แนวทางลดความเหลื่อมล้ำ

แนวทางลดความเหลื่อมล้ำ

ผมได้รับเชิญจากโครงการหลักสูตรการบริหารจัดการด้านความมั่นคงขั้นสูง รุ่นที่ 12 ให้ไปพูดเรื่อง 'แนวทางลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย'

 วันนี้เลยขอเขียนเรื่องนี้เพื่อแชร์ความเห็นที่ผมได้ให้ไปให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ

ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาสำคัญของประเทศเรา คือแม้เศรษฐกิจจะมีการพัฒนาที่ดีต่อเนื่องช่วง 60 ปีที่ผ่านมา แต่ความเหลื่อมล้ำในประเทศกลับมีมากขึ้นและเลวร้ายลงต่อเนื่อง ในทางเศรษฐศาสตร์ ความเหลื่อมล้ำจะมี 3 มิติหลัก คือ ความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ ความเหลื่อมล้ำในความมั่งคั่งหรือทรัพย์สิน และความเหลื่อมล้ำในโอกาสของคนในสังคม เช่น โอกาสในการศึกษา โอกาสในการมีงานทำ โอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อและได้รับบริการสาธารณสุข ซึ่งในกรณีของประเทศเรา ความเหลื่อมล้ำมีมากในทั้ง 3 มิติ

กรณีรายได้ นิยามรายได้ในทางเศรษฐศาสตร์รวมถึงค่าจ้างแรงงาน กำไรจากการประกอบธุรกิจ รายได้จากการลงทุน และเงินโอนจากภาครัฐ เช่น เงินสวัสดิการช่วยเหลือกลุ่มประชากรที่เปราะบาง ข้อมูลล่าสุดจากการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทยที่นำเสนอในการประชุมวิชาการเมื่อเร็วๆ นี้ ชี้ว่าการกระจายรายได้ของประเทศเรามีแนวโน้มแย่ลงโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงตั้งแต่ปี 2503 ถึงก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540

หลังจากนั้นแนวโน้มการกระจายรายได้ดูดีขึ้น โดยตัวเลขสภาพัฒน์ชี้ว่าสัดส่วนรายได้ของกลุ่มที่รวยที่สุด 10% สูงกว่ากลุ่มที่จนที่สุด 10% ถึง 24.5 เท่าในปี 2545 และลดลงเหลือ 19.3 เท่าในปี 2560 ขณะที่ดัชนี GINI ที่วัดความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นเช่นกันในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

สำหรับนักวิชาการที่ติดตามปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ข้อสรุปดังกล่าวค่อนข้างจะขัดสายตา เพราะข้อมูลที่ใช้วิเคราะห์ดูแล้วมีจุดอ่อนมาก กล่าวคือดัชนี GINI ใช้ข้อมูลผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่จัดทำโดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวมาจากการสุ่มตัวอย่างประมาณ 43,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ จึงเป็นไปได้มากที่ตัวเลขที่ใช้อาจไม่มีครัวเรือนที่รวยมากๆ ที่เป็นกลุ่มคนที่รวยที่สุดของประเทศรวมอยู่ในกลุ่มตัวอย่าง ทำให้ผลความเหลื่อมล้ำที่ออกมาต่ำกว่าความเป็นจริง

นอกจากนี้ ตัวเลขรายได้ที่ใช้ก็รวมเงินโอนจากภาครัฐ ทำให้ผลการวิเคราะห์อาจไม่สะท้อนความเหลื่อมล้ำที่ประชาชนมี ยิ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประชาชนพึ่งพารัฐมาก เห็นได้จากรายจ่ายที่เป็นเงินโอนภาครัฐให้ประชาชนมีสัดส่วนกว่า 20% ของงบประมาณประจำปี

ในแง่ความมั่งคั่ง ตัวเลขให้ภาพความเหลื่อมล้ำที่ต่างจากตัวเลขรายได้มาก

1.ตัวเลขของธนาคาร Credit Suisse ประเมินว่ากลุ่มที่รวยที่สุด 1% เป็นเจ้าของกว่า 66% ของสินทรัพย์ทั้งหมดที่ประเทศมี ทำให้ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

2.ในการถือครองที่ดิน คนไทย 3 ล้านคนเป็นเจ้าของกว่า 80% ของที่ดินในประเทศ ขณะที่คนไทย 45 ล้านคนไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง

3.ด้านเงินฝาก 0.1% ของผู้ฝากเงินในระบบธนาคารพาณิชย์เป็นเจ้าของเกือบ 50% ของเงินฝากทั้งหมด

4.ในแง่เงินออม ธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้ว่า 5% ของคนเกษียณมีเงินออมเพียงพอที่จะดูแลตัวเอง ขณะที่อีก 95% ดูแลตัวเองไม่ได้

นี่คือความรุนแรงของความเหลื่อมล้ำด้านสินทรัพย์ที่ประเทศมี

ในแง่ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส คือ การศึกษา การมีงานทำ การเข้าถึงสินเชื่อและบริการทางสาธารณสุข แนวโน้มความเหลื่อมล้ำก็ไม่ต่างจากด้านสินทรัพย์ เช่น คนรวยมีโอกาสเข้าเรียนต่อระดับปริญญาตรีสูงกว่าคนจน และคนในเขตเมืองและกรุงเทพฯ มีโอกาสมากกว่าคนในเขตชนบท ตัวอย่างเช่นตัวเลขสภาพัฒน์ชี้ว่ากลุ่มที่รวยที่สุด 10% แรกมีสัดส่วนเข้าเรียนระดับปริญญาตรีสูงถึง 65.6% ขณะที่กลุ่มคน 10% ที่จนที่สุด สัดส่วนการเข้าเรียนระดับปริญญาตรีมีเพียง 3.8%

