แผนเปิดประเทศ ‘ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์’

แผนเปิดประเทศ  ‘ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์’

“ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” ถือเป็นโมเดลนำร่องสู่การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง ซึ่งล่าสุดรัฐบาลก็ได้อนุมัติโครงการนี้แล้ว

ถือเป็นความพยายามในการปรับสมดุลระหว่างความปลอดภัยในด้านสาธารณสุขกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจของไทย หลังจากที่เราได้ปิดประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มานานจนกระทั่งเศรษฐกิจตกต่ำอย่างมากโดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

มาตรการเตรียมตัวและป้องกันการแพร่ระบาดของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางสู่ไทยผ่านโครงการทดลองเปิดประเทศโดยนำร่องที่ภูเก็ตในวันที่ 1 ก.ค. และต่อมาในพื้นที่ของเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่าในวันที่ 15 ก.ค.นั้น ถือได้ว่ารัดกุมในระดับหนึ่ง

เกณฑ์การรับนักท่องเที่ยว อาทิ จะต้องไม่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงและอยู่ในประเทศที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงก่อนเดินทางเข้าไทยอย่างน้อย 21 วัน จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสและมีผลยืนยัน จะต้องมีการตรวจโควิด-19 ก่อนและระหว่างอยู่ในไทย จะต้องใช้แอพพลิเคชั่น “หมอชนะ” เพื่อติดตามตัว การบังคบทำประกันโควิด-19 การเข้าพักที่จำกัดให้พักในโรงแรมที่ได้รับมาตรฐานและมีสุขอนามัยที่ดี (SHA+) จะต้องเดินทางสู่เกาะเหล่านี้โดยตรงไม่แวะเปลี่ยนเครื่องที่อื่นในไทย

เกณฑ์ที่ค่อนข้างรัดกุมเหล่านี้ไม่ได้เพียงถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคแต่เพียงเท่านั้น แต่ยังช่วยให้คนท้องถิ่นผ่อนคลายสบายใจ เช่นเดียวกับกฎการห้ามห้ามเดินทางออกนอกภูเก็ตก่อน 14 วัน หรือกฎเรื่องของการท่องเที่ยวตามแหล่งหรือเส้นทางที่กำหนดเท่านั้นในส่วนของเกาะสมุย พะงันและเกาะเต่า ซึ่งก็ถูกออกแบบมาเพื่อกักกันเส้นทางการแพร่กระจายของโรค

รายละเอียดในข้อกำหนดต่าง ๆ ถือว่าค่อนข้างรัดกุม อาทิ การแสดงผลตรวจโควิด-19 ในวันแรก วันที่ 6 และวันที่ 12 ก่อนจะออกจากเกาะตามพื้นที่ ๆ กำหนดให้ถือว่ารัดกุมพอควร การจำกัดสถานที่เข้าออกเกาะให้เหลือเพียงทางท่าอากาศยานในกรณีนักท่องเที่ยวต่างชาติ

กฎเกณฑ์ที่รัดกุมเหล่านี้จะมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลได้ จำต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ปฎิบัติ เจ้าหน้าที่ และที่สำคัญที่สุดคือคนในท้องถิ่น

เพราะปากท้องก็สำคัญดังนั้นไทยจึงจำต้องเปิดประเทศท่ามกลางความเสี่ยงต่อความปลอดภัย ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ประเทศไทยนั้นพึ่งพิงรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างมากถึงปีละ 3 ล้านล้านบาท จากนักท่องเที่ยวกว่า 40 ล้านคนต่อปี ซึ่งการเปิดเกาะครั้งนี้คาดว่ารายได้จะสะพัดกว่า 15,000 ล้านบาท จากนักท่องเที่ยว 6 แสนคนซึ่งรวมถึงนักท่องเที่ยวคนไทยด้วย

การเลือกเกาะภูเก็ต เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า เป็นโครงการนำร่องก็ดูเป็นทางเลือกที่เสี่ยงน้อยที่สุด เพราะพลเมืองในเกาะเหล่านี้ได้ฉีดวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งเข็มมากกว่า 70% แต่การเข้าถึงภาวะภูมิคุ้มกันหมู่นั้น พลเมืองในชุมชนนั้น ๆ จำต้องได้รับวัคซีนให้ครบโดส ดังนั้นช่องโหว่ตรงนี้จึงสมควรให้ความสำคัญเช่นกัน

หากโครงการนำร่องที่ภูเก็ต เกาะสมุย เกาะพะงันและเกาะเต่านั้น สำเร็จทั้งในแง่ของรายได้ เกิดเป็นเม็ดเงินเข้ามาหมุนขับเคลื่อนธุรกิจในพื้นที่ ขณะเดียวกับมาตรการการป้องกันการระบาดของโรคก็ถูกนำมาปฎิบัติอย่างรัดกุมภายใต้การเฝ้าระวังของชุมชน หรือหากเกิดข้อผิดพลาด เราก็สามารถรีบปรับแก้และเรียนรู้จากความเสียหายที่สามารถควบคุมได้ในเกาะเหล่านี้

โครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ จึงเป็นโครงการทดลองปรับสมดุลระหว่างปากท้องกับความปลอดภัยที่น่าจับตาและเอาใจช่วยอย่างยิ่ง