มองข้ามโควิด-19 ตั้งข้อสังเกตกับปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจ

มองข้ามโควิด-19 ตั้งข้อสังเกตกับปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจ

นับตั้งแต่ประเทศไทยได้รู้จักกับโควิด-19จนถึงขณะนี้ก็ 1 ปีพอดี มีปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว แม้จะมีความน่าสนใจยิ่ง

*คณะผู้เขียน เขมรินทร์ เพ็ญแสงอ่อน และ ตะวัน วรรณรัตน์ ภสควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, นรชิต จิรสัทธรรม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 

        นับตั้งแต่ประเทศไทยได้รู้จักกับโควิด-19จนถึงขณะนี้ก็นับเป็นเวลาหนึ่งปีพอดี ตลอดช่วงเวลาหนึ่งปีมานี้มีปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจหลายอย่างที่มองเห็นได้ชัดเจนเพราะถูกสื่อสารออกไปตามสื่อกระแสหลักต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นการปิดตัวลงของธุรกิจจำนวนมากโดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการท่องเที่ยว  ผู้คนมากมายต้องสูญเสียงานที่ทำมานานและแรงงานที่เพิ่งจะเข้าสู่ตลาดจำนวนไม่น้อยไม่สามารถจะหางานได้  ยอดขายสินค้าทั่วไปลดลงเพราะผู้บริโภคขาดกำลังซื้อ  อย่างไรก็ตามยังมีปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจบางประการที่ไม่ค่อยได้ปรากฏเป็นข่าวตามสื่อกระแสหลักมากนัก  แต่ปรากฏการณ์เหล่านั้นสามารถสะท้อนลักษณะและข้อเท็จจริงบางประการของระบบเศรษฐกิจที่ถูกมองข้ามไปทั้งในยามปกติและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามวิกฤติ

        ประการที่หนึ่ง แม้ว่าจะปรากฏข้อเท็จจริงแน่นอนว่าธุรกิจมากมายต่างได้รับผลกระทบในทางลบ  ผู้ประกอบการบางรายถึงขั้นต้องปิดตัวลงทั้งแบบชั่วคราวและแบบถาวร  แต่ในขณะเดียวกันธุรกิจบางประเภทก็ได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์โควิด-19นี้ด้วย เพราะในขณะที่ความต้องการใช้บริการด้านการท่องเที่ยวและโรงภาพยนต์ลดต่ำลงมากเพราะความไม่มั่นใจในความปลอดภัยในการไปใช้บริการความต้องการใช้บริการด้านสื่อบันเทิงออนไลน์ก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดเพราะผู้คนเลือกที่จะเสพสื่อบันเทิงอยู่ที่บ้านเป็นการทดแทน  ในขณะที่ความต้องการรถยนต์นั่งส่วนบุคคลลดลงเพราะผู้คนเดินทางน้อยลงความต้องการคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและแทปเลตกลับโตสวนทางเพราะพนักงานจำนวนมากต้องทำงานกับคอมพิวเตอร์อยู่ที่บ้านแทนการไปออฟฟิศ  ในขณะที่ความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปอย่างเช่นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายหดตัวลงเพราะผู้คนต้องเก็บออมไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน  แต่อุปกรณ์พื้นฐานที่ใช้ในการป้องกันโรคอย่างหน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์กลับขาดตลาดไปช่วงหนึ่งเพราะทุกคนต่างแย่งกันซื้อไปใช้ป้องกันโรคภัย  และที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยก็ถือธุรกิจให้บริการส่งอาหารที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดนับตั้งแต่มีมาตรการห้ามการนั่งรับประทานอาหารที่ร้าน  แม้จนเมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการดังกล่าวไปแล้ว แต่ธุรกิจประเภทนี้ก็ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

        ประการที่สอง เราจะพบความเงียบเหงาอย่างน่าตกใจหากเราไปเดินในสถานที่สองประเภท ประเภทแรกคือสถานที่ซึ่งคนชั้นกลางล่างและคนชั้นล่างไปเดินจับจ่ายใช้สอยซื้อหาสินค้าราคาย่อมเยาว์หลากหลายประเภทในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์อย่างเช่นตลาดนัดสวนจตุจักรและห้างเจเจมอล์ ประเภทที่สองคือสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังระดับประเทศที่แทบจะกลายเป็นเมืองร้างไม่ว่าจะเป็นภูเก็ตและสมุยอันเป็นสถานที่ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีกำลังซื้อสูงไปพักผ่อนหย่อนใจ  รวมถึงเชียงใหม่และพัทยาที่เป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีกำลังซื้อไม่มากเท่ากลุ่มแรกก็เงียบเหงาลงอย่างเห็นได้ชัด  สิ่งและที่ตามมาจากการขาดหายไปของผู้ซื้อคือการที่ผู้ประกอบการพยายามที่จะลดราคาสินค้าของตนลงอย่างมากเพื่อดึงดูดความต้องการซื้อของผู้บริโภค  อย่างไรก็ตามเรายังคงพบความคึกครื้นได้พอสมควรหากเราไปเดินสังเกตการณ์ที่ห้างร้านประเภทที่คนชั้นกลางบนและคนมีฐานะไปจับจ่ายใช้สอยและบางร้านถึงขนาดต้องต่อคิวกันใช้บริการด้วยซ้ำ และที่น่าประหลาดใจยิ่ง(หรือไม่)ก็คือสินค้าแบรนด์เนมรุ่นลิมิเตดราคาสูงบางอย่างสามารถขายหมดหลังการเปิดตัวแค่วันเดียว

        ประการสุดท้าย ที่จะกล่าวถึงในที่นี้คือ ปรากฏการณ์ของการควบรวมกิจการ  ซึ่งหลายกรณีอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โควิด-19  เพราะได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงก่อนที่จะมีสถานการณ์โควิด-19อย่างเช่นการควบรวมกิจการของธนาคารทหารไทยกับธนชาต  การควบรวมกิจการของธุรกิจประเภทการสื่อสารอย่าง TOT กับ CAT การควบรวมกิจการของธุรกิจประกันภัย อย่างเช่น บริษัทโตเกียวมารีนประกันภัยกับบริษัทประกันคุ้มภัย และที่เป็นข่าวฮือฮามากที่สุดคงไม่พ้นดีลขนาดใหญ่ของธุรกิจค้าปลีกในเครือซีพีกับเทสโกโลตัส  ซึ่งนำมาสู่กระแสการวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามกับหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแล   ส่วนที่เป็นข่าวใหญ่ในสื่อญี่ปุ่นที่มีเสียงลอยมาถึงไทยคือการควบรวมกิจการของสายการบินต้นทุนต่ำอย่างพีชกับวานิลลาแอร์ และการควบรวมกิจการในธุรกิจสื่อบันเทิงอย่างไอยูโนะกับเอสดีไอมีเดียซึ่งเป็นบริษัทรับทำซับไตเติ้ลเป็นภาษาท้องถิ่นให้กับผู้ให้บริการ streaming รายใหญ่อย่าง Netflix และ Disney

        โดยปกติแล้วข่าวสารเกี่ยวกับความเป็นมาและเป็นไปทางเศรษฐกิจนั้น เป็นข่าวสารที่ผู้คนมักจะไม่ได้ให้ความสนใจนัก  ประเด็นที่พอจะได้รับความสนใจบ้างก็มักจะเป็นหัวข้อฉาบฉวยที่เกี่ยวข้องกับตัวเลข โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเลขของการเติบโตที่มักจะวัดเป็นร้อยละ  ตัวเลขที่แสดงความเหลื่อมล้ำที่มักจะวัดอยู่ในรูปของการกระจุกตัวของทรัพย์สิน  ตัวเลขที่แสดงจำนวนผู้ว่างงานหรือนักศึกษาจบใหม่ที่หางานไม่ได้  ผู้คนจึงมักคิดไปว่าปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจหรือกิจกรรทางเศรษฐกิจนั้นจะต้องอยู่ในรูปของตัวเลขทางสถิติ  ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วปรากฏการณ์ที่สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าทั้งจากการสังเกตด้วยตนเองและการอ่านผ่านข่าวสารในสื่อ(โดยเฉพาะที่ไม่ใช่กระแสหลัก)น่าจะเป็นสิ่งใกล้ตัวที่ทุกคนสามารถทำได้ 

        แน่นอนว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆล้วนแล้วแต่มีประโยชน์  ข่าวสารที่แสดงปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจจากสื่อกระแสหลักก็มีคุณค่าที่จะสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของบ้านเมือง  แต่เราทุกคนน่าจะลองช่วยกันมองหาข้อมูลอื่นๆ ที่ไม่ได้ปรากฏเป็นข่าวหรืออาจเป็นข่าวที่ไม่ใช่ข่าวดัง  และช่วยกันตั้งข้อสังเกตถึงปรากฏการณ์เหล่านั้น  เพื่อที่เราทุกคนจะได้ตระหนักด้วยตนเองว่าเรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในระบบเศรษฐกิจที่มีความเปราะบางเพียงใด.