การทำหน้าที่ 'สื่อมวลชน' และข้อจำกัด พรบ.ข้อมูลส่วนบุคคล

การทำหน้าที่ 'สื่อมวลชน' และข้อจำกัด พรบ.ข้อมูลส่วนบุคคล

นักข่าวสามารถนำภาพถ่ายหรือภาพวีดิโอของบุคคลอื่นที่ตนเองถ่ายมา เผยแพร่เพื่อเสนอข่าวผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยที่บุคคลนั้นไม่ยินยอมได้หรือไม่

    ท่านผู้อ่านเคยสงสัยหรือไม่ว่า การใช้บังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 จะมีผลอย่างไรต่อการนำเสนอข่าวดังกล่าว วันนี้ผู้เขียนจึงอยากนำท่านผู้อ่านไปเรียนรู้จากคดีที่เคยเกิดขึ้นในสหภาพยุโรปเกี่ยวกับข้อจำกัดของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลต่อการทำหน้าที่ “นักข่าว” เพื่อเป็นกรณีศึกษาต่อการบังคับใช้พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ ของไทยในอนาคต  

คดีที่ผู้เขียนจะกล่าวถึงได้แก่ Buivids v Datu Valsts Inspekcija (C-345/17) ซึ่งศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรปได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 ในประเด็นเกี่ยวกับความเป็น “สื่อมวลชน” และการทำหน้าที่ของสื่อผ่านช่องทางการสื่อสาร “YouTube” โดยคดีนี้เป็นการวินิจฉัยตาม Data Protection Directive (1995) ในฐานะกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดข้อพิพาท ก่อนที่สหภาพยุโรปจะใช้บังคับ GDPR ซึ่งกลายเป็นกฎหมายสากลว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและเป็นต้นแบบในการตรากฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศต่าง ๆ รวมถึงพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ ซึ่งการตัดสินในคดีนี้ยังคงใช้เป็นบรรทัดฐานในการใช้บังคับ GDPR ได้ในอนาคต

ข้อเท็จจริงในคดีนี้สืบเนื่องจากการที่นาย Buivids ซึ่งเป็นนักข่าวภาคประชาชน ไม่มีสังกัดได้บันทึกการให้ถ้อยคำของตนเองที่ให้ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ณ สถานีตำรวจแห่งหนึ่งโดยไม่ได้แจ้งหรือขอความยินยอมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกบันทึกภาพวีดิโอเหล่านั้น โดยคลิปวีดิโอดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงพื้นที่ทำงานของเจ้าหน้าที่ภายในสถานีตำรวจ จำนวนของเจ้าหน้าที่ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ และใบหน้าของเจ้าหน้าที่บางคน และได้นำข้อมูลนั้นขึ้นเผยแพร่แบบสาธารณะบนแพลตฟอร์ม YouTube

ต่อมาจึงมีการร้องเรียนต่อ Datu Valsts Inspekcija (DVI) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Protection Agency) ของประเทศลัตเวียว่าการกระทำดังกล่าวไม่ชอบด้วย Data Protection Directive (1995) เนื่องจากการถ่ายคลิปวีดิโอของเขานั้นไม่ได้มีการแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบก่อน นาย Buivids ให้การโต้แย้งว่าการกระทำของเขานั้นทำไปเพื่อประโยชน์สาธารณะในฐานะสื่อมวลชนเพื่อรายงานการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เขาเห็นว่าในบางกรณีอาจมีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเกิดขึ้น

DVI ได้ตัดสินว่าการการกระทำของนาย Buivids เป็นการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและมีคำสั่งให้นาย Buivids ลบวีดิโอดังกล่าวออกจาก YouTube และเว็บไซต์ต่าง ๆ ซึ่งนาย Buivids ไม่เห็นด้วยและได้นำคดีฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นของประเทศลัตเวีย ศาลปกครองชั้นต้นยืนยันตามที่ DVI ได้วินิจฉัยไว้ นาย Buivids จึงอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองสูงสุดได้ส่งคำร้องมายังศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรปเพื่อขอให้วินิจฉัยเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย 2 ประการ ดังนี้

ข้อ 1. การบันทึกวีดิโอการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในขณะปฏิบัติหน้าที่ในสถานีตำรวจและนำไปเผยแพร่บนระบบอินเทอร์เน็ต เช่น YouTube ที่สามารถส่งต่อ บันทึก และเผยแพร่ได้เป็นการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลตาม DPD หรือไม่

ข้อ 2. การบันทึกและเผยแพร่คลิปวีดิโอดังกล่าวถือว่าเป็นการกระทำเพื่อ “วัตถุประสงค์ด้านการสื่อมวลชน” (journalistic purpose) ที่จะได้รับยกเว้นให้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นได้หรือไม่

ศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรปได้วินิจฉัย ดังนี้

ข้อ 1. ศาลเห็นว่า “ภาพถ่ายของบุคคลเป็นข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลได้ จึงเป็น “ข้อมูลส่วนบุคคล” ตาม DPD การใช้ระบบวีดิโอบันทึกภาพ และนำไปเผยแพร่เป็นการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลตาม DPD และไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นอื่น ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด อาทิ เพื่อความปลอดภัยสาธารณะ ด้านความมั่นคง หรือเพื่อกิจกรรมในครอบครัว เป็นต้น

ข้อ 2. การกระทำข้างต้นถือว่ามี “วัตถุประสงค์ด้านการสื่อมวลชน” หรือไม่นั้น ศาลเห็นว่า”สื่อมวลชน” ต้องตีความในความหมายอย่างกว้างให้สอดคล้องกับสังคมประชาธิปไตยที่ต้องมีสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่ “หมาเฝ้าบ้าน” ( watchdog) และสามารถรายงานข้อเท็จจริงอย่างเป็นกลาง วัตถุประสงค์ดังกล่าวจึงไม่ควรจำกัดอยู่เฉพาะว่าการเผยแพร่คลิปวีดิโอของนาย Buivids นั้นทำโดยอาศัยช่องทางใดเนื่องจากนาย Budvids ไม่ใช่นักข่าวอาชีพเขาย่อมไม่สามารถเผยแพร่ข่าวสารบนช่องทางเดิม เช่น หนังสือพิมพ์ หรือโทรทัศน์ได้

อย่างไรก็ตามศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรปยังไม่ได้วินิจฉัยว่าการกระทำของนาย Buivids ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่แต่ได้ให้ข้อแนะนำว่า แม้จะถือได้ว่าเขาทำการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล (การนำเสนอข่าว) ในฐานะสื่อมวลชน แต่การวินิจฉัยเรื่องข้อยกเว้นต่อกิจการสื่อมวลชนยังต้องชั่งน้ำหนักระหว่างสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน (freedom of expression) และ สิทธิในความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคลประกอบกัน  และต้องพิจารณาบนหลักความได้สัดส่วนของสิทธิทั้งสองประการ และข้อยกเว้นสำหรับ “วัตถุประสงค์ด้านการสื่อมวลชน” ควรเป็นการยกเว้นเพียงเท่าที่จำเป็นในความหมายอย่างแคบเท่านั้น (strictly necessary)   

จากคดีข้างต้น ผู้เขียนขอย้ำหลักการสำคัญของการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของคนอื่น สิ่งแรกที่ต้องตั้งคำถาม คือ “ใช้ฐานทางกฎหมายอะไรในการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลนั้น” สื่อมวลชนเป็นวิชาชีพที่มีความสำคัญในระบอบประชาธิปไตย ระบบกฎหมายจึงสร้างข้อยกเว้นให้ ซึ่ง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ​ มาตรา 4(3) ก็ได้มีการบัญญัติไว้ว่าไม่ใช้บังคับกับกรณีที่บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่ทำการเก็บรวบรวมไว้เฉพาะ “เพื่อกิจการสื่อมวลชน” อย่างไรก็ตาม หากเป็นกรณีที่นักข่าวทำเกินกว่ากรอบจรรยาบรรณของวิชาชีพหรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่น กฎหมายจะยกเว้นหรือไม่ และประการสำคัญในกรณีกฎหมายไทย นักข่าวภาคประชาชน (ไม่มีสังกัด) จะเข้าตามข้อยกเว้นในมาตรา 4(3) นี้หรือไม่.

*บทความโดย

ศุภวัชร์ มาลานนท์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

        Max Planck Institute Luxembourg          

ชิโนภาส อุดมผล

Optimum Solution Defined (O S D Co., Ltd.)