คำถามชวนคิดก่อน ‘ย้ายประเทศกันเถอะ’

คำถามชวนคิดก่อน  ‘ย้ายประเทศกันเถอะ’

เพจ “ย้ายประเทศกันเถอะ” เป็นอีกหนึ่งในความอัดอั้นตันใจกับความไม่พอใจในการบริหารจัดการบ้านเมืองในช่วงวิกฤติโรคระบาด

ความเคลือบแคลงสงสัยในกระบวนการยุติธรรม และคำถามถึงประสิทธิภาพของรัฐสภาในการตรวจสอบถ่วงดุลและเป็นตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง

กลุ่มที่ถูกจัดตั้งเพียงไม่กี่วันแต่ระดมผู้สนใจได้หลายแสนเพื่อเป็นที่พูดคุยระบายความอัดอั้นตันใจนี้ ถือเป็นสิ่งที่สังคมควรให้ความสนใจ ควรให้ราคากับความอัดอั้นนี้ เพราะการย้ายประเทศไม่ใช่เรื่องง่ายในยุคปัจจุบัน มีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น การเป็นผู้มีการศึกษาสูง การเป็นแรงงานมีทักษะ หรือการเป็นนักลงทุน ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้คือกลุ่มคนที่มีคุณภาพของประเทศ

ความรู้สีกอยากย้ายประเทศไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในไทย แต่เกิดขึ้นกับในหลายประเทศทั่วโลกแม้กระทั่งสหรัฐโดยเฉพาะในช่วงการบริหารงานของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ตรงกับสำนวนฝรั่งที่ว่า “the grass is always greener on the other side” ซึ่งเปรียบเปรยให้เห็นว่าสนามหญ้าหรือสวนบ้านคนอื่นมักจะดูสวยกว่าบ้านตัวเอง ซึ่งก็อาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้

การย้ายถิ่นฐานย้ายประเทศส่วนใหญ่เกิดขึ้นภายใต้เหตุผลทางเศรษฐกิจ อาทิ พลเมืองในยุโรปตะวันออกหลายประเทศได้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงานในยุโรปตะวันตก เพราะตำแหน่งงานและค่าแรงที่สูงกว่า เช่นเดียวกันกับที่แรงงานในประเทศเพื่อนบ้านย้ายเข้ามาทำงานในไทย หรือชาวตะวันตกวัยเกษียณที่ย้ายถิ่นฐานสู่ประเทศที่ด้อยพัฒนากว่าด้วยเหตุผลทางด้านการลดค่าใช้จ่ายและอากาศที่เป็นมิตร

การย้ายประเทศไม่ใช่เรื่องยาก หากมีการศึกษาที่สูง มีทุน หรือมีทักษะแรงงานพิเศษ จะเห็นได้ว่าผู้ที่มีความพิเศษโดดเด่นเหล่านี้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดของโลกนอกจากจะเอาตัวเองรอดได้แล้วยังจะไม่ช่วยก่อร่างสร้างความแข็งแรงในกับระบบเศรษฐกิจในประเทศนั้นๆได้อีก คนเหล่านี้ถึงมีจำนวนที่ไม่มากแต่ถือว่าเป็นกลุ่มคนที่มีคุณภาพ มีประโยชน์กับระบบเศรษฐกิจ สมควรรักษาไว้

ประเทศที่อ้าแขนรับแรงงานมีฝีมือนี้เชื่อว่ากลุ่มคนที่มีศักยภาพเหล่านี้จะเข้าไปช่วยส่งเสริมระบบเศรษฐกิจ ประเทศเหล่านี้มักมีประชากรไม่มาก และมีพื้นที่กว้างขวาง ทำให้ความหนาแน่นของประชากรต่ำ อาทิ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา ฟินแลนด์

หลายประเทศอนุญาตให้นักศึกษาต่างชาติสามารถหางานทำต่อได้ภายใต้ระยะเวลาที่จำกัดหากจบการศึกษาในประเทศนั้นหรือจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยระดับโลก อาทิ สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ เช่นเดียวกับการเป็นนักลงทุนกระเป๋าหนักที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกนั้นยินดีต้อนรับแทบจะทุกที่โดยแต่ละประเทศก็จะมีเพดานขั้นต่ำในการลงทุนที่ไม่เท่ากัน

มีชุดคำถามชวนคิดสำหรับทุกคนที่มีความคับแค้นไม่พอใจกับการอยู่ในประเทศของเราลองพิจารณาประกอบการตัดสินใจ อาทิ แล้วใครจะดูแลพ่อแม่เรา เพื่อนฝูงสังคมจะเป็นอย่างไร จะทนหนาวไหวไหม อาหารการกิน ความสะดวกของการใช้ชีวิต การเป็นกลุ่มชาติพันธุ์พลเมืองกลุ่มน้อยจะเป็นอย่างไร

ในฐานะที่ผมเคยทำงานและศึกษาในต่างประเทศมาก่อน คำถามที่ดูเหมือนเล็กๆน้อยๆเหล่านี้แท้จริงไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเลย การใช้ชีวิตในฐานะผู้ทำงานหาเงินหรือใช้ชีวิตในต่างประเทศในระยะยาวกับการไปเที่ยวในฐานะนักท่องเที่ยวในระยะเวลาอันสั้นนั้นแท้จริงแล้วแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

อีกชุดคำถามที่น่าช่วยกันขบคิดคือ การย้ายประเทศจะเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ที่แท้จริงหรือไม่ และเพราะเหตุใดเราจึงต้องย้ายออกจากบ้านเกิดเมืองนอนของเรา เพราะเราในฐานะคนไทยทุกคนนั้นอยู่ในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งในทางทฤษฎีแล้วอำนาจในการกำหนดทิศทางประเทศนั้นเป็นของประชาชน เราใช้อำนาจผ่านผู้แทนประชาชนโดยการเลือกตั้ง

ดังนั้น เราจึงสามารถตรวจสอบการทำงานของตัวแทนของเราได้ เราสามารถแสดงความเห็นได้ และเราก็สามารถเลือกผู้ที่จะมาบริหารประเทศแทนเราได้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป