ประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับสุขภาพ (1)

ประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับสุขภาพ (1)

ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้สุขภาพไม่ดีนั้นมีอยู่ 2 ปัจจัยหลักคือ ความแก่และความอ้วน

ปัจจุบันการเป็นโรคและไม่สบายที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อโรค(หรือที่เรียกว่าโรคติดต่อคือ communicable disease)นั้นก็ยังมีอยู่ แต่คิดเป็นประมาณ 20-30% ของการเสียชีวิตทั้งหมด และส่วนใหญ่จะมียารักษาโรคดังกล่าวได้เกือบทั้งหมด ทั้งในประเทศไทยและในประเทศพัฒนาแล้ว ปัจจุบันคนเสียชีวิตส่วนใหญ่จากการเป็นโรคที่ไม่ติดต่อ(non-communicable diseases) เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคสมองเสื่อม เป็นต้น นอกจากนั้นโรคดังกล่าวยังทำลายสุขภาพและทำลายคุณภาพชีวิตในระยะยาวอีกด้วย ดังนั้นการประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับสุขภาพจึงต้องพิจารณาเรื่องของโรคที่ไม่ติดต่อเป็นหลัก

ผมได้พบข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนประชากรที่เข้าไปรับการรักษาพยาบาลภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (ซึ่งเดิมทีเคยชื่อว่า 30 บาทรักษาทุกโรคที่ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2001) โดยตัวเลขจำนวนผู้ป่วยจากสถิติหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของสำนักงานสถิติแห่งชาตินั้น มีการให้ข้อมูลอย่างละเอียด แต่ผมได้นำเอาเฉพาะโรคที่คนไทยเป็นกันเป็นจำนวนมากและนำมาเปรียบเทียบเฉพาะปี 2013 กับปี 2017 ดังที่ปรากฏในตารางข้างล่างนี้

ประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับสุขภาพ (1)

ผมต้องขออภัยที่ให้ตัวเลขสถิติมากมาย แต่อยากให้เห็นแนวโน้มที่ผมคิดว่ามีความสำคัญอย่างมากในการรับรู้ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับคนไทยที่นับวันจะแก่ตัวลงและจะอ้วนมากขึ้นว่า ความเสี่ยง (โดยประเมินจากสถิติข้างต้น) ในการเป็นโรคต่างๆ นั้นมีมากมีน้อยในโรคประเภทใดบ้าง ซึ่งหากพิจารณาจากตัวเลขในตารางก็อาจสรุปได้ดังนี้

1.โดยรวมนั้นคนไทยเป็นโรคกันมากขึ้น เพราะในช่วง 2013 ถึง 2017 นั้นมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 9.5% ในขณะที่ประชากรเพิ่มขึ้นเพียง 2.1% ส่วนหนึ่งอาจอ้างได้ว่ามีผู้เข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขของรัฐเพิ่มขึ้นแต่ไม่น่าจะมากนักเพราะในปี 2013 นั้นระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 10 ปีแล้ว

2.จำนวนผู้ป่วยส่วนใหญ่ดูเสมือนว่าจะเกิดจากอาหารเป็นพิษและอีกส่วนหนึ่งที่มีจำนวนมากคือการป่วยที่เกี่ยวข้องกับการคลอดบุตรซึ่งในส่วนหลังนี้อัตราการเพิ่มไม่สูงมากนักและดูเสมือนว่าจะไม่มีประเด็นให้น่าเป็นห่วงมากนัก แต่ย่อมจะสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้เพื่อให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นน้อยที่สุด แม้กระทั่งโรค HIV ที่น่าตกใจและกลัวกันมากที่สุดก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาถึง 12.2% นอกจากนั้นจำนวนผู้ป่วยก็น้อยกว่าโรคอื่นๆ หลายโรค ดังนั้นความเร่งด่วนในการจัดสรรทรัพยากรที่จำกัดด้านสาธารณะสุขน่าจะดำเนินไปสู่การป่วยโรคอื่นๆ มากกว่า

3.หากดูจากอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยก็คงจะต้องให้ความสำคัญกับการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ (เพิ่มขึ้น 58.1%) โรคอ้วน (เพิ่มขึ้น 53.4%) และไตวาย (เพิ่มขึ้น 41.7%) แต่โรคที่มีผู้ป่วยเป็นจำนวนมากเป็นเกณฑ์อยู่แล้วและมีอัตราการเพิ่มสูงพร้อมกันไปด้วยคือโรคความดันโลหิตสูงซึ่งมีผู้ป่วยมากถึง 1.03 ล้านคนในปี 2013 และเพิ่มขึ้น 30.9% เป็น 1.354 ล้านคนในปี 2017 โรคนี้และโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ โรคหัวใจ โรคเบาหวานและโรคที่เกี่ยวกับสมองปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 20% ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

ดังนั้นการดูแลสุขภาพของตัวเองก็คงจะต้องระมัดระวