กฎหมาย กฎระเบียบที่ผู้ค้าออนไลน์ต้องปฏิบัติ

กฎหมาย กฎระเบียบที่ผู้ค้าออนไลน์ต้องปฏิบัติ

กฎหมายและกฎระเบียบที่ผู้ค้าออนไลน์ จะต้องปฏิบัติตาม มีอยู่มากหลายฉบับ แต่มีจำนวนไม่น้อย ไม่เข้าใจและละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

         ช่วงที่โควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก และก็ระบาดในประเทศไทยมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 มีการกำหนดมาตรการเพื่อควบคุมการระบาด ประชาชนอาจออกนอกบ้านไม่ได้ หรือไม่สะดวก รวมทั้งมีประชาชนส่วนหนึ่งไม่อยากออกนอกบ้าน การซื้อสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น รวมทั้งอาหาร ก็ใช้วิธีสั่งซื้อและจ่ายเงินทางออนไลน์ ประกอบกับมีผู้ว่างงานส่วนหนึ่งหันมาประกอบการค้าออนไลน์ทำให้การค้าออนไลน์ขยายเติบโตขึ้นมาก แต่ก็มีผู้ค้าออนไลน์หรือที่เรียกว่า พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรืออีคอมเมิร์ซ จำนวนไม่น้อย ไม่เข้าใจและละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็ไม่เป็นผลดีแก่ตัวผู้ค้าเอง และผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าทางออนไลน์

            กฎหมายและกฎระเบียบที่ผู้ค้าออนไลน์ จะต้องปฏิบัติตาม มีอยู่มากหลายฉบับ แต่ที่สำคัญๆ ที่เป็นหลักที่จะต้องปฏิบัติตามอย่างไม่ควรหลีกเลี่ยงคือ

                       1 การจดทะเบียนพาณิชย์ ตามพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 

               เหตุผลที่กำหนดให้ผู้ค้าสินค้าออนไลน์หรือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรืออีคอมเมิร์ซ ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ ก็เพื่อให้มีหลักฐานแสดงว่าผู้ขายมีตัวตนอยู่จริง เป็นใครอยู่ที่ไหน เพราะการขายสินค้าออนไลน์ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน ผู้ซื้อผู้ขายไม่ได้พบกัน ผู้ซื้อไม่รู้ว่าผู้ขายเป็นใครอยู่ที่ไหน หากมีปัญหาก็จะได้มีหนทางติดต่อสื่อสารกันได้

             ประกาศที่กำหนดให้ผู้ค้าออนไลน์ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ตามพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ที่ใช้ในปัจจุบัน คือ ประกาศ กระทรวงพาณิชย์ เรื่องให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจ ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ (ฉบับที่11) พ.ศ.2553 ลงวันที่10พฤศจิกายน2553 ตามข้อ5(3) ที่กำหนดให้ผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาห้างหุ้นส่วนสามัญ ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด ที่ประกอบกิจการซื้อขายสินค้าหรือบริการ โดยวิธีใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (หรือที่เรียกกันว่าซื้อขายทางออนไลน์)ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ โดยให้ยื่นจดทะเบียนพาณิชย์ ณ สำนักงานทะเบียนพาณิชย์กรุงเทพมหานคร (สำนักงานเขตต่างฯ) เมืองพัทยา เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบลที่สำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในท้องที่ หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดเฉพาะในท้องที่นอกและองค์การบริหารส่วนตำบลเขตเทศบาล

               ประโยชน์ที่ผู้ค้าออนไลน์ได้จากการจดทะเบียนพาณิชย์         

                   ผู้ค้าออนไลน์ ที่จดทะเบียนพาณิชย์แล้ว สามารถขอเครื่องหมายรับรอง เพื่อแสดงการมีตัวตน จากกรมพัฒนาธุรกิจไปแสดงที่หน้าเว็บไซต์หรือหน้าเพจ ที่ใช้ในการประกอบกิจการได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าได้ระดับหนึ่ง และ สามารถขอเครื่องหมาย Trustmark จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเมื่อดำเนินธุรกิจเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าได้เพิ่มขึ้น

               โทษของผู้ฝ่าฝืนไม่จดทะเบียนพาณิชย์

             ผู้ฝ่าฝืนไม่จดทะเบียนพาณิชย์มีโทษปรับไม่เกินสองพันบาทและปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งร้อยบาทจนกว่าจะจดทะเบียนพาณิชย์ แม้โทษปรับจะไม่สูงแต่ผู้ไม่จดทะเบียนพาณิชย์จะเสียประโยชน์ไม่สามารถขอและใช้เครื่องหมายแสดงตัวตน และ Trustmark ได้

                 2 ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่70พ.ศ.2563 เรื่องการแสดงราคารายละเอียดเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าและบริการผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือออนไลน์ ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2545

              ประกาศฉบับ นี้มีเจตนารมณ์ เพื่อคุ้มครองผู้ซ้อสินค้าหรือบริการไม่ให้ถูกเอาเปรียบ จากผู้ค้าออนไลน์ ที่ให้ข้อมูลไม่ครบ สาระสำคัญที่ผู้ค้าออนไลน์ต้องปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้คือ ผู้ค้าออนไลน์ต้องแสดงราคาจำหน่าย ค่าบริการ ประเภทชนิด น้ำหนักรายละเอียดของสินค้าหรือบริกา ที่ชัดเจนเปิดเผย สามารถอ่านได้ง่าย  ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

                3  กฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา ที่สำคัญคือพระราชเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2535  ที่ผู้ขายสินค้าทางออนไลน์ จะต้องไม่ขายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายรับรอง เครื่องหมายร่วมปลอม หรือที่เลียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่น หากฝ่าฝืน จะต้องระวางโทษดังเช่นผู้กระทำความผิดปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายรับรอง เครื่องหมายร่วม ถ้าเป็นการปลอมโทษจำคุกไม่เกินสี่ปี ปรับไม่เกินสี่แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ หากเป็นการเลียน โทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

            กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่สำคัญอีกฉบับหนึ่ง คือพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537  ผู้ขายสินค้าทางออนไลน์ต้องไม่ขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ คือบรรดาหนังสือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือ แอพพลิเคชั่น ต่างฯ เทปซีดีหนังและเพลง ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น  ผู้ขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์มีโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท ถ้าเป็นการขายเพื่อการค้า มีโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงสองปี ปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสี่แสนบาท

         การขายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม หรือเลียนเครื่องหมายการค้า หรือละเมิดลิขสิทธิ์ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือขายของปลอม ก็ยังมีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา  ลักษณะ8 ความผิดเกี่ยวกับการค้าด้วยอีกกระทงหนึ่ง   และหากไม่ผิดฐานละเมิดเครื่องหมายการค้าหรือละมิดลิขสิทธิ์ ก็อาจเข้าข่ายกระทำความผิดตามมาตรา281 ที่บัญญัติว่า ผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใดฯให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือปริมาณแห่งสินค้านั้น ถ้าหากการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

           ภาษี   เมื่อประกอบกิจการมีรายได้ ก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษี  สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลน่าจะมีประสบการณ์ในเรืองภาษีอยู่แล้ว  แต่กรณีเป็นบุคคลธรรมดา ควรต้องศึกษาเรื่องกฎเกณฑ์ในการชำระภาษีการค้าทางออนไลน์ที่มีเผยแพร่อยู่ มากด้วย และพร้อมที่จะเสียภาษี ตามหน้าที่พลเมืองดี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตนเองในระยะยาว  เพราะตัดปัญหาตั้งแต่ต้นหากมีภาระภาษี จะทำให้ไม่ต้องถูกปรับและมีภาระภาษีสะสมเพิ่มขึ้นในอนาคต จนเกินความสามารถที่จะชำระภาษี และอาจเป็นเหตุให้ถูกฟ้องให้ล้มละลายได้.