พัฒนาการของระบบทุนนิยมและกลุ่มทุนไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน (1)

พัฒนาการของระบบทุนนิยมและกลุ่มทุนไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน (1)

เรากำลังเดินหน้าเปิดกว้างตอบรับการลงทุนต่างชาติมากขึ้นผ่านโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) ด้วยเงื่อนไขพิเศษสุดๆ

 

ช่วงเวลาอนาคตข้างหน้านี้ เราก็จะได้เห็นการย้ายฐานการผลิตของกลุ่มทุนจีน กลุ่มทุนข้ามชาติต่างๆ ที่ลงทุนในจีน มายัง ประเทศในแถบอาเซียน รวมทั้งไทยมากขึ้น โครงสร้างของระบบทุนนิยมไทยจะเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป สภาวะดังกล่าวย่อมเป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาสของกลุ่มทุนไทย ผลกระทบที่มีต่อทุนขนาดใหญ่ ทุน SME ทุนเล็กทุนน้อยย่อมแตกต่างกันไปเช่นเดียวกับกลุ่มต่างๆในสังคม ขึ้นอยู่กับการปรับตัว การบูรณาการร่วมมือ การยกระดับการแข่งขันและสถานะทางยุทธศาสตร์หรือเป้าหมายทางกลยุทธ์อย่างไร 

ปัญหาอาจมิได้อยู่ที่ภาคธุรกิจเอกชน อาจอยู่ที่ภาครัฐ(ภาคราชการและภาคการเมือง)มากกว่า ระบบการเมือง กฎหมาย วัฒนธรรม จิตสำนึกวิธีคิดที่ล้าหลังย่อมไม่เท่าทันและไม่สามารถรับมือความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ในอนาคต และในที่สุด อาจเกิดความขัดแย้งใหญ่โตในระยะเปลี่ยนผ่าน คือ การต่อสู้ระหว่างฝ่ายที่พยายามรักษาสถานภาพเดิมกับฝ่ายที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง เหมือนดั่งที่ อันโตนิโอ กรัมชี (Antonio Gramsci) กล่าวไว้ว่า “วิกฤตการณ์ย่อมก่อตัวขึ้นเมื่อสิ่งเก่ากำลังจะตายและสิ่งใหม่ยังไม่สามารถถือกำเนิด ในช่วงว่างนี้จะมีอาการวิปริตผิดเพี้ยนมากมายหลากหลายแบบปรากฎออกมา” การปฏิรูปจะช่วยทำให้ความขัดแย้งรุนแรงและวิกฤตการณ์เบาบางลงด้วยกระบวนการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป ด้วยการหารือเจรจาต่อรองกัน กระบวนการดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดเมื่ออยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เพราะสามารถดึงการมีส่วนร่วมของคนจำนวนมากที่สุดได้

ย้อนกลับไปสำรวจความเป็นจริงในอดีต ทำให้เราได้รับ “บทเรียน” ที่ต้องนำมาขบคิดต่อเพื่ออนาคตร่วมกันของคนไทย เมื่อเศรษฐกิจไทยพัฒนาสู่เศรษฐกิจเงินตรามากขึ้นตามลำดับ เกิดการก่อตัวและขยายตัวของระบบเศรษฐกิจแบบตลาด การสะสมทุนก็มีการเติบโตเพิ่มขึ้นท่ามกลางการขยายตัวและการเติบโตทางการค้าหลังศึกสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านสงบลง มีการค้าทางเรือกับต่างประเทศที่เราเรียกว่า การค้าสำเภา มีการปลูกพืชเศรษฐกิจ มีอุตสาหกรรมเหมืองแร่ อุตสาหกรรมน้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเรือสำเภาเกิดขึ้น กลุ่มทุนเจ้านายและขุนนาง กลุ่มทุนตะวันตก และกลุ่มทุนจีนอพยพต่างลงทุนประกอบกิจการโดยพึ่งพิงและแบ่งปันผลประโยชน์กัน กลุ่มทุนรุ่นบุกเบิกของระบบทุนนิยมสยามหรือไทยมีพลวัตไปตามปัจจัยและสภาพแวดล้อมแห่งยุคสมัยและมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง

เศรษฐกิจของสยามได้ถูกผนวกรวมเข้ากับเศรษฐกิจเอเชีย ภายใต้อำนาจเจ้าอาณานิคมจักรวรรดินิยมตะวันตกมากขึ้นตามลำดับหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวเพื่อส่งออกและป่าไม้สักภาคเหนือ การทำเหมืองแร่เพื่อส่งออกในภาคใต้ อังกฤษมีบทบาทอย่างสำคัญ ข้าวส่งออกมีมูลค่าสูงถึง 3 ใน 4 ของสินค้าส่งออกทั้งหมด ข้าวส่งออกส่วนใหญ่ก็ถูกขนถ่ายไปยังเมืองท่าของอังกฤษ ฮ่องกง และสิงคโปร์ เมื่อกิจการส่งออกข้าวและกิจการไม้ลงหลักปักฐาน ช่วงทศวรรษ 2420 ธุรกิจอื่นที่เกี่ยวโยง เช่น ธนาคาร ธุรกิจค้าปลีก กิจการรับบริหารจัดการ และธุรกิจบริการอื่นๆของชาติตะวันตกก็กรูกันเข้ามาให้บริการกับชุมชนต่างชาติที่เติบโตขึ้นและขายสินค้าต่างๆ เพื่อสนองความต้องการสินค้าจากเมืองนอกที่ชนชั้นนำและราชสำนักนิยม กรุงเทพเป็นเมืองที่คนหลากหลายเชื้อชาติเข้ามาทำกิจการธุรกิจการค้าต่างๆ ความเป็นสากลและนานาชาติของกรุงเทพฯ นี้สะท้อนว่า สยามกำลังเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจแบบอาณานิคมมากขึ้นทุกที แม้นสยามไม่ได้เป็นเมืองขึ้นแต่ก็อยู่ในสภาวะของประเทศที่มีเอกราชไม่สมบูรณ์ทั้งอธิปไตยทางการศาลและเศรษฐกิจ รัฐบาลของรัชกาลที่ห้าต่อเนื่องมาถึงรัชกาลที่เจ็ด ได้เปิดโอกาสให้กลุ่มทุนต่างชาติเข้ามาดำเนินกิจการต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่ห้าได้มีการผนวกรวมดินแดนต่างๆโดยให้กรุงเทพเป็นศูนย์กลาง การปฏิรูปในสมัยรัชกาลที่ห้าได้ทำให้ระบบทุนนิยมขยายตัวมากยิ่งขึ้น มีการให้สัมปทานทุนต่างชาติในกิจการต่างๆ เช่น สัมปทานป่าไม่ สัมปทานเหมืองแร่ เป็นต้น

การยกเลิกระบบทาสและระบบแรงงานเกณฑ์ของไพร่ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นสิ่งที่ตอบสนองต่อการผลิตในระบบทุนนิยมที่ต้องการแรงงานรับจ้างเสรี การปฏิรูประบบการศึกษาทำให้แรงงานรับจ้างเข้าสู่ตลาดแรงงานได้รับการศึกษาและมีทักษะในการทำงานที่ดีขึ้น เป็นผลดีต่อระบบการผลิตในระบบทุนนิยม การพัฒนาระบบเงินตรา ระบบกฎหมาย และระบบกรรมสิทธิ์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ห้าต่อเนื่องมาถึงรัชกาลที่เจ็ด ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสยามนั้นไม่เป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการของระบบทุนนิยมในสยามทั้งยังเกื้อหนุนต่อการขยายตัวของทุนนิยม ขณะที่ราชสำนักและเจ้านายเองก็ได้ทำกิจการธุรกิจต่างๆร่วมกับทุนต่างชาติและทุนไทยเชื้อสายจีน นอกจากนี้ ราชสำนักยังจัดตั้ง แบงก์สยามกัมมาจล (ธนาคารไทยพาณิชย์) บริษัทปูนซิเมนต์ เป็นต้น พัฒนาการของทุนไทยต้องพิจารณาร่วมกับโครงสร้างการเมืองไทยด้วย กลุ่มทุนทั้งหมดก่อนยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยล้วนสะสมทุนผ่านการยึดโยงกับอำนาจของรัฐ แสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจและแสวงหาผลประโยชน์จากความไม่มีประสิทธิภาพของตลาดในระดับเข้มข้น ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเชิงอุปถัมภ์และการอาศัยอำนาจรัฐเพื่อแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจยังคงดำเนินต่อไปภายใต้ 87 ปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองและอ่อนตัวลงบ้างในยุคสมัยที่บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย มีเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพของสื่อมวลชน มีระบบตรวจสอบถ่วงดุลที่ดี

หลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง จนถึงก่อนการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยและการดำเนินนโยบายชาตินิยมทางเศรษฐกิจ การลดกำแพงภาษีและการเปิดเสรีภายใต้สนธิสัญญาเบาว์ริงได้ทำลายการสะสมทุนของกลุ่มท้องถิ่นและทำให้กลุ่มท้องถิ่นอ่อนแอลงและบางส่วนล่มสลาย ทุนท้องถิ่นสัญชาติไทยมีขนาดเล็ก มีเพียงทุนศักดินาในฐานะทุนที่มีอำนาจรัฐหนุนหลังเท่านั้นที่เติบใหญ่ ก่อนการอภิวัฒน์ 2475 จึงไม่มีทุนขนาดใหญ่ที่เป็นทุนท้องถิ่น ทุนเจ้าภาษีนายอากรที่เคยมีบทบาทสมัยรัชกาลที่ 4 ก็อ่อนกำลงลงจากรวมศูนย์อำนาจในสมัยรัชกาลที่ 5  ทุนเจ้าภาษีนายอากรกลับมามีบทบาทอีกครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จากการผูกขาดการค้าข้าว เช่น ตระกูลหวั่งหลี ตระกูลเอี่ยมสุรีย์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกลุ่มตระกูลล่ำซำที่ทำธุรกิจสัมปทานป่าไม้ทางภาคเหนือ