เมื่อ EIA ไม่ได้รับความไว้วางใจ ก็ต้องใช้ SEA แทน (ตอนที่ ๕)

เมื่อ EIA ไม่ได้รับความไว้วางใจ ก็ต้องใช้ SEA แทน (ตอนที่ ๕)

บทความ SEA ตอนนี้จะเกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐโดยตรง โดยเราจะอธิบายให้เห็นว่า SEA นี้ควรเป็นงานของภาครัฐทำเอง หรือควรใช้บริการจากคนนอก

บทความโดย... 

ศ.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขวัญชนก ศักดิ์โฆษิต สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร

หน่วยงานใดของรัฐที่ควรต้องทำ SEA

        อย่างที่กล่าวมาตั้งแต่ ๔ ตอนที่แล้ว (ผู้สนใจอาจค้นหารายละเอียดได้ในชื่อบทความเดียวกันนี้) ว่าการทำ SEA มีทั้งในระดับ P1(Policy), P2(Plan), P3(Programme) ของพื้นที่ (ซึ่งรวมตั้งแต่ระดับประเทศ ไปจนถึงภาค เขต และท้องถิ่น) และในรายสาขาของการพัฒนา (เช่น พลังงาน การท่องเที่ยว การเหมืองแร่ การคมนาคมขนส่ง ฯลฯ) การที่จะบ่งบอกว่าใครควรต้องทำอะไรในระดับใด จึงต้องพิจารณาจากบริบทข้างล่างนี้

        ถ้าเป็นนโยบาย (P1) และแผน (P2) หรือแม้กระทั่งแผนงาน (P3) ในภาพรวมของประเทศหรือของภาค ก็ต้องเป็นงานของหน่วยงานในระดับประเทศ ซึ่งหนีไม่พ้นที่จะเป็นสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่ถ้าเป็นรายสาขาของการพัฒนา SEA นั้นก็ควรต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสาขานั้นโดยตรง เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานดูเรื่องพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดูเรื่องการเกษตร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดูเรื่องการนำแร่มาใช้ประโยชน์ ดังนี้ เป็นต้น

        ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า คนที่ทำ SEA เชิงพื้นที่ต้องเอาประเด็น SEA ของรายสาขามาพิจารณาร่วมด้วย และคนที่ทำ SEA รายสาขาอาจต้องทำ P1, P2, P3 ลงในระดับพื้นที่ด้วยเช่นกัน

หน่วยงานของรัฐควรทำ SEA เอง หรือจ้างคนนอกทำให้

        ก่อนอื่น  คงต้องทวนความจำกลับไปยังยุคที่บริษัทที่ปรึกษาในประเทศยังไม่มีหรือมีไม่มากนัก รัฐจึงจำเป็นอยู่เองที่ต้องทำการศึกษาและกำหนดนโยบายหรือแผนขององค์กรและ/หรือของประเทศด้วยตัวเอง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นตัวอย่างที่ดีที่ได้พัฒนาองค์กรจนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายและแผนการพัฒนาประเทศมาอย่างยาวนาน และความเชี่ยวชาญนั้นก็ทำให้สภาพัฒน์ฯ สามารถยืนอยู่บนขาของตัวเองได้อย่างดีเยี่ยมมากระทั่งถึงวันนี้ วันที่มีบริษัทที่ปรึกษาเกิดขึ้นมากมายมาพร้อมให้บริการ

        และก็เช่นเดียวกัน ในยุคเดิมนั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตจะดำเนินโครงการการสร้างเขื่อนเอง กรมทางหลวงคุมงานก่อสร้างถนนหลวงเอง กรมโยธาธิการออกแบบและคุมงานก่อสร้างอาคารเอง หรือแม้กระทั่งทำระบบบำบัดน้ำเสียของเมืองเอง ก่อสร้างหลุมขยะอย่างถูกหลักวิชาการเอง ฯลฯ นั่นคือ ความเป็นผู้เชี่ยวชาญของงานนั้นจะอยู่ในองค์กร และทำได้เองในแทบทุกขั้นตอนโดยไม่ต้องพึ่งคนนอกแต่อย่างใด

 

        มาถึงยุคปัจจุบัน การใช้บริการของบริษัทที่ปรึกษามาช่วยงานองค์กรของรัฐมีมากขึ้น จนกลายเป็นแนวปฏิบัติปกติของหน่วยราชการบางแห่ง แต่เราอยากชวนให้ลองวิเคราะห์ว่าการทำ SEA ซึ่งเป็นการกำหนดทิศทางและอนาคตของประเทศซึ่งสำคัญมากนั้น ควรจะอยู่ในมือของใคร ของหน่วยงานผู้รับผิดชอบ หรือขององค์กรภายนอก

        เรามีความคิดเห็นส่วนตนว่า งาน SEA ควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งก็แน่นอนละที่จะมีหน่วยงานรัฐบางแห่งที่ลังเลจะรับภาระนั้นไปด้วยเหตุที่ว่าขาดทั้งกำลังคนและงบประมาณ ในขณะที่บริษัทที่ปรึกษาเองก็ยังมะงุมมะงาหราในเรื่อง SEA อยู่นี้นั้น องค์กรของรัฐอาจจ้างบริษัทที่ปรึกษาและ/หรือผู้เชี่ยวชาญ/ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นรายบุคคลใน ๓ สาขา (สิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐศาสตร์) มาทำงานให้กับองค์กร แบบเดียวกับที่เคยจ้างที่ปรึกษาชาวต่างชาติ โดยอาจเป็นโครงการระยะสั้นๆ ทำงานเฉพาะเรื่อง มีเวลากำหนดและขอบเขตงานชัดเจน เช่น จัดหา รวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นให้ แล้วองค์กรรัฐก็นำข้อสรุปที่มาจากต่างสาขาเหล่านั้นมาบูรณาการและวิเคราะห์ในภาพรวมเป็น P1, P2 และ P3 ต่อไปด้วยตนเอง

           ด้วยวิธีนี้องค์กรของรัฐก็สามารถเดินหน้าฝึกปรือด้านการทำ SEA ไปโดยไม่มีปัญหากำลังคน  และแถมด้วยงบประมาณที่น้อยลง รวมทั้งคล่องตัวในการดำเนินงานมากขึ้น ทั้งนี้เรามีข้อคิดเกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียของการที่รัฐจะทำ SEA เอง ด้วยวิธีจ้างบริษัทที่ปรึกษาและ/หรือผู้เชี่ยวชาญรายบุคคลมาทำงานสนับสนุนองค์กรแบบเฉพาะกิจนี้ ดังแสดงในตารางที่ ๑ โดยมีข้อสังเกตเพิ่มเติมด้วยว่า องค์กรชั้นนำจะไม่ outsource หรือ contract out งานที่เป็นงานหลักขององค์กรโดยเด็ดขาด เพราะหากเอางานที่เป็นงานหลักขององค์กรไปใส่ในมือผู้อื่นจะกลายเป็นยืมจมูกคนอื่นหายใจ ซึ่งไม่น่าทำ ไม่พึงทำ

ตารางที่ ๑ สรุปข้อดี-ข้อเสียสำหรับองค์กรของรัฐ ในการทำ SEA แบบจ้างบริษัทที่ปรึกษาและ/หรือผู้เชี่ยวชาญรายบุคคลมาประจำแบบเฉพาะกิจในองค์กร แทนการจ้างบริษัทที่ปรึกษาเป็นผู้ทำ SEA ให้องค์กร

162780311766

บทส่งท้าย

        ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม แต่การลุกขึ้นมาทักท้วง ประท้วง ขัดขืน โต้แย้งโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ต่างๆ ของกลุ่มคนบางกลุ่มทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ แม้กระทั่งข้ามประเทศ จะเป็นชีวิตวิถีใหม่หรือ New Normal อย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในโลกปัจจุบัน และตอนนี้มีเครื่องมืออยู่เครื่องมือเดียวที่โลกเชื่อกันว่าจะสามารถลดทอนปัญหานี้ได้ นั่นคือเครื่องมือ SEA นี้ หากรัฐหรือคณะรัฐมนตรีและ/หรือนักการเมืองยังมองไม่เห็นปัญหาและทางออกชุดนี้ อนาคตของประเทศ(ในความคิดเห็นของเรา)ก็อาจจะมืดมนลงไปกว่าที่ควรจะเป็น

        แต่เราก็เชื่อว่าประเทศไทยไม่สิ้นคนดีมีปัญญา คนมีวิสัยทัศน์ คนที่มองการณ์ไกลออก และเขาเหล่านั้นจะมาช่วยนำพาประเทศเราให้ไปรอดด้วยเครื่องมือ SEA นี้

        ขออย่างเดียว อย่าทำมันล้มคว่ำขะมำหงายจน SEA กลายเป็นเครื่องมือที่ไม่ได้รับการยอมรับแบบที่ EIA กำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ก็แล้วกัน เพราะหากเป็นเช่นนั้นเราจะไม่มีเครื่องมืออื่นอีกแล้วที่จะมาช่วยในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ให้เกิดขึ้นได้จริง.

(หมายเหตุ : บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานแต่อย่างใด)