ทำความรู้จัก 'วีซ่ามนุษยธรรม' ผ่านการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก

ทำความรู้จัก 'วีซ่ามนุษยธรรม' ผ่านการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก

โอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 32 ณ กรุงโตเกียว สร้างสีสัน ความประทับใจและความสุขให้แก่ผู้ชมทั่วโลกรวมถึงตัวนักกีฬา ที่เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้

บทความโดย พงค์ศักดิ์ เจ๊ะพงค์

ความประทับใจและความสุขดังกล่าว คงจะไม่รวมถึงนักวิ่งสาวทีมชาติเบลารุสที่มีชื่อว่า คริสตินา ซิมานูสกายา ผู้ซึ่งตกเป็นเป้าของสื่อรัฐบาลเบลารุส

หลังจากเธอได้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่กรีฑาเบลารุสผ่านทางโซเชี่ยลมีเดียว่า เธอถูกส่งให้เข้าร่วมการแข่งขันวิ่งผลัด 4×400 เมตร โดยไม่ได้แจ้งให้ทราบก่อน และเธอก็ไม่เคยลงแข่งในรายการนี้ ผลจากการวิจารณ์นั้นทำให้โค้ชทีมชาติเบลารุสตัดสิทธิคริสติน่าในการแข่งขันโอลิมปิกและสั่งให้เธอกลับเบลารุสทันทีโดยที่เธอไม่เต็มใจ

เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองของเบลารุสในปัจจุบัน เธออาจจะต้องเผชิญกับการลงโทษ หากเธอเดินทางกลับบ้าน ทำให้คริสติน่าทราบดีว่าเบลารุสไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับเธออีกแล้ว เธอจึงได้ขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจญี่ปุ่นที่สนามบินและคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) 

ซึ่งทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากล และสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) มีความพยายามที่จะช่วยแก้ไขสถานการณ์ของคริสติน่า และในที่สุดเธอก็ได้รับ “วีซ่ามนุษยธรรม (Humanitarian Visa)” จากประเทศโปแลนด์เพื่อให้สามารถเดินทางไปยังประเทศโปแลนด์และได้รับความคุ้มครองระหว่างประเทศ

ก่อนที่จะไปทำความรู้จักกับ “วีซ่ามนุษยธรรม” เรามาทราบกันก่อนว่าการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมนั้นมีสาระสำคัญอย่างไรบ้าง กล่าวได้ว่า ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม คือการช่วยชีวิต บรรเทาทุกข์ และคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แก่ปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มบุคคล และการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และมักจะเป็นการช่วยแก้ไขและบรรเทาสถานการณ์ฉุกเฉินในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ โดยมุ่งคุ้มครองชีวิต ร่างกาย และอนามัย รวมทั้งการเคารพในความเป็นมนุษย์

การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นวัตถุประสงค์สำคัญประการหนึ่งของความร่วมมือระหว่างประเทศตามที่ระบุไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ (UN Charter) โดยมีหน่วยงานของสหประชาชาติดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยตรง เช่น หน่วยงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) โครงการอาหารโลก (WFP) และองค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นต้น

ข้อมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้กำหนดหลักการของมนุษยธรรมไว้ว่า ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต้องอยู่ภายใต้หลักความเป็นมนุษย์ ความเป็นกลาง ความปราศจากอคติ และความเป็นอิสระ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติเพื่อมนุษยธรรมแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ว่าจากภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือจากภัยพิบัติซับซ้อนที่อาจมีผลมาจากภาวะสงครามหรือความขัดแย้งภายในประเทศ

อีกทั้งคณะกรรมาธิการยุโรปได้ตระหนักถึงการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกัน บรรเทา และตอบสนองต่อความเสี่ยงและผลกระทบอันเกิดจากการใช้ความรุนแรง การบีบบังคับ และการละเมิดสิทธิของปัจเจกบุคคล กลุ่มบุคคลและชุมชนภายใต้วิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรม           

 ในปัจจุบันหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ฝรั่งเศส โปแลนด์ สเปน สหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ และออสเตรเลีย เป็นต้น ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยการออกวีซ่าให้กับผู้แสวงหาที่ลี้ภัย (Asylum Seeker) ไม่ว่าจะเป็นการลี้ภัยทางการเมืองหรือการลี้ภัยจากภาวะสงครามในประเทศของตน เพื่อความปลอดภัยและการคุ้มครองระหว่างประเทศของผู้แสวงหาที่ลี้ภัย 

วีซ่ามนุษยธรรมเป็นวีซ่าชั่วคราวที่อนุญาตให้ผู้ถือวีซ่าเดินทางไปยังประเทศผู้ออกวีซ่า (Issuing State)  และผู้ร้องขอวีซ่าไม่จำเป็นจะต้องมีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์ของการขอวีซ่าทั่ว ๆ ไป เพราะประเทศผู้ออกวีซ่าจะพิจารณาโดยคำนึงถึงเหตุผลด้านมนุษยธรรมเป็นหลัก และต้องพิจารณาคำร้องขอวีซ่าอย่างรวดเร็วเพื่อที่จะสามารถช่วยเหลือผู้ร้องขอได้ทันทีท่วงที

 ประเทศผู้ออกวีซ่ามักจะกำหนดหลักเกณฑ์ว่า บุคคลผู้แสวงหาที่ลี้ภัยต้องอยู่นอกประเทศผู้ออกวีซ่าและไม่สามารถกลับประเทศของตนได้เพราะมีความกลัวว่าตนจะถูกดำเนินคดีหรือโดนกดขี่ข่มเหงโดยมีสาเหตุมาจากเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง หรือเพราะการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มที่มีการเคลื่อนไหวทางสังคม

ดังนั้นวีซ่ามนุษยธรรมถือเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพื่อตอบสนองต่อความต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของผู้เผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก นอกจากนี้วีซ่ามนุษยธรรมยังเป็นการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน (Freedom of Movement) อันเป็นการปฏิบัติที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลอีกด้วย

ผู้เขียนมีความเห็นว่า หากประเทศโปแลนด์ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือในการออกวีซ่ามนุษยธรรมให้แก่คริสติน่า เธอต้องถูกส่งกลับประเทศบ้านเกิดและอาจถูกรัฐบาลเบลารุสลงโทษก็อาจจะเป็นได้ คริสติน่าจึงสมควรที่จะได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและสามารถร้องขอวีซ่ามนุษยธรรมได้.