หลักสูตรแบบเดิมในมหาวิทยาลัย ยัง ‘จำเป็น’ อยู่หรือไม่

เทคโนโลยีดิจิทัลและการปฎิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ทำให้เริ่มเกิดคำถามว่าการศึกษาในหลักสูตรแบบเดิม ยังจำเป็นหรือไม่
ช่วงนี้ผมมีโอกาสสัมภาษณ์บัณฑิตจบใหม่ หรือที่เพิ่งเริ่มทำงานหลายคน เพื่อมาช่วยทีมงานที่บริษัทในการทำด้าน Big Data และ Data Science โดยมากผมเริ่มต้นถามถึงผลการเรียนที่ผ่านมา ทำโครงงานด้านอะไร ฝึกงานที่ไหน พร้อมเปิดผลการศึกษาเมื่อเห็นชื่อบางวิชา ก็ถามความรู้ทางทฤษฎี หรือถามว่าวิชานี้เรียนอะไร ที่แปลกใจคือเด็กบางคนจำไม่ได้ว่าเรียนอะไร ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าเด็กจะเบื่อหน่ายกับการเรียนในหลายวิชาที่พวกเขาคิดว่าไม่จำเป็น
ซึ่งเมื่อเจาะลึกไปในรายหลักสูตรหลายสถาบัน พบว่า ยังไม่สามารถสอนตามให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และไม่สอดคล้องความต้องการตลาดแรงงาน ดังนั้นการสัมภาษณ์จึงกลายเป็นเน้นถามความรู้นอกห้องเรียน ที่ไม่ได้อยู่ในหลักสูตร ดูความกระตือรือร้นว่ามีการหาความรู้เพิ่มเติมหรือไม่ เด็กบางคนได้ศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเองเรียนหลักสูตรออนไลน์ บ้างก็ลงมือปฎิบัติจริงหรือมีโอกาสทำงานเสริม ทำให้เด็กเหล่านั้นเก่งขึ้นและดูน่าสนใจที่จะรับเข้าทำงานมากกว่าบัณฑิตในระบบปกติ
วันนี้หลายบริษัทได้ให้ความสำคัญกับความสามารถการทำงานจริง ความตั้งใจในการเรียนรู้เพิ่มเติม และความรับผิดชอบมากกว่าเกรด สาขา หรือสถาบัน ที่จบมา ยิ่งเมื่อมองถึงทักษะในอนาคตที่กำลังปรับตัวอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนของเทคโนโลยีดิจิทัลและการปฎิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ทำให้เริ่มเกิดคำถามว่าการศึกษาในหลักสูตรแบบเดิม ยังจำเป็นหรือไม่
ขณะเดียวกัน ผมมีโอกาสเป็นกรรมการพิจารณาหลักสูตรมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง จึงได้วิพากษ์การพัฒนาหลักสูตรปรับปรุงใหม่ที่อาจารย์ในสาขาวิชาร่วมจัดทำ พบว่า เนื้อหาหลักสูตรยังอัดแน่นไปด้วยรายวิชาที่อาจารย์อยากสอน ยังมีความคิดผลิตบัณฑิตเพื่อทำงานในราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ยังมองวิชาในรูปแบบเดิมๆ ทำให้หลักสูตรปรับปรุงที่ออกมามีการปรับเปลี่ยนจากหลักสูตรเดิมเพียงเล็กน้อย ไม่ได้ออกจากกรอบเดิมๆ ทั้งที่สาขากำลังเผชิญกับจำนวนนักศึกษาที่ลดน้อยลง และอาจารย์ส่วนใหญ่ควรตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี
ผมเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ของสภามหาวิทยาลัยบางแห่ง และได้เข้าประชุมวางกลยุทธ์และวางนโยบายด้านการจัดการศึกษา พบผู้บริหารมหาวิทยาลัยมีความตระหนักถึงความจำเป็นที่มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด เพราะนอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ยังเผชิญปัญหาด้านจำนวนประชากรคนรุ่นใหม่ที่จะเข้าศึกษาต่อในอนาคตมีน้อยลง และพบว่า มีการเรียนการสอนแบบใหม่ที่เป็นแบบออนไลน์ มีหลักสูตรระยะสั้นที่ผู้เรียนอาจไม่จำเป็นต้องพึ่งการศึกษาแบบเดิมๆ ในมหาวิทยาลัยอีกต่อไป
ปัญหาการศึกษาปรากฎชัดขึ้นเมื่อเกิดโควิด ผู้คนเริ่มคุ้นเคยเรียนออนไลน์ หันไปเรียนหลักสูตรที่อยู่นอกมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ บางมหาวิทยาลัยเริ่มเห็นว่าจำนวนนักศึกษาใหม่ที่เข้าศึกษาต่อปี 2564 จะลดลงมาก ทำให้มหาวิทยาลัยหลายแห่ง แม้แต่ของรัฐบาลที่ต้องพึ่งรายได้จากค่าธรรมเนียมการศึกษาอาจเกิดวิกฤติการเงินรุนแรง อาจถึงขั้นปิดตัว
แม้ปัญหาเหล่านี้เป็นที่ทราบในวงกว้าง ทั้งผู้บริหารและบุคลากรมหาวิทยาลัย แต่การปรับตัวของมหาวิทยาลัยยังล่าช้า การปรับปรุงหลักสูตรจำนวนมาก เน้นตามวงรอบการปรับปรุง คือ อาจต้องรอ 4-5 ปี บางสาขามีคนเรียนน้อยแต่ยังเปิดต่อ การเปิดสาขาวิชาใหม่ไม่มีมากนัก เพราะผู้สอนมีภาระต้องสอนหลักสูตรเดิม ไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้เร็วพอ
ระเบียบการประเมินอาจารย์ยังเป็นแบบเดิม อาจารย์ต้องยึดติดกับวิชาเดิม แนวทางปฎิบัติเดิม อีกประการหนึ่งอาจารย์มหาวิทยาลัยของรัฐส่วนใหญ่ ยังอยู่ในระบบราชการ ทำให้ยังมีความรู้สึกมั่นใจในตำแหน่งงานที่ทำอยู่ จึงคิดว่าไม่จำเป็นต้องปรับตัวเองมากนัก
วันนี้ถึงเวลาที่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ จะอยู่รอดในระยะยาวคงต้องรื้อระบบการศึกษาขนานใหญ่ ต้องปรับเปลี่ยนยุบคณะและสาขาวิชาจำนวนมาก ต้องมีแนวคิดที่เปลี่ยน ต้องมองว่าอาชีพในอนาคตจะเปลี่ยนไปมาก และคนทำงานคงไม่ได้ประกอบอาชีพเดียวตลอดชีวิต รวมทั้งต้องคิดว่าบัณฑิตจำนวนมากจะประกอบอาชีพอิสระหรือเป็นผู้ประกอบการ
ดังนั้นมหาวิทยาลัยและบุคลากร ต้องตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ และจำเป็นต้องเร่งปรับหลักสูตร สร้างหลักสูตรระยะสั้น เปลี่ยนการสอนที่ต้องผสานทั้งออนไลน์และในห้องเรียน สอนคนทุกวัยให้พร้อมเรียนรู้ตลอดชีวิต ผู้สอนต้องเรียนรู้เรื่องใหม่ ปรับทักษะตัวเอง ต้องทำอย่างเร่งด่วนให้แล้วเสร็จภายใน 2-3 ปี มิฉะนั้นแล้วมหาวิทยาลัยอาจอยู่ไม่ได้ เหมือนที่ผมในฐานะผู้สัมภาษณ์งานเริ่มให้ความสำคัญกับความรู้นอกห้องเรียนมากกว่า สุดท้ายผู้เรียนก็อาจคิดเช่นกันว่าไม่จำเป็นต้องไปเรียนในมหาวิทยาลัยถ้ายังสอนแบบเดิมๆ