คริปโทเคอร์เรนซี : SMEs ควรรู้จัก (จบ)

คริปโทเคอร์เรนซี : SMEs ควรรู้จัก (จบ)

คริปโทเคอร์เรนซีอาจจะเป็นความหวังใหม่ของเอสเอ็มอีไทยในการก้าวผงาดในเวทีโลกในอนาคต...

ความไม่พอใจต่อการบริหารระบบการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกที่ก่อให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจหลายครั้ง ทำให้สิ่งที่มีความสำคัญที่สุดในโลกทางการเงินคือ 'ความน่าเชื่อถือ' ลดน้อยลง หากระบบการเงินไม่มีความน่าเชื่อถือ ไม่ว่าตัวกลางจะเป็นใครคนก็พร้อมที่จะแสวงหาสิ่งที่จะทำให้พวกเขามั่นใจว่ามีความน่าเชื่อถือมากกว่า 

ในปี 2008 'ซาโตชิ นากาโมโต้' จึงได้สร้างสิ่งที่เรียกว่า 'Blockchain' ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นสถานที่เก็บข้อมูลการทำธุรกรรมบนโลก Internet ไม่มีศูนย์กลางของข้อมูลแบบเดิม ทุกคนที่อยู่ในระบบจะเป็นผู้ที่เก็บข้อมูลนั้น ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลด้วยตนเอง หลังจากสร้าง Blockchain ขึ้นมา ซาโตชิ ได้สร้างสกุลเงินหนึ่งขึ้นมา เพื่อให้เป็นตัวกลางการทำธุรกรรมดิจิทัล สกุลเงินนั่นเรียกว่า Bitcoin เป็นสกุลแรกบน Blockchain สามารถตรวจสอบได้ ทำธุรกรรมระหว่างบุคคลได้ Digital Money คือเงินแห่งโลกอนาคต เป็นเงินที่ถูกสร้างและอยู่ภายใต้การดูแลของเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทั่วโลก ไม่ใช่รัฐบาลประเทศใดประเทศหนึ่ง และไม่มีการพิมพ์ออกมาแบบ 'เงินกระดาษ' หรือ 'Fiat money' ที่รัฐบาลประกาศให้เป็นเงินตราที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เงินกระดาษของประเทศไหน ก็มักจะได้รับการยอมรับว่ามีค่าเฉพาะในประเทศนั้น 

แม้ว่าในปัจจุบัน Digital money ยังไม่สามารถเข้ามาแทนที่เงินกระดาษได้ แต่ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ มีมูลค่าการตลาดสูงกว่าหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จากทั้งหมด 770 สกุลเงิน ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ประเทศไหนก็สามารถใช้เงินดิจิทัลในการชำระค่าสินค้าและบริการได้หลายอย่าง เช่น ซื้อบัตรของขวัญจากห้างสรรพสินค้า บัตรเงินสด เติมโทรศัพท์มือถือ บางประเทศสามารถใช้ Bitcoin ซื้อกาแฟ แซนด์วิช งานศิลปะ จองตั๋วเครื่องบิน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นคือการโอนเงิน ไปให้ใคร อยู่ที่ไหนก็ได้ (การบริการในประเทศไทยดูรายละเอียดได้ที่ www.coins.co.th)

ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของประเทศที่ทำให้ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีความคึกคักมากขึ้น คือธนาคารกสิกรไทย โดยล่าสุดได้จัดตั้ง บริษัท คิวบิกซ์ ดิจิทัล แอสเซท ขึ้นมาเพื่อให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล โดยธนาคารถือหุ้น 100% ผ่านบริษัท กสิกร เอ็กซ์ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 บริษัท คิวบิกซ์ ดิจิทัล แอสเซท ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ให้อยู่ภายใต้กลุ่มธุรกิจการเงินธนาคารกสิกรไทย ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564

ล่าสุดได้มีการจัดตั้ง 'สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย' (Thai Digital Asset Operater Trade Association : TDO) เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564

เป็นการรวมตัวของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย 8 แห่ง โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมและผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลของไทยที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง เพิ่มความมั่นใจนักลงทุน สู่ความร่วมมือระดับนานาชาติ ผู้ประกอบการทุกราย ล้วนอยู่ภายใต้การการกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในอนาคตสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย มีแผนการที่จะสร้างสมาคมให้เป็นพื้นที่สำหรับการให้คำปรึกษา ประสานงานกับ ก.ล.ต.และหน่วยงานที่กำกับดูแลอื่น ๆ เพื่อสร้างสรรค์และสนับสนุนนวัตกรรมด้านการลงทุนที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ช่วงที่ผมยังทำงานที่ธนาคารกรุงไทย เริ่มมีการใช้บริการธนาคารทางอินเทอร์เน็ตในรูปแบบที่เรียกว่า 'เงินอิเล็กทรอนิกส์' (e-money) เช่นบัตรรถไฟฟ้า บัตรเติมเงินโทรศัพท์มือถือ ที่ต้องเติมเงินเข้าไปในบัตรโดยไม่ต้องใช้เงินกระดาษ 'เงินดิจิทัล' (Digital money) ยังมีคนใช้ในวงแคบ ในเมืองไทยมีคนรู้จักน้อยมาก เกษียณมาหลายปี ยิ่งห่างไกลจากโลกการเงินสมัยใหม่ คิดว่า Digital money คงต้องใช้เวลาอีกนานในเมืองไทย เมื่อปีที่แล้วลูกชายผมที่เรียนจบปริญญาโท จาก UAL ประเทศอังกฤษ ขอคำปรึกษาผมเรื่อง เงินดิจิทัล Ethereum ที่เขาได้รับชำระจากการขายงานศิลปได้จากต่างประเทศ ลูกสาวผมที่จบจากออสเตรเลียตอนนี้เป็นนักลงทุนคริปโทเคอร์เรนซีตัวยงคนหนึ่ง ทำให้ผมต้องทำการเรียนรู้เงินดิจิทัลอย่างจริงจังเพื่อคอยให้คำแนะนำในเรื่องความเสี่ยง

ข่าวที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท) มุ่งมั่นที่จะให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในการทำการตลาดที่ยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ใช้ Cryptocurrency และเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ได้สร้างตำนานประกาศรับชำระค่าสินค้าด้วยเงิน Cryptocurrency 3 สกุล คือ Botcoin,Ethereum และ Dogecoin ซึ่งผมได้นำเสนอในบทความที่ผ่านมา ล้วนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในเมืองไทย ที่ท่านประกอบการ SMEs จะต้องเรียนรู้ ผมจึงได้นำเสนอบทความเรื่องคริปโทเคอร์เรนซี ถึง 5 ตอน เพื่อกระตุ้นให้ท่านผู้ประกอบการสนใจ คริปโทเคอร์เรนซีอาจจะเป็นความหวังใหม่ของเอสเอ็มอีไทยในการก้าวผงาดในเวทีโลกในอนาคต...