โลกทิ้งขว้างอาหารดีๆ มากเหลือเกิน

โลกทิ้งขว้างอาหารดีๆ มากเหลือเกิน

มาช่วยกันลดการสูญเสียอาหารโดยไม่จำเป็น !

ในแต่ละวัน ทั่วโลกมีอาหารถูกทิ้งราว 30% ของจำนวนที่ผลิตมาเพื่อให้มนุษย์บริโภค คิดเป็นปริมาณ 1,300 ล้านตันต่อปี คิดเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ตามคำจำกัดความขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) การสูญเสียอาหารมี 2 ลักษณะคือ Food Loss และ Food Waste โดย Food Loss เป็นการสูญเสียในขั้นตอนก่อนได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์อาหารขั้นสุดท้าย เช่น ในขั้นตอนการผลิต การเก็บเกี่ยว การแปรรูป เช่น สูญเสียขณะใช้เครื่องจักรเก็บเกี่ยว สูญเสียระหว่างการขนส่ง ขณะที่ Food Waste คือการที่อาหารถูกทิ้งให้เสียหรือหมดอายุ ทิ้งเพราะบริโภคไม่หมด ทิ้งจากการเข้าใจผิดว่าไม่สามารถบริโภคได้ เช่น รับประทานเหลือ อาหารในชั้นวางสินค้าที่ไม่สวยจึงไม่มีคนซื้อ อาหารที่ยังไม่เสียแต่ป้ายบนบรรจุภัณฑ์เขียนว่าหมดอายุ

ในแง่เศรษฐศาสตร์การป้องกันการสูญเสียหรือทิ้งอาหารโดยไม่จำเป็น เป็นเรื่องที่ควรกระทำ เพราะต้นทุนในการป้องกันต่ำกว่าต้นทุนที่ใช้ในการผลิตอาหารใหม่มากนัก การทิ้งอาหารสะท้อนความไม่มีประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้แรงงานหรือปัจจัยการผลิตที่เปล่าประโยชน์ ตลอดจนไม่สอดคล้องกับภาวะการณ์ที่ทั่วโลกยังมีผู้อดอยากหิวโหยอยู่ด้วยซ้ำ

แต่ละประเทศมีลักษณะปัญหาเฉพาะตัวต่อกรณีการสูญเสียหรือทิ้งอาหาร เช่น ในประเทศรายได้น้อย การสูญเสียส่วนใหญ่อยู่ในระหว่างกระบวนการผลิต การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว และการแปรรูป ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการจัดการและข้อจำกัดทางเทคโนโลยี ขณะที่หากเป็นประเทศรายได้ขั้นกลางหรือขั้นสูง ความสิ้นเปลืองจะอยู่ที่กระบวนการกระจายสินค้าและการบริโภค หรือแม้กระทั่งจากนโยบายการอุดหนุนโดยรัฐที่ทำให้มีการเพาะปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์บางประเภทมากเกินไป ไม่สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริง

ตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ละปีคนอเมริกันทิ้งอาหารราว 40 ล้านตัน เพิ่มจากทศวรรษ 1970 ถึง 70% ปริมาณอาหารที่ทิ้ง หากนำไปเลี้ยงผู้คน สามารถเลี้ยงได้ถึง 1 พันล้านคน หรืออย่างผักผลไม้จากฟาร์มในสหรัฐฯ มีถึง 20% ที่ไม่ถูกนำไปจำหน่าย เพียงเพราะขนาด รูปลักษณ์ไม่สวยงาม ไม่ได้มาตรฐาน ความสิ้นเปลืองจาการทิ้งอาหารเหล่านี้นอกจากมีต้นทุนในแง่ต้นทุนการผลิตที่มองเห็นง่าย ยังมีต้นทุนแฝงอื่นๆ เช่น ต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม อาหารที่ถูกทิ้งนี้ สร้างภาระก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่ารถยนต์ 37 ล้านคัน ทั้งนี้ขณะที่อาหารในสหรัฐฯ ถูกทิ้งจำนวนมาก ยังมีคนอเมริกัน 40 ล้านคนอยู่ในภาวะอดอยาก

รัฐบาลแต่ละประเทศสามารถมีส่วนในการลดความสูญเสียของอาหารได้ เช่น รัฐบาลฝรั่งเศสในปี 2016 ออกกฎหมายกำหนดให้ร้านค้าปลีกที่มีขนาด 400 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องบริจาคอาหารที่เหลือจากการจำหน่าย ไม่ให้นำไปทิ้ง กฎหมายระบุโทษแก่ผู้ฝ่าฝืน คิดค่าปรับสูงถึง 3,750 ยูโร หรือคิดเป็นเงินไทยแสนกว่าบาท ขณะที่บริษัทที่ร่วมมือสามารถนำมูลค่าอาหารที่บริจาคส่วนหนึ่งมาลดหย่อนภาษี เช่นเดียวกับประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีนโยบายให้ผู้ค้าปลีกที่บริจาคอาหารให้สาธารณะสามารถนำมูลค่าอาหารที่บริจาคมาลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน

สำหรับประเทศไทย แต่ละวันคนไทยทิ้งขยะอาหารมากถึง 300-500 ตัน คิดเป็นมากกว่าครึ่งหนึ่งของขยะมูลฝอยทั้งหมด หากภาคธุรกิจไทยหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถลดการสูญเสียอาหารลงได้ จะเกิดประโยชน์หลายประการ ประการแรก ลดการสูญเสียทรัพยากรที่ไม่จำเป็น ช่วยให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ประการที่สอง หากเปลี่ยนจากการทิ้ง ไปสู่การบริจาคให้แก่ผู้ขาดแคลน ก็ช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงอาหารคุณภาพดีมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ลดรายจ่ายบางส่วนลงได้ ประการที่สาม ยังช่วยส่งเสริมบรรยากาศความเห็นอกเห็นใจ หรือการเกื้อกูลในสังคม ระหว่างภาคธุรกิจกับผู้มีรายได้น้อย

ทั้งนี้รัฐบาลอาจออกมาตรการสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ เพื่อจูงใจให้ผู้ค้าปลีกลดการทิ้งอาหาร เปลี่ยนเป็นนำมาบริจาคแทน ดังเช่นที่รัฐบาลฝรั่งเศสหรือรัฐบาลสหรัฐอเมริกาทำ นอกจากนี้การให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ผู้ผลิตและผู้บริโภค ทั้งในการเก็บรักษาและการบริโภคอาหาร ตลอดจนวิกฤตปัญหาขยะอาหารที่มีอยู่ ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยให้ทุกคนตระหนักในบทบาทของตัวเองในการมีส่วนแก้ไขปัญหานี้

มาช่วยกันลดการสูญเสียอาหารโดยไม่จำเป็นกันครับ จะเกิดประโยชน์มหาศาลทั้งต่อคน สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ทั้งช่วยรับมือปัญหาขาดแคลนอาหารในอนาคตจากจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น และช่วยลดปัญหาโลกร้อนด้วยครับ