แลไปข้างหน้ากับ การเจรจา COP 25

แลไปข้างหน้ากับ การเจรจา COP 25

การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 25

(United Nations Framework Conventionon Climate Change, the 25th Session o fthe Conference of the Parties: UNFCCCCOP 25) ที่เลื่อนการจัดงานจากประเทศชิลี สู่เมืองแมดริด ประเทศสเปน มีข้อเสนอในกลุ่มประเทศอาเซียนที่สำคัญต่อที่ประชุมUNFCCCCOP25 ตามความเหมาะสมในฐานะที่ประเทศไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนปี 2562 นั้นมีดังนี้

1.เน้นย้ำความมุ่งมั่นของรัฐภาคีต่อกรอบสัญญาฯ ภายใต้การดำเนินการที่ผ่านมาในด้านต่างๆ ของภูมิภาคอาเซียน

2.เน้นย้ำผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐภาคีสนับสนุนวิทยาศาสตร์และกิจกรรมด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

3.ตอบสนองต่อข้อตัดสินใจที่รับรองในที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 24 และที่ประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีสสมัยที่ 1 ที่เมืองคาโตวิเซสาธารณรัฐโปแลนด์และเรียกร้องให้เร่งดำเนินการเพื่อหาข้อยุติในการเจรจาในประเด็นต่างๆ เช่น กรอบระยะเวลาของ NDCs

4.ตระหนักถึงความสำคัญของการยกระดับการดำเนินงานก่อนปี 2563 และข้อกำหนดกลไกการดำเนินงานของรัฐภาคีประเทศพัฒนาแล้ว พร้อมทั้งเรียกร้องให้ภาคีประเทศที่พัฒนาแล้ว เติมเต็มความมุ่งมั่นด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เติมเต็มและยกระดับความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนทางการเงินจำนวน 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี ภายในปี 2563 เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านการปรับตัวและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแก่ประเทศสมาชิกอาเซียน และรัฐภาคีประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ และให้สัตยาบันต่อข้อตกลงโดฮา ของพิธีสารเกียวโต

5.เน้นย้ำถึงความจำเป็นของการเสริมสร้างการสนับสนุนประเทศสมาชิกอาเซียน และรัฐภาคีประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงและการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศพร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐภาคีดำเนินงานตามข้อตกลงความร่วมมือด้านการเกษตรโคโรนีเวีย

6.เน้นย้ำความจำเป็นของการสนับสนุนและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้านสภาพภูมิอากาศ การสนับสนุนด้านการพัฒนาและถ่ายทอดทางเทคโนโลยีและการเสริมสร้างศักยภาพต่อประเทศสมาชิกอาเซียนและรัฐภาคีประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ

จากทั้ง 6 ข้อจะเห็นได้ว่าไม่ได้มีความแปลกใหม่ในการพัฒนาข้อเสนอ หรือคำยินยอมที่จะหามาตรการใหม่ๆ ในการปรับตัวอย่างเป็นรูปธรรม จะเห็นว่าหลายข้อเสนอเป็นการรอรับการให้ทั้งทุน องค์ความรู้ เทคโนโลยีจากภายนอก คำถามจากหลายภาคส่วนที่มองการประชุม COP 25 น่าจะเป็นเวทีที่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของแต่ละประเทศที่ผ่านมา ข้อเสนอใหม่ๆ ที่มีมาตรการที่เป็นรูปธรรมมากกว่าเรียกร้องทุนในการสนับสนุน หรือรอการถ่ายทอดเทคโนโลยี วันนี้หลายประเทศหันมาดูเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วจากการพัฒนาผลการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ไม่ว่าการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก การสูญพันธุ์ของพืช ของสัตว์ที่ถูกกระแสของการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมภูมิอากาศอย่างรุนแรง การเกิดภัยพิบัติที่มีความถี่บ่อยครั้งและรุนแรง

ในบทความนี้อยากเสนอให้ทบทวนบทบาทของประเทศไทยต่อการประชุม COP 25 ที่จะถึงให้เห็นภาวะผู้นำ ทั้งจากกลุ่มอาเซียนที่ต้องการเห็นรูปธรรมของมาตรการต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความร่วมมือสร้างกระแสความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในภาคส่วนต่างๆ เช่น การลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และหาพลังงานทดแทนอย่างเป็นรูปธรรม การลดการบริโภคและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตรอย่างมีนัยสำคัญ จำเป็นต้องมีการประเมิน และชี้ให้เห็นผลการกระทำที่เป็นรูปธรรม มีตัวเลขชี้วัดความสำเร็จ ทันต่อสถานการณ์การพัฒนาที่มีอยู่ รวมทั้งมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ที่ไม่ได้หมายถึงการซื้อขายคาร์บอนเครดิต และเป็นมาตรการจูงใจต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตในรูปแบบต่างๆ การถ่ายทอดเทคโนโลยี จึงจำเป็นต้องหาเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมสำหรับการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง โดยทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมและแสดงให้เห็นความร่วมมืออย่างจริงจัง ทั้งระดับนโยบายสู่การปฏิบัติ

วันนี้หากจะเห็นว่า การไม่ทำอะไรเลย การละเลยเพิกเฉย หรือถอนตัวจากข้อตกลงต่างๆ ของประเทศมหาอำนาจที่แสดงออกมาในขณะนี้ ประเทศทั่วโลกควรแสดงมาตรการประณามอย่างเป็นรูปธรรมและมีมาตรการที่ชัดเจนต่อการกระทำดังกล่าว

ที่สำคัญประเทศไทยควรเป็นแบบอย่างในการพัฒนารูปแบบมาตรการอย่างเป็นรูปธรรม และแสดงจุดยืนที่เหมาะสมสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอย่างจริงจัง เพื่อเป็นตัวอย่างให้่กับประเทศต่างๆ นำไปดำเนินการต่อไป

โดย... 

รัฐ เรืองโชติวิทย์

คณะกรรมการรับรองการลดหรือหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก