๆ  บริษัทได้พยายามปรับปรุงให้เป็น smart glasses
    Google เป็นหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำที่ได้พัฒนา smart glasses ของตนเอง ภายใต้ชื่อ Google Glass ขึ้นมาและนำออกจำหน่ายในช่วงปี 2013 และยุติการจำหน่ายเป็นการทั่วไปในปี 2015 เนื่องจากราคาที่ค่อนข้างสูง (1,500 USD) และไม่ได้รับการตอบรับจากตลาดเท่าที่ควร และดูเหมือนว่ากระแสของ smart glasses ก็จะดูแผ่วเงียบเบาไปจนกระทั่ง Facebook ร่วมมือกับ Ray-Ban ในการพัฒนา Facebook smart glasses ขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อทำตลาดกลุ่มลูกค้าทั่วไปที่มีความสนใจในแฟชั่นและเทคโนโลยี
    แต่ไม่ทันที่ Facebook smart glasses/Facebook View จะถูกจัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ความกังวลต่อการผสานกันของเทคโนโลยีและแว่นตาก็ได้รับการตอบสนองในทางปฏิเสธจากคนจำนวนมากที่กังวลต่อลักษณะการใช้งานและความไม่ปลอดภัยต่อความเป็นส่วนตัวของบุคคล เนื่องจากลักษณะการใช้งานของแว่นตาอัจฉริยะนั้นสามารถบันทึกภาพและประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลอื่นได้แบบ real-time และบุคคลที่ถูกบันทึกภาพ เสียงหรือพฤติกรรมอาจไม่มีโอกาสได้รับแจ้งหรือรู้เลยว่าตนเองกำลังถูกก้าวล่วงความเป็นส่วนตัว

ข้อกังวลจากสาธารณะดังกล่าวได้รับการสะท้อนออกมาผ่านการดำเนินการของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป 2 หน่วยงาน ได้แก่ Data Protection Commission of Ireland (DPC) และ Italian Data Protection Supervisory (Garante) โดยทั้งสองหน่วยงานได้มีเอกสารลงวันที่ 17 กันยายน 2564 ต่อการจัดจำหน่าย Facebook View ในไอร์แลนด์และอิตาลีว่า ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลมีความกังวลต่อความสามารถของอุปกรณ์ดังกล่าวในการบันทึกภาพและเสียงโดยอาจไม่มีกระบวนการแจ้งเตือนบุคคลที่ถูกบันทึก (ประมวลผล) ที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสม

แม้ว่าที่ตัวแว่นจะมีระบบไฟ LED เพื่อแสดงสถานะว่ากำลังมีการบันทึกข้อมูลก็ตาม ซึ่ง DPC และ Garante จะได้มีหนังสือไปยัง Facebook Ireland เพื่อให้ชี้แจงต่อข้อกังวลข้างต้นและอธิบายถึงความเหมาะสมและประสิทธิภาพของระบบการแจ้งเตือนด้วย LED ว่าอุปกรณ์กำลังทำงานนั้นเหมาะสมและเพียงพอต่อการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามมาตรฐานของ GDPR หรือไม่
    ในความเห็นของผู้เขียน การประมวลผลของ Facebook smart glasses อาจมีข้อกังวลต่อการไม่ปฏิบัติตาม GDPR ได้ดังนี้
    หลักการเรื่อง Data Protection by Design an by Default
    ตาม GDPR (มาตรา 25) หลักการดังกล่าวเป็นหลักประกันว่าเทคโนโลยีที่ถูกออกแบบมาจะมีการกำหนดค่าตั้งต้นที่เป็นมิตรกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคล และในกระบวนการออกแบบเทคโนโลยีได้นำหลักการของ GDPR เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ต้นจนจบ อาทิ หลักการใช้ข้อมูลเพียงเท่าที่จำเป็น และได้มีมาตรการที่เพียงพอและเหมาะสมในการปกป้องความเป็นส่วนตัวในระบบเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์นั้นแล้ว

หลักการเรื่อง Right to be Informed
    สิทธิในการได้รับแจ้งเงื่อนไขการประมวลผล (GDPR มาตรา 13,14) เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานและเป็นสิทธิที่สำคัญของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กล่าวคือ ในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลต้องมีสิทธิทราบว่าตนเองถูกประมวลผล (ถ่ายภาพ บันทึกเสียง) ถูกประมวลผลโดยใครบ้าง มีวัตถุการประมวลผลอย่างไร ข้อมูลนั้นถูกใช้อย่างไร โดยใคร และข้อมูลนั้นถูกเก็บไว้ที่ไหน ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งด้วยข้อจำกัดเนื่องจากลักษณะของอุปกรณ์และวิธีการประมวลผล รูปแบบและวิธีการแจ้งที่เหมาะสมจึงนับว่าเป็นประเด็นท้าทายสำหรับนักออกแบบอย่างยิ่ง
    จากข้อสังเกตข้างต้น ท่านผู้อ่านคงเห็นแล้วว่าเมื่อรูปแบบของเทคโนโลยีมีความเปลี่ยนแปลง ก็มีโอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งกันระหว่างกฎหมายกับเทคโนโลยีขึ้นมาได้ บางท่านก็คงอยากใช้ smart glasses แต่ผมก็เชื่อว่าอีกหลายท่านก็อาจมีข้อกังวลต่อการถูกใช้ไปในทิศทางการละเมิดความเป็นส่วนตัวได้ ซึ่งนี่คือการชั่งประโยชน์ในสองสิ่งที่อาจมีความขัดแย้งกันโดยสภาพ ซึ่งต้องหาดุลยภาพในสังคมให้ได้ว่าเราจะยอมรับได้แค่ไหน ระหว่างความสะดวกสบายและการใช้งานที่อาจเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในบางลักษณะกับการที่เราอาจจะสูญเสียความเป็นส่วนตัวไปอย่างไม่มีโอกาสเรียกกลับคืนมา.

อ้างอิง
1.     Italy data authority asks Facebook for clarifications on smart glasses, https://www.reuters.com/technology/italy-data-authority-asks-facebook-clarifications-smart-glasses-2021-09-10/
2.    Smart glasses: Italian SA seeks information from Facebook, https://www.garanteprivacy.it/home/docweb/-/docweb-display/docweb/9698698#english
3.    EU Authorities, Privacy Advocates Pepper Facebook With Questions Over Newly-Released Smart Glasses, https://www-cpomagazine-com.cdn.ampproject.org/c/s/www.cpomagazine.com/data-privacy/eu-authorities-privacy-advocates-pepper-facebook-with-questions-over-newly-released-smart-glasses/amp/
4.    Smart Glasses Made Google Look Dumb. Now Facebook Is Giving Them a Try, https://www.nytimes.com/2021/09/09/technology/facebook-wayfarer-stories-smart-glasses.html