SSF และ FIRE Movement

SSF และ FIRE Movement

นโยบายของรัฐบาลในการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) เพื่อมาทดแทนกองทุนรวมระยะยาว (LTF) ซึ่งจะสิ้นสุดในปีนี

 ถือว่าเป็นนโยบายที่ทันสมัยไม่น้อย เพราะเป็นการให้ความสำคัญกับการออมของคนรุ่นใหม่อายุประมาณ 30 เศษๆขึ้นไป จนถึงประมาณ 45 ปี มากกว่าจะเน้นหนักไปที่ผู้มีรายได้สูงเหมือนดังเช่นในอดีต

ซึ่งนโยบายกระตุ้นให้เกิดการออมในคนอายุน้อยนั้น ไม่ใช่ว่า LTF เดิมจะไม่เปิดโอกาสให้ แต่เนื่องจากอัตราการประหยัดภาษีในคนทำงานรุ่นใหม่นั้นจะค่อนข้างต่ำ ตั้งแต่ไม่ประหยัดเลย (เพราะเงินเดือนไม่ถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษี คือ เฉลี่ยเงินได้ประมาณไม่เกิน 25,833 บาทต่อเดือน) หรือประหยัดบ้าง แต่ไม่มาก เพราะรายได้ของคนในช่วงอายุนี้ยังไม่สูงมากนัก

นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายที่สูง เพื่อตอบสนองรูปแบบการใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะของสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายในการสร้างรากฐานให้กับตนเองและครอบครัวก็ยิ่งทำให้การออมในช่วงอายุน้อยๆนั้นเกิดขึ้นได้ยากมากขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าการออมนั้นจะไม่เป็นที่สนใจของคนรุ่นใหม่ เพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น ในต่างประเทศได้มีการริเริ่มแนวคิด การมีอิสรภาพทางการเงิน และการเกษียณให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (Financial Independence Retire Early) หรือที่รู้จักกันในชื่อ F.I.R.E Movement ซึ่งเป็นแนวคิดที่เริ่มได้รับความนิยมในกลุ่มคนยุค Millennial หรือผู้ที่เกิดระหว่างปี 2524 - 2539

หลักการของ F.I.R.E Movement คือ การออมอย่างหนักหน่วง คือ ประมาณ 70% ของรายได้ เพื่อที่จะสร้างสมให้ได้เงินออม 25 เท่าของค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อปี และนำเงินออมจำนวนนี้ไปสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในรูปแบบต่างๆ เช่น หลักทรัพย์ หรืออสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพหลังเกษียณที่ประมาณ 4% ต่อปี โดยผู้ออมไม่ต้องเหนื่อยยากในการทำงานอีกต่อไป หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ให้เงินทำงานแทนเราผ่านการลงทุนนั่นเอง

พูดง่าย แต่ทำจริงๆนั้นไม่ง่ายเลย ในสหรัฐฯซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแนวคิดนี้นั้น มีไอดอลของยุค Millennial มาเขียน Blog บอกเล่าวิถีชีวิตของตนในการเป็นส่วนหนึ่งของ F.I.R.E ซึ่งการประหยัดอย่างถึงแก่นที่ว่านี้ แลกมาด้วยการตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในการดำรงชีวิตออกไปทั้งหมด เช่น ค่าโทรศัพท์ ค่าวิดีโอสตรีมมิ่ง ค่ารถ (ให้ขี่จักรยาน หรือเดินไปทำงานแทน) เลิกทานอาหารนอกบ้าน ไม่ซื้อกาแฟร้านดัง ไม่ซื้อของแบรนด์เนม ไม่เที่ยวถ้าตั๋วเครื่องบิน และที่พักไม่ฟรี เป็นต้น

แค่นั้นยังไม่พอ จะต้องมีการคิดทุกเม็ด ในทุกการซื้อของ ว่าจะใช้คูปองอะไร ที่ไหน อย่างไร โดยซื้อเมื่อมีการลดราคาเท่านั้น บัตรเครดิตก็ต้องใช้ (แต่ไม่เป็นหนี้) ทั้งนี้ เพื่อจะได้นำคะแนนสะสมมาแลกตั๋วเครื่องบิน ที่พัก ฯลฯ

โดยผู้ที่หักโหมออมเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของ F.I.R.E นี้ จะต้องพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และอุทิศตนทำงาน (ที่ตัวเองอาจไม่ชอบ) ให้ได้รายได้สูงๆ และเก็บออมอย่างหนักหน่วง เพื่อที่จะมีเงินมากพอที่จะลงทุนให้ได้ผลตอบแทนเพียงพอที่จะหยุดทำงาน (ที่ไม่ชอบ) ให้ได้เร็วที่สุด โดยผู้ที่ออกมาประกาศตัวว่าประสบความสำเร็จในการเร่งเกษียณแบบนี้ บางคนมีอายุน้อยเพียง 24 ปีเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ก็มิใช่ว่าทุกคนจะเห็นดีเห็นงามกับการออมสุดโต่งแบบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากมุมมองของคนรุ่นแก่กว่าอย่างพวกเราชาว Gen X (ฮา) โดยมองว่าคนที่จะสามารถลดค่าใช้จ่ายขนาดนี้ได้ ต้องเป็นผู้มีรายได้สูงมาก เพราะไม่ว่าจะมีจะจนแค่ไหน ก็ต้องมีระดับการกินใช้ขั้นต่ำเท่าที่จะเป็นไปได้ (คือจะกินน้อยกว่านี้ไปไม่ได้แล้ว) นอกจากนี้ เหล่าไอดอลในการเร่งเกษียณที่เขียน Blog กันอยู่นั้น ก็ล้วนแล้วแต่ทำงานที่มีรายได้สูงมาก แถมยังมีรายได้จากการเขียน Blog เล่าถึงชีวิตตนเอง ขายหนังสือ หรือบางคนก็เป็นนักธุรกิจ Start-up ที่ประสบความสำเร็จในการขายธุรกิจของตนให้กับบริษัทชั้นนำจนร่ำรวยเพียงพอที่จะเกษียณเมื่อไหร่ก็ได้

นอกจากนี้ การเลิกทำงานให้เร็วที่สุดนั้น รายจ่ายที่เดิมเคยคาดว่าจะพอ อาจไม่เพียงพอก็เป็นไปได้ เพราะเรากำลังพูดถึงการเกษียณที่อายุ 40 ปี และอาจต้องใช้ชีวิตต่อไปจนอายุ 90 ปี (ซึ่งอะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ในช่วงเวลาที่ยาวนานเช่นนั้น)

แต่การสร้างนิสัยการออมย่อมเป็นเรื่องที่ดี กว่าไม่ออม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อรัฐบาลเปิดโอกาสให้แล้ว เหล่า Millennial ทั้งหลาย ก็ควรจะเริ่มต้นให้โอกาสตนเองที่จะ F.I. เสียตั้งแต่วันนี้ แล้วค่อยไปตัดสินใจว่าจะ R.E. หรือไม่ ก็ยังไม่สาย