ชีวิตกับ ‘หัวซุกทราย’

ชีวิตกับ ‘หัวซุกทราย’

นักวิชาการชอบนำพฤติกรรมของนกกระจอกเทศ ที่ว่ากันว่าเอาหัวซุกทราย ยามเมื่อหวาดกลัวหรือถูกคุกคามมาอธิบายการกระทำของมนุษย์ในหลายลักษณะที่อาจเป็นภัยต่อตนเอง

ข้อเขียนในวันนี้อาจทำให้ผู้อ่านหลายท่านตระหนักว่าเราต่างก็เป็นนกกระจอกเทศด้วยกันทั้งนั้นเพียงแต่ในดีกรีที่แตกต่างกัน

นกกระจอกเทศ (Ostrich) เป็นนกตระกูลเดียวกับนกอีมู (Emu) ซึ่งตัวใหญ่    วิ่งเร็วมากแต่บินไม่ได้    นกกระจอกเทศมีถิ่นกำเนิดในทวีปอาฟริกา    ส่วนนกอีมูนั้นทวีปออสเตรเลีย  ปัจจุบันมีการทำฟาร์มนกกระจอกเทศกันแพร่หลายในไทย  เนื้อมีราคาแพง   มีไขมันน้อยกว่าเนื้อสัตว์อีกหลายชนิด    ถือว่าเป็นอาหารสุขภาพชั้นดีของมนุษย์ซึ่งนกกระจอกเทศไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง
    ในปี 2016 สองนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมด้านการเงินชาวอิสราเอลได้ตั้งชื่อปรากฏการณ์ที่มนุษย์หลีกเลี่ยงการรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การเงินที่น่าอันตรายโดยกระทำราวกับว่ามันไม่ได้เกิดขึ้น หรือพูดให้กว้างหน่อยว่าเป็นการหลีกเลี่ยงตนเองจากการรับทราบข้อมูลทางการเงินที่เป็นลบซึ่งเกรงว่าจะก่อให้เกิดความไม่สบายใจ      ปรากฏการณ์นี้มีชื่อว่า Ostrich Effect (ปรากฏการณ์นกกระจอกเทศ หรือ OE) หรือพูดอีกอย่างว่าคนก็เป็นนกกระจอกเทศที่เอาหัวซุกทรายได้
    มีการพบว่ายามที่หุ้นตก นักลงทุนจะไม่ค่อยพิจารณามูลค่าพอร์ตของตนเองที่ลดลง ซึ่งตรงข้ามกับตอนที่หุ้นขึ้น   พฤติกรรมอย่างนี้คือ OE   กล่าวคือมีความเอนเอียง (bias) ที่จะไม่ดูเพราะกลัวจะไม่สบายใจ ต่อมา OE กินความหมายไปถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตด้วย  ผู้เขียนขอยกตัวอย่างและอธิบายประกอบดังต่อไปนี้  
    (1)  มีงานศึกษาพบว่าคนที่เป็นโรคเบาหวานจำนวนมากไม่ติดตามเฝ้าดูตัวเลขของระดับน้ำตาลในเลือดซึ่งเป็นหนทางควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด     ด้วยเหตุที่เกรงว่าหากเห็นตัวเลขสูงแล้วจะไม่สบายใจ   การกระทำเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นอันตราย

(2)  คนจำนวนมากไม่ยอมไปตรวจโรคเป็นประจำเพราะกลัวพบว่าเป็นโรคซึ่งจะทำให้ทุกข์ใจ ดังนั้นสู้ไม่ไปตรวจเสียจะดีกว่า บ้างมีอาการป่วยแต่ไม่ยอมไปหาหมอเพราะกลัวพบความจริง การกระทำเช่นนี้คือ OE โดยแท้ กล่าวคือเอาหัวซุกทรายและแสร้งทำเสมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น แล้วมันก็จะหายไปเอง 
    (3) บางคนไปตรวจโรคแต่เมื่อสงสัยว่าผลจะออกมาไม่ดีก็ไม่ยอมไปรับทราบผลการตรวจซึ่งอาจทำให้นกกระจอกเทศมันอาละวาดจนสถานการณ์เลวร้ายขึ้นได้
    (4) การที่มนุษย์ไม่ชอบที่จะทำบัญชีรายจ่ายประจำเดือน หรือจดบันทึกรายจ่ายบางรายการสำคัญก็เพราะไม่อยากเห็นตัวเลขที่จะทำให้ไม่สบายใจ      จนทำให้ไม่รู้สถานการณ์การเงินที่แท้จริงของตนเอง 
    (5)  บางคนไม่ยอมเปิดซองแสดงยอดหนี้บัตรเครดิตเพราะเปิดแล้วอาจนอนไม่หลับ   ต้องทำใจอยู่หลายวันหรือจนถึงเวลาที่ต้องผ่อนใช้หนี้จึงจำใจต้องเปิดซองด้วยความใจสั่น  ซึ่งตรงข้ามกับความรู้สึกตอนรูดบัตร 

(6)  OE เกิดขึ้นกับผู้ที่ไม่อยู่ในสภาพที่สามารถชำระหนี้แต่ก็ไม่ติดต่อกับสถาบันการเงิน  ปล่อยให้หนี้เพิ่มพูนโดยกระทำตนราวกับว่าหากไม่รับรู้แล้วหนี้มันจะละลายหายไป
    (7)  OE ก็เกิดขึ้นในชีวิตครอบครัวได้เช่นกัน พ่อสงสัยอยู่เต็มอกว่าลูกติดยาแต่ก็ไม่จัดการหาความจริงและแก้ไขเพราะไม่ต้องการเผชิญกับความจริงซึ่งจะทำให้เกิดความทุกข์ใจ 

มนุษย์มีลักษณะคล้ายกันในการหลีกเลี่ยงข้อมูลข่าวสารที่อาจทำให้ตนเองไม่สบอารมณ์ หรือเผชิญความทุกข์ โดยแยกออกเป็น   (ก)  หลีกเลี่ยงทางกายภาพ คือไม่ดิ้นรนหาข้อมูลจากการพูดคุยกับบางคน   จากการอ่าน (ไม่อ่านหนังสือพิมพ์บางฉบับที่อาจให้ข้อมูลที่ไม่สบอารมณ์)  จากการดูหรือการฟัง    (ข)  ไม่ให้ความสนใจ อย่างจงใจแก่ข่าวสารที่เป็นส่วนตัวและสาธารณะที่ทำให้ตนขาดความสุข  (ค)  ตีความข้อมูลข่าวสารไปในลักษณะที่ไม่ก่อให้เกิดความไม่สบายใจอย่างไม่รู้ตัว  (ง)  การลืมข่าวสารที่ไม่สบอารมณ์ โดยกลไกทางจิตวิทยา    กล่าวคือมนุษย์มีทางโน้มที่จะจดจำแต่เหตุการณ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้นที่ทำให้ตนเองมีความสุข
    OE คือการโน้มเอียงที่ก่อให้เกิดโทษจากการไม่แสวงหาข้อมูลข่าวสาร  ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการลงทุน (ยามที่มีข่าวไม่พึงปรารถนาของตลาดคือช่วงเวลาสำคัญที่สุดที่ต้องการการตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลจากรอบด้าน) เรื่องการใช้เงิน สุขภาพ การใช้ชีวิต    ฯลฯ
    OE โดยแท้จริงแล้วคือผลพวงของความขัดแย้งระหว่างสมองของเราซึ่งใช้เหตุใช้ผลอย่างตระหนักว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรับรู้ กับอารมณ์ของเราที่คาดคะเนว่าจะเป็นเรื่องที่เจ็บปวดจึงต้องการหลีกเลี่ยง   หากไม่อยากเสียหายจาก OE สมองของเราต้องทำหน้าที่อย่างเหนืออารมณ์
    ในความเป็นจริง   นกกระจอกเทศมิได้เอาหัวซุกทรายดังที่เชื่อกันมา   เพราะคงตายแน่เพราะไม่มีอากาศหายใจ   ความจริงก็คือเวลาไข่มันจะขุดหลุมใหญ่และลงไปไข่  เมื่อเห็นมันก้มหัวลงไปในหลุมดินบ่อย ๆ เพื่อพลิกไข่ให้ได้รับความร้อนทั่วถึง  จึงเข้าใจไปว่ามันเอาหัวซุกทราย แต่ไม่ว่ามันจะซุกทรายหรือไม่ก็ตาม  มันก็เป็นเรื่องเปรียบเทียบที่ดีที่ใช้กันอยู่เสมอ
    มนุษย์ต้องเผชิญปัญหาอยู่ตลอดเวลาเพราะเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต    เพียงแต่มันจะเป็นปัญหาที่รุนแรงหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของตัวเราก่อนหน้า ถ้ามีดีกรี OE อยู่ในตัวมากเสมอก็จะทำให้มีความสามารถในการหยุดกั้นปัญหาที่จะเกิดตามมาได้น้อยลง
        ความกล้าที่จะเผชิญความไม่สบอารมณ์เท่านั้นที่จะปราบเจ้านกกระจอกเทศที่ชอบเอาหัวซุกทรายนี้ได้.