เงินดิจิทัล: ความลับ และความกลัว

เงินดิจิทัล: ความลับ และความกลัว

พร้อมๆ ไปกับการประกาศเอาจริงกับ Cryptocurrencies ในหลายๆ ประเทศ

ตั้งแต่ใช้ยาแรงโดยกำหนดให้เป็นธุรกรรมผิดกฎหมาย ห้ามผลิต ห้ามรับ ห้ามใช้ ไปจนถึงวิ่งไล่เก็บภาษีอย่างจริงจัง

ธนาคารกลางของประเทศต่างๆก็เริ่มเปิดเผยว่าตนเองกำลังเตรียมที่จะออกเงินดิจิทัลอยู่เหมือนกัน หลังจากปล่อยให้จีนนำหน้าไปก่อนหลายช่วงตัว โดยจีนได้เริ่มต้นการทดลองใช้ดิจิทัลหยวนไปตั้งแต่ปีที่แล้ว และมีแผนการใช้จริงในปีหน้า

ณ ขณะนี้นอกเหนือจากจีนแล้ว มีประเทศที่เปิดตัวว่ากำลังคร่ำเคร่งกับการสร้างเงินดิจิทัลของธนาคารกลางอยู่ด้วยกันหลายประเทศ เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร แคนาดา สวีเดน ญี่ปุ่น รัสเซีย เป็นต้น

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางนั้น ธนาคารกลางต่างๆได้ร่วมมือกันกับหัวกะทิด้านเทคโนโลยีของประเทศตน เพื่อให้เงินดิจิทัลนี้มีคุณสมบัติที่จะทดแทนเงินที่เราจ่ายค่ารถเมล์ น้ำเต้าหู้หน้าปากซอยได้มากที่สุด นั่นคือ ต้องไม่มีค่าธรรมเนียมการใช้ (ไม่ว่าจะเก็บจากคนซื้อของ หรือคนขายของ) และสามารถใช้ได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงการต่ออินเตอร์เน็ต ซึ่งดูเหมือนว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องไม่ยากสำหรับตัวกลั่นด้านเทคโนโลยีในหลายๆประเทศที่เอ่ยนามมาข้างต้น

แต่เรื่องที่กลับทำให้ปวดหัวมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับธนาคารกลางในประเทศประชาธิปไตยตะวันตก ที่ประชาชนจำนวนมากไม่ยอมแม้กระทั่งใส่หน้ากากมาก่อนหน้านี้ คือ การรักษาความเป็นส่วนตัว หรือความลับ ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยจากรายงานของหน่วยงานด้านการเงินของเขตยูโรโซน (Eurosystem) ในการปรึกษาหารือสาธารณะ (Public Consultation) เรื่องเงินดิจิทัลยูโร (เผยแพร่ เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2021) พบว่าปัจจัยที่ทำให้คนยุโรปให้ความสำคัญท่วมท้นมากที่สุดในการใช้เงินดิจิทัล ไม่ใช่ความปลอดภัยในการใช้จ่าย ค่าธรรมเนียม หรือการจับจ่าย โอนเงินระหว่างกันได้โดยไม่ต้องอาศัยสัญญาณอินเตอร์เน็ต แต่กลับกลายเป็นความต้องการให้การใช้จ่ายของตน ยังคงเป็นความลับ เช่นเดียวกับการใช้เงินสด (ซึ่งพ่อบ้านหลายท่านคงเข้าใจในเรื่องนี้ดี)

โดยทางการของสหภาพยุโรป ให้ความสำคัญกับการรักษาความลับเป็นอย่างยิ่ง และได้ทำเอกสารแสดงให้เห็นการใช้เทคนิคนานาประการที่จะรักษาความลับเอาไว้ให้ได้ เช่น กำหนดจำนวนเงินสูงสุดที่จะใช้จ่ายได้ โดยไม่มีใครทราบตัวตนของผู้จ่าย และผู้รับ รวมถึงวัตถุประสงค์ของการจ่ายนั้น ซึ่งเงินจำนวนนี้จะต้องเป็นการใช้จ่ายที่มีความเสี่ยงต่ำ และมูลค่าต่ำ โดยผู้ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง จะรู้เพียงแค่ว่ามีธุรกรรมที่ไม่ระบุตัวตนเกิดขึ้นแล้วเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังกำหนดจำนวนเงินโดยรวม ที่บุคคลใดจะสามารถใช้จ่ายได้ ภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มมิจฉาชีพ หรือเครือข่ายอาชญากรรม ใช้เป็นช่องทางในการแตกธุรกรรมผิดกฎหมายให้รอดพ้นจากการตรวจสอบของทางการ และกำหนดให้ไม่สามารถติดตามกิจกรรมการใช้จ่ายในอดีตได้ เพื่อรักษาความลับของบุคคลที่เกี่ยวข้องในธุรกรรมประเภทดังกล่าว

และมีแนวทางปกปิดธุรกรรม โดยแยกข้อมูลการจ่ายเงิน และรับเงินของแต่ละคนออกจากกัน หรือเข้ารหัสลับเพื่อทำให้รายการที่เกิดขึ้นไม่สามารถแปลความได้ รวมถึงสร้างสิ่งรบกวน (Noise) เพื่อทำให้การส่งข้อมูลระหว่างผู้จ่ายผู้รับ และผู้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางนั้น ยากแก่การที่ใครจะสามารถเชื่อมโยงข้อมูลของธุรกรรมกับตัวบุคคลได้

นอกจากเรื่องรักษาความลับแล้ว สิ่งที่น่าหนักใจสำหรับการมีผู้กำหนดนโยบายเป็นนักการเมือง ก็คือ การมาของเงินดิจิทัล อย่าง ดิจิทัลยูโร (Digital Euro) และ เฟดคอยน์ (FedCoin) จากสหรัฐฯ จะส่งผลต่อธุรกิจธนาคารพาณิชย์อย่างไรในอนาคต? เพราะหากการใช้จ่ายผ่านเงินดิจิทัล ทั้งไม่มีค่าธรรมเนียม ปลอดภัย สะดวกง่ายดาย ฯลฯ ภายใต้ภาวะดอกเบี้ยต่ำ หรือติดลบเช่นนี้ อาจทำให้ผู้ฝากเงินมองว่าไม่มีประโยชน์ที่จะฝากเงินไว้กับธนาคาร หรือชำระค่าสินค้าและบริการผ่านบัตรเดบิตอีกต่อไป

นี่เป็นเหตุให้นักวิ่งเต้นระดับชาติในสหรัฐฯเริ่มทำงานกันอย่างแข็งขัน เพื่อที่จะระงับยับยั้งการมาของเฟดคอยน์ ในขณะที่แรงกดดันจากความก้าวหน้าของดิจิทัลหยวนก็เป็นกระดูกชิ้นโตที่ค้ำคอผู้กำหนดนโยบายประเทศฝั่งตะวันตกอยู่

งานนี้ศึกยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร