'ผู้สอบบัญชี' กับการต้านการทุจริตในบริษัทจดทะเบียน

'ผู้สอบบัญชี' กับการต้านการทุจริตในบริษัทจดทะเบียน

บริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายบังคับให้จัดทำบัญชีและงบดุล อย่างน้อยทุกรอบ 12 เดือน และต้องให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบ

หลังจากผู้สอบบัญชีตรวจสอบแล้วก็จะเสนอที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นอนุมัติ ภายในสี่เดือนนับแต่วันที่ลงในงบดุลนั้น

                ส่วนบริษัทมหาชนจำกัด ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด กฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการบริษัทต้องจัดทำงบดุลและบัญชีกำไรขาดทุน ณ วันสิ้นสุดของรอบปีบัญชีเพื่อเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปีเพื่อพิจารณาอนุมัติ โดยคณะกรรมการต้องจัดให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบงบดุลแบะบัญชีกำไรขาดทุนดังกล่าวให้เสร็จสิ้นก่อนเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติ    นอกจากนี้คณะกรรมการอาจจัดทำงบดุลและบัญชีกำไรขาดทุนขึ้นระหว่างรอบปีบัญชีก็ได้ งบดุลและบัญชีกำไรขาดทุนดังกล่าวก็ต้องให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบเช่นกัน

               แต่ถ้าเป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่เริ่มจัดตั้งใหม่ และได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นต่อประชาชนหรือบุคคลใดฯตามมาตรา32หรือได้รับอนุญาตให้เสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ตามมาตรา33 หรือเป็นบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้รับการยกเว้นให้สามารถเสนอขายหุ้นในวงจำกัด ตามมาตรา34 ของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ต้องจัดทำงบการเงินเป็นรายไตรมาสและงบการเงินประจำงวดการบัญชีที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบและแสดงความเห็นแล้ว ส่งต่อสำนักงานก.ล.ต.ด้วย

                ในการตรวจสอบงบการเงินและแสดงความเห็นของผู้สอบบัญชี ของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ดังกล่าว ตามที่มีผู้ประมวลจากมาตรฐานการสอบบัญชี รหัส 700 การแสดงความเห็นและการรายงานต่องบการเงิน. สรุปได้ว่าผู้สอบบัญชีจะแสดงความเห็นไว้ที่หน้ารายงานของผู้สอบบัญชี เป็น4 แบบคือ

             แบบที่ 1 ไม่มีเงื่อนไข ซึ่งหมายถึงผู้สอบบัญชีตรวจแล้วไม่พบข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอย่างมีสาระสำคัญ

             แบบที่2 มีเงื่อนไข หมายถึงผู้สอบบัญชีพบรายการในงบการเงินมีการเสนองบการเงินที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอย่างมีสาระสำคัญ แต่รายการที่ขัดต่อข้อเท็จจริงมีรายการไม่มากหรืออาจเกิดจากการที่ไม่สามารถหาหลักฐานการสอบบัญชีอย่างเพียงพอเพื่อสนับสนุน

             แบบที่ 3 งบการเงินไม่ถูกต้อง เป็นกรณีที่งบการเงินนั้นมีรายการบางรายการหรือหลายรายการไม่ถูกต้อง และไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งมีกระจายอยู่ไปทั่วของงบการเงินนั้น

            แบบที่4 ไม่แสดงความเห็น เป็นกรณีที่ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน เมื่อผู้สอบบัญชีไม่สามารถหาหลักฐานการสอบบัญชีที่ถูกต้องเหมาะสมอย่างพอเพียงเพื่อสนับสนุนการแสดงความเห็น และแม้จะได้รับหลักฐานการสอบบัญชีที่ถูกต้องเหมาะสม เพียงพอ แต่ก็มีปัจจัยความไม่แน่นอนของสถานการณ์หลายสถานการณ์(ของเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจ)อันเกี่ยวกับงบการเงินนั้น ที่จะไม่สามารถสรุปได้ว่าจะแสดงความเห็นต่องบการเงินนั้นอย่างไร

              กรณีที่ผู้สอบบัญชีไม่สามารถหาหลักฐานการสอบบัญชีที่เหมาะสมอย่างเพียงพอเพื่อสนับสนุนการแสดงความเห็น อาจเกิดจากการถูกจำกัดขอบเขตการสอบทานหรือตรวจสอบโดยการกระทำหรือไม่กระทำของบริษัทนั้น หรือของกรรมการหรือของผู้บริหารนั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า เพราะไม่ได้รับความร่วมมือจากบริษัท กรรมการหรือผู้บริหาร ไม่เปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้องแท้จริง หรือปกปิดข้อมูล นั่นเอง

             บทบาทของผู้สอบบัญชีในการปรามและต้านการทุจริต

           ขั้นตอนการตรวจสอบและสอบทานงบการเงิน และการแสดงความเห็นของผู้สอบบัญชี จะเป็นขั้นตอนที่ผู้สอบบัญชีมีส่วนช่วยในการปรามการทุจริตในบริษัทจดทะเบียนได้ระดับหนึ่ง เพราะกรรมการหรือผู้บริหารที่จะกระทำการทุจริตคิดมิชอบ คงต้องคิดว่าอาจถูกผู้สอบบัญชีที่เป็นบุคคลภายนอกตรวจพบได้ และถึงแม้จะตรวจไม่พบการทุจริตอย่างชัดแจ้ง แต่ก็อาจพบร่องรอยจากความผิดปกติของงบการเงิน ซึ่งจะมีผลตามมาที่อาจถูกผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นที่หน้ารายงานในทางที่ไม่เป็นคุณ ทางใดทางหนึ่ง เช่นเป็นงบการเงินที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่แสดงความเห็นก็ได้  ซึ่งไม่เป็นผลดีกับบริษัทแน่นอน

            งบการเงินที่ผู้สอบบัญชี แสดงความเห็นว่าเป็นงบการเงินที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่แสดงความเห็น อันเนื่องจากถูกจัดขอบเขตการสอบถามหรือตรวจสอบโยการกระทำหรือไม่กระทำของบริษัท หรือกรรมการหรือของผู้บริหาร ถือเป็นงบการเงินที่จัดทำขึ้นไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนกำหนดตามมาตรา 56 ของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535  มีผลเท่ากับบริษัทนั้นไม่ได้ส่งงบการเงินในเวลาตามที่กฎหมายกำหนด   กรรมการหรือผู้บริหารที่มีอำนาจหน้าที่ของบริษัทนั้น มีความรับผิดทางอาญาด้วย   และตลาดหลักทรัพย์ จะระงับการซื้อขายหุ้น ของบริษัทนั้นไว้จนกว่าจะส่งงบการเงิน  และอาจนำไปสู่การสอบสวนดำเนินคดีกับกรรมการหรือผู้บริหารที่รับผิดชอบ ว่ากระทำความผิดฐานอื่นอีกด้วยหรือไม่

                    .ในการปรามหรือต้านการทุจริตในบริษัทจดทะเบียน  นอกจากการตรวจสอบและสอบทานและการแสดงความเห็นที่หน้ารายงานของงบการเงินดังกล่าวแล้ว ผู้สอบบัญชียังมีหน้าที่ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา89/25 วรรคหนึ่งของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 โดยสรุปคือ ในการตรวจสอบบัญชีของบริษัท จดทะเบียน ถ้าผู้สอบบัญชีพบพฤติการณ์อันควรสงสัยว่า กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลดังกล่าว ได้กระทำ ความผิดตามาตรา 281/2 วรรคสอง มาตรา305 มาตรา306 มาตรา308 มาตรา309 มาตรา310 มาตรา311 มาตรา312หรือมาตรา313 ให้ผู้สอบบัญชีแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ณืดังกล่าวให้คณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทนั้นทราบ เพื่อดำเนินการตรวจสอบโดยไม่ชักช้า และให้คณะกรรมการตรวจสอบรายงานผลการตรวจสอบในเบื้องต้นให้สำนักงานก.ล.ต.และผู้สอบบัญชีทราบภายในสามสิบวัน

                    ข้อสังเกต  จากบทบัญญัติของมาตรา89/25 ดังกล่าวข้างต้น เห็นได้ว่า        

                 (1)   ผู้สอบบัญชีและคณะกรรมการตรวจสอบ จะเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการปรามหรือต้านการทุจริตในบริษัทจดทะเบียน

                (2)   ในกรณีที่ผู้สอบบัญชีและคณะกรรมการตรวจสอบตรวจพบ พฤติการณ์อันควรสงสัยว่า กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล ได้กระทำ ความผิดตามมาตราต่างฯดังกล่าว เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดเพิ่มขึ้นกับบริษัท ผู้ถือหุ้นรายย่อย น่าจะมีบทบัญญัติของ  กฎหมายให้อำนาจหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่สั่งให้ระงับการกระทำนั้นไว้ก่อนได้

                (3)  อันเนื่องมาจากมีความเห็นของผู้เกี่ยวข้องในวงการตลาดทุนว่า  กรรมการอิสระ ถือเป็นผู้แทนเป็นปากเสียงผู้ถือหุ้นรายย่อย   ดังนั้นการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการบริษัท ส่วนที่เป็นกรรมการอิสระน่าจะมีการกำหนดให้เป็นสัดส่วนของผู้ถือหุ้นรายย่อยโดยบทบัญญัติของกฎหมายด้วย   ส่วนจะเป็นสัดส่วนเท่าใดก็เป็นขั้นตอนที่ต้องพิจารณาต่อไป.