Open Government: เปิดใจ เปิดกันเอง เปิดให้รู้ เปิดให้ร่วม

Open Government: เปิดใจ เปิดกันเอง เปิดให้รู้ เปิดให้ร่วม

รัฐบาลเปิด (Open Government) เป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสนใจ และมีการประเมินระดับการเปิด หรือ Open Government Index (OGI)  เลยทีเดียว 

บทความโดยณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์, ประกาย ธีระวัฒนากุล

แล้วทำไมประเทศไทยต้องพยายามเป็นรัฐบาลเปิด? เพราะว่าในมุมมองของประชาชนตอนนี้รู้สึกว่ารัฐปิดมาก  ประชาชนรู้สึกว่าการทำงานของรัฐบาลเหมือนเป็นกล่องดำ ประชาชนไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ไม่รู้ว่าภาษีของประชาชนนำไปใช้ทำอะไร  เวลาต้องไปยื่นเอกสารติดต่อราชการก็ไม่รู้ว่าขั้นตอนต่างๆไปถึงไหนแล้ว

ทั้งที่ความจริงแล้วในยุคสมัยปัจจุบันนี้ รัฐบาลคือตัวแทนของประชาชน  ซึ่งเราควรรู้ว่าผู้แทนกำลังทำอะไรแทนเราอยู่   เรื่องนี้เองในทางเศรษฐศาสตร์มักจะกล่าวถึงปัญหาตัวการ-ตัวแทน (Principal-Agent Problem) ที่มักเกิดขึ้นในเวลาที่มีตัวแทนกระทำการแทนผู้มีอำนาจ

ทำอย่างไรตัวแทนจะทำงานได้ดี เป็นเสียงของประชาชน ตอบโจทย์ของประชาชน   การปรับทัศนคติ (mindset) ว่ารัฐคือตัวแทนของประชาชน รัฐทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน รวมถึงในบางเรื่องรัฐต้องปรับบทบาทจากผู้กำกับดูแล (regulator) เป็นผู้อำนวยความสะดวก (facilitator)    เพราะสุดท้ายแล้วนี่คือหัวใจที่จะนำไปสู่ความเชื่อมั่นและไว้วางใจ (Trust) ระหว่างประชาชนและรัฐบาล 

อย่างไรก็ตาม การเป็น Open Government ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย   และ Open Government ก็ไม่ใช่แค่การเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในงานของภาครัฐเท่านั้นด้วย  หากแต่การจะเป็น Open Government ได้ต้องเปิดมากกว่านั้น 

แล้วต้องเปิดอะไรบ้าง….

  1. เปิดใจ รัฐต้องปรับ mindset ให้มาเป็นผู้แทนของประชาชนอย่างแท้จริง ทำทุกอย่างโดยอาศัยความต้องการของประชาชนเป็นที่ตั้ง
  2. เปิดกันเอง หน่วยงานรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันเองก่อน แชร์ข้อมูลกัน เชื่อมโยงกัน เรื่องนี้สำคัญมากเพราะจะช่วยลดความรู้สึกทุกข์ร้อนและความลำบากของประชาชนเวลาติดต่อกับราชการที่ต้องเกิดภาระ เสียค่าใช้จ่าย เสียเวลาในการทำธุรกรรมต่างๆ ทั้งๆที่หน่วยงานรัฐก็มีข้อมูลกันอยู่แล้ว 
  3. เปิดให้รู้ เปิดเผยให้ประชาชนรู้ว่ารัฐกำลังทำอะไรกันอยู่ โดยเปิดข้อมูล  รวมไปถึงเปิดกระบวนการดำเนินการของรัฐ ลดขั้นตอนการทำงาน ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวก ได้ยิ่งดี 
  4. เปิดให้ร่วม เปิดให้ประชาชนและทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นการเปิดที่เป็นสิ่งสำคัญที่สุด   เปิดโอกาสให้ภาคประชาชน เอกชนเข้ามาให้ข้อมูล สนับสนุน หรือร่วมพัฒนาร่วมดำเนินการบางกิจกรรมที่รัฐไม่มีความเชี่ยวชาญ ร่วมเสนอแนะ  การเปิดให้ร่วมแบบนี้จะทำให้รัฐออกแบบนโยบายได้ดีขึ้นอีกด้วย

หากเราพูดถึงเรื่องวิถีทางในการก้าวสู่การเป็น Open Government  มีสองเรื่องที่สำคัญ คือ

  • ในยุคสมัยนี้มีเทคโนโลยีดิจิทัลเอื้ออำนวยมาก อย่างไรก็ดี เราต้องตระหนักว่า เทคโนโลยีนั้นเป็นเพียงเครื่องมือ และก่อนที่เราจะแปลงเอากระบวนการหรือบริการภาครัฐต่างๆ ไปทำแบบออนไลน์นั้น เราต้องยกเครื่องเสียก่อน ไม่ใช่เอากระบวนการทั้งหมดที่มีอยู่เดิมนั้น  กระบวนการรัฐต้องปรับใหม่ ต้องทำให้ลีน (Lean)  ต้อง Re-Engineering เสียก่อน  ไม่เช่นนั้นถ้าใช้ดิจิทัลเลยโดยไม่ปรับลดขั้นตอนลง  ก็ยังอุ้ยอ้ายเหมือนเดิม
  • อีกเรื่องที่สำคัญ คือเรื่องการสื่อสาร การสื่อสารให้รู้ว่าประชาชนมีสิทธิ์ และรัฐกำลังทำเพื่อประชาชนอยู่ เป็นสิ่งสำคัญของการทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างรัฐกับประชาชน

ประเทศจะเป็นประเทศได้ ก็เพราะประชาชน   ข้อมูลของประเทศ ข้อมูลของรัฐ ก็คือข้อมูลประชาชน   ประชาชนจึงย่อมรู้สึกว่าข้อมูลของรัฐก็คือข้อมูลของประชาชน ดังนั้นการเข้าถึงข้อมูล จึงควรเป็นสิทธิ์ของประชาชนที่ประชาชนพึงกระทำได้

นอกจากนี้  ถ้ามีข้อมูลก็จะไม่เกิดดราม่า ดังคำพูดที่ว่า Data, not Drama  ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญมากเพราะส่งผลต่อการตัดสินใจ การไม่มีข้อมูลทำให้เกิดผลต่อเนื่องตามมาหลายอย่าง รวมถึงการเกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกันของภาคส่วนต่างๆ ความรู้สึกแบ่งแยกตีความที่ต่างกันจากความคลุมเครือไม่ชัดเจนของข้อมูล หรือข้อมูลเท็จ ข่าวปลอม  ยิ่งถ้ามีการเปิดข้อมูล ประชาชนจะยิ่งช่วยทำให้ข้อมูลนั้นดีขึ้นด้วย  ดังตัวอย่างที่เราเห็นประชาชนที่เก่ง เอกชน จิตอาสามาช่วย พัฒนาข้อมูลรัฐให้ดีขึ้น

Open Government นั้นจึงไม่ใช่แค่สิ่งที่รัฐทำเพื่อรัฐเอง   หากแต่จุดหมายปลายทางของ Open Government นั้นต้องทำเพื่อประชาชน   ผลพลอยได้ของการเป็น Open Government ยังจะทำให้รัฐพัฒนาต่อไปเป็นภาครัฐที่มีขนาดเล็กลงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้เมื่อเป็นรัฐบาลเปิดแล้ว ก็จะเปิดโอกาสให้เกิดการทำงานร่วมกัน  ทุกคนทำในสิ่งที่ถนัด มีความรับผิดชอบ นั่นจะทำให้เกิดความโปร่งใส ซื่อสัตย์สุจริต  ความรับผิดชอบ และการมีส่วนร่วม     

สิ่งนี้เองจะทำให้เกิดการขยายตัวจาก Open Government จนกลายเป็น Open Country  ซึ่งคือเป้าหมายสูงสุด กล่าวคือประเทศไทยของเราเป็นประเทศที่มีคนไทยทุกภาคส่วนมีการเปิดใจให้กัน  เปิดเผยข้อมูลแชร์ข้อมูลกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ  รวมถึงเปิดให้รู้เรื่องราวต่างๆระหว่างกัน  เปิดให้มีส่วนร่วมในกันและกัน  ร่วมคิดและร่วมทำเพื่อประเทศไทยด้วยกัน

ในเส้นทางที่ยาวไกลนั้น  คนที่จะร่วมเดินไปด้วยกัน ต้องเชื่อมั่นในกันและกัน รัฐ กับประชาชนที่จะเดินหน้าไปด้วยกัน ก็ต้องมีความเชื่อมั่นไว้เนื้อเชื่อใจกันเช่นกัน

การเป็นรัฐบาลเปิด หรือ Open Government  จึงไม่ใช่เพียงแค่คำพูดที่บอกว่า “เปิด”  ต้องลงมือทำ ลงมือเริ่มเปิดจริงๆ  เปิดใจ เปิดกันเอง เปิดให้รู้ เปิดให้ร่วม   เพราะสุดท้ายแล้วการกระทำสำคัญกว่าคำพูด.