สังคมแห่งการฟ้องร้องในความผิดฐาน 'ดูหมิ่น' และ 'หมิ่นประมาท'

สังคมแห่งการฟ้องร้องในความผิดฐาน 'ดูหมิ่น' และ 'หมิ่นประมาท'

ในสังคมไทยนับตั้งแต่สมาร์ทโฟนและระบบอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาท ส่งผลให้ชีวิตประจำวันของบุคคลเปลี่ยนแปลงไปอย่างสำคัญหลายประการ

          เช่น การเข้าถึงความรู้ การติดต่อสื่อสาร การเผยแพร่ การเก็บ และการส่งต่อข้อมูล ประกอบกับแนวความคิดทางสังคมการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตยที่รับรองหลักอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน หลักการปกครองโดยกฎหมาย การรับรองสิทธิและเสรีภาพ และการควบคุมองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐเป็นกระแสขึ้นมา ซึ่งวิถีชีวิต การกระทำของบุคคล วิวัฒนาการทางเทคโนโลยี และความคิดที่แตกต่างดังกล่าวนี้ ทำให้ความสัมพันธ์ของคนในสังคมเกิดความขัดแย้งกันอยู่เสมอ

          ความขัดแย้งหนึ่งที่เกิดจากการใช้สิทธิและเสรีภาพในการกระทำหรือแสดงออกของคนในสังคมจากเรื่องดังกล่าวข้างต้นนั่นคือ การกล่าวหากันว่ามีการกระทำอันเป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทบุคคลขึ้น และเมื่อมีข้อกระทบกระทั่งกันแล้วก็มีการใช้เครื่องมือทางกฎหมายซึ่งได้แก่การฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อจัดการแก้ปัญหา อย่างไรก็ตาม การใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายเรื่องดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทในปัจจุบันเองก็มีปัญหาอยู่ในตัวเองเช่นเดียวกัน

          อนึ่ง ในเบื้องต้นต้องเข้าใจก่อนว่า “การดูหมิ่น” กับ “การหมิ่นประมาท” นั้นเป็นเรื่องที่บัญญัติเป็นความผิดทางอาญา โดยมีความหมาย ลักษณะของการกระทำ และตำแหน่งแห่งที่ที่ดำรงอยู่ในโครงสร้างของกฎหมายอาญาที่แตกต่างกันอยู่กล่าวคือ

          “การดูหมิ่น” หมายถึง การดูถูก เหยียดหยาม สบประมาท การด่าให้เสียหาย เป็นที่เกลียดชัง หรือทำให้อับอาย อันเป็นการลดคุณค่าของผู้ถูกดูหมิ่น ซึ่งอาจเป็นการกระทำด้วยวาจา กิริยาท่าทาง หรือโฆษณาก็ได้ แต่กรณีคำหยาบคายไม่สุภาพ คำโต้เถียง คำสาปแช่ง คำกล่าวติชมตามปกติวิสัยจะไม่ถือเป็นการดูหมิ่น ดังเช่นเคยมีตัวอย่างจากคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการกล่าวว่า “แน่จริงมึงถอดเสื้อมาต่อยกับกูเลย” ไม่ถือเป็นการดูหมิ่น ฉะนั้น คำว่า “กู” “มึง” หรือการท้ามาต่อย โดยสภาพมีลักษณะเป็นเพียงแค่คำไม่สุภาพเท่านั้น

          สำหรับการดูหมิ่นในกฎหมายอาญาของไทยนั้นแบ่งประเภทของการดูหมิ่นตามลักษณะของบุคคลผู้ถูกดูหมิ่นคือ บุคคลธรรมดา (มาตรา 393) เจ้าพนักงานหรือศาล (มาตรา 136 และ 198) และกษัตริย์ไทยหรือประมุขของรัฐอื่น (มาตรา 112 และ 133) ซึ่งบัญญัติไว้ต่างหมวดกันและต่างกำหนดความร้ายแรงของโทษไว้ไม่เท่ากัน

          ส่วน “การหมิ่นประมาท” คือการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงต่อบุคคลที่สามในประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ซึ่งความผิดฐานนี้เกิดขึ้นได้กับบุคคลบางประเภท ได้แก่ บุคคลธรรมดา (มาตรา 326 และ 327) และกับกษัตริย์ไทยหรือประมุขของรัฐอื่น (มาตรา 112 และ 133)

          ประเด็นอันเป็นปัญหาเรื่องการใช้บังคับบทบัญญัติของกฎหมายอาญาเรื่องดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทในสังคมไทยปัจจุบันทั้งในระดับปัจเจกและในระดับสังคมส่วนรวมคือ การใช้มาตรการตอบโต้โดยใช้กระบวนการยุติธรรมอย่างพร่ำเพรื่อ ไร้ขอบเขต รวมถึงมีเจตนาอื่นแอบแฝง ทั้งในส่วนของเอกชนคู่กรณีที่ขัดแย้งกัน และทั้งเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมที่บังคับใช้และตีความกฎหมายด้วย

          ตัวอย่างข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เช่น โจทก์ฟ้องจำเลยแล้วจำเลยฟ้องกลับในความผิดฐานหมิ่นประมาท บุคคลแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคลโดยเฉพาะความเห็นเกี่ยวกับการเมือง นักการเมือง หรือสถาบันทางการเมืองของรัฐลงบนหน้าสื่อโซเชียลของตนแต่มีบุคคลอื่นไม่ชอบความเห็นนั้นแล้วนำข้อความไปดำเนินคดี หรือการทำหน้าที่ซักถามเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจในระบบการเมืองของนักการเมือง การพูดพาดพิงถึง การตั้งคำถามในฐานะประชาชน ฯลฯ ก็อาจถูกดำเนินคดีได้เสมอ

          เรื่องที่ทำให้การฟ้องคดีในความผิดฐานดังกล่าวมีลักษณะที่ไร้ขอบเขตยิ่งขึ้นไปอีกนั่นคือ การขยายขอบเขตของการกระทำหรือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นให้ไปไกลกว่าถ้อยคำและเจตนารมณ์ของกฎหมายที่บัญญัติไว้ เช่น การที่กฎหมายควรจะมุ่งคุ้มครองต่อคุณค่าหรือชื่อเสียงของตัวบุคคลอันเป็นการเฉพาะตัว ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายกำหนด แต่กลับขยายบริบทออกไปถึงสิ่งรอบข้างบุคคลนั้นด้วยไม่ว่าจะเป็นวงศาคณาญาติหรือทรัพย์สิน

          การไม่คำนึงถึงนิติวิธีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางกฎหมายอาญา ระบบกฎหมาย และความสอดคล้องต่อหลักเกณฑ์และการใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามกฎหมายอื่น เช่น หลักการตีความโดยเคร่งครัด การไม่มีกฎหมายย่อมไม่มีความผิด การไม่ใช้จารีตหรือบรรทัดฐานทางสังคมอื่นที่ไม่ใช่กฎหมายมากำหนดเพื่อขยายขอบเขตเนื้อหาของกฎหมาย หลักการให้เหตุผลที่มีน้ำหนักและมีความแน่นอน หลักการที่บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพของตนที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เป็นต้น  

          นอกจากนี้ ในแง่ของกระบวนการทางกฎหมายเองก็มีปัญหาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เช่น การดำเนินคดีไปก่อนโดยไม่ใช้ดุลพินิจ เหตุผล หรือชั่งน้ำหนักการกระทำว่าควรจะต้องรับไว้พิจารณาต่อไปหรือไม่ การที่ให้บุคคลใดก็ได้เป็นผู้เสียหายเพื่อแจ้งความดำเนินคดีในความผิดบางลักษณะได้ทั่วประเทศ เพื่อให้บุคคลผู้ถูกดำเนินคดีต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย และอาจรวมถึงการสูญเสียเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของตนไป

          โดยสรุป ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าปัญหาทางกฎหมายดังที่กล่าวมาข้างต้นจะมีการแก้ไขและกำหนดหมวดหมู่ของลักษณะและประเภทของการกระทำผิดให้อยู่ในตำแหน่งแห่งที่ที่เหมาะสม มีการกำหนดโทษให้ได้สัดส่วนกับการกระทำ สำหรับในส่วนของกระบวนการยุติธรรมนั้นเองก็ควรเคารพต่อหลักการในทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ตีความเนื้อความของกฎหมายขยายความออกไปอย่างกว้างขวางและเป็นไปในทางลบ

          การปล่อยให้เกิดสภาพอย่างที่เป็นอยู่อย่างปัจจุบัน สังคมจะดำเนินต่อไปข้างหน้าและเกิดการพัฒนากันได้อย่างไร ยกเว้นแต่จะมองกันว่าไม่เห็นมีปัญหาอะไร บุคคลก็เพียงแต่ก้มหน้าทำมาหากินในส่วนของการหาเลี้ยงปากท้องของตนไปแบบสงบปากสงบคำกันสังคมก็มีความสุขแล้วดังนี้ก็ตามนั้น.

*บทความโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ผจญ คงเมือง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์