แล้วเราจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างไร

ในประวัติศาสตร์โลก ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาของเศรษฐกิจโลกมาตลอด เป็นปัญหาที่มีคู่มากับการพัฒนาเศรษฐกิจ คือ เศรษฐกิจยิ่งโตความเหลื่อมล้ำยิ่งมีมาก จากโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจที่รายได้กลุ่มคนรวยที่ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของทุน เจ้าของกิจการ จะขยายตัวได้มากกว่ากลุ่มคนจนที่รายได้ส่วนใหญ่คือค่าจ้างแรงงาน นอกจากนี้การใช้อำนาจการเมืองสร้างระบบ “ค่าเช่า” ที่ทำให้ตนเองทำรายได้ได้สูงกว่าการทำมาหากินตามกลไกตลาดปกติ ทั้งถูกกฎหมาย เช่น การผูกขาด และไม่ถูกกฎหมาย เช่น การทุจริตคอร์รัปชัน ยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมมีมากขึ้น

ศาสตราจารย์วอลเตอร์ ชไนเดอร์ (Walter Scheidel) ในหนังสือเรื่อง The Great Leveler หรือนักปรับระดับที่ยิ่งใหญ่ ให้ข้อสังเกตว่าในประวัติศาสตร์โลกในอดีตมีเพียง “สี่ขุนพล” เท่านั้นที่สามารถทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลง สี่ขุนพลนี้คือ สงคราม การปฏิวัติทางการเมือง รัฐล้มเหลว และโรคระบาด แต่ก็เป็นการลดลงเพียงชั่วคราว คือเมื่อสถานการณ์เหล่านี้จบลงและเศรษฐกิจกลับมาเริ่มต้นใหม่ ความเหลื่อมล้ำก็จะกลับมามีมากขึ้นอีกตามการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่สำคัญปัจจุบันสี่ขุนพลเหล่านี้ไม่มีแล้ว การแก้ไขความเหลื่อมล้ำต้องมาจากการแก้กลไกในระบบเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

ในทางเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อว่าการกระจายรายได้ที่แย่ลงเมื่อประเทศเริ่มมีการพัฒนาจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเศรษฐกิจพัฒนาในระดับที่สูงขึ้น เพราะระบบเศรษฐกิจมีกลไกในระบบเองที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำพร้อมการเติบโตของเศรษฐกิจ ดังนั้น ในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำมีมากและแย่ลงต่อเนื่องอย่างเช่นประเทศเรา ชัดเจนว่ากลไกเหล่านี้ไม่ทำงาน หรือทำงานในทิศทางตรงกันข้าม

กลไกลดความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ ได้แก่

1.การแข่งขันและความเป็นเสรีของตลาด คือ ถ้าเศรษฐกิจยืนอยู่บนพื้นฐานของกลไกตลาดที่เน้นการแข่งขันและความเป็นเสรีของตลาด การแข่งขันจะเปิดโอกาสให้คนในสังคมสามารถแข่งขัน เพื่อสร้างฐานะและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ต่างจากเศรษฐกิจที่มีระบบผูกขาด ไม่มีการแข่งขันหรือมีการแข่งขันน้อยและไม่เป็นธรรม การจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจแบบนี้ก็จะบิดเบือน ทำให้การกระจายรายได้แย่ลง

2.ระบบภาษีต้องเป็นธรรม คือ มีอัตราภาษีก้าวหน้า ที่คนที่มีรายได้มากควรเสียภาษีมากเทียบกับคนรายได้น้อยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึงต้องมีภาษีที่เก็บบนฐานของทรัพย์สิน คือมีทรัพย์สินมากก็เสียภาษีมาก เช่นภาษีที่ดิน ภาษีรายได้จากทรัพย์สิน และภาษีมรดก

3.การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา การมีงานทำ การเข้าถึงสินเชื่อ บริการด้านสาธารณสุข รวมถึงการมีที่ดินเป็นของตัวเอง สิ่งเหล่านี้จะเอื้อให้คนในสังคมสามารถปรับฐานะความเป็นอยู่ของตนเองได้ เป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องทำให้เกิดขึ้น เช่น มีการปฏิรูปที่ดิน ทุนการศึกษา การปล่อยกู้ที่ไม่เน้นหลักประกัน เป็นต้น

4.การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็ง เพราะถ้าการบังคับใช้กฎหมายอ่อนแอ ก็จะสร้างแรงจูงใจให้คนอยากรวยโดยระบบค่าเช่า โดยการทุจริตคอร์รัปชันและการทำผิดกฎหมาย ทำให้ความเหลื่อมล้ำในประเทศยิ่งมีมากขึ้น

นี่คือสี่กลไกที่นโยบายของประเทศต้องให้ความสำคัญและทำให้เกิดขึ้น ซึ่งในกรณีของประเทศเรา กลไกทั้งสี่ของเรามีปัญหา ดังนั้น การแก้ไขความเหลื่อมล้ำในประเทศต้องเริ่มด้วยการปฏิรูปเศรษฐกิจให้กลไกลดความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ทำงาน

หลังการบรรยายมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องนี้มาก แสดงถึงความตระหนักในปัญหาและความต้องการที่จะให้มีการแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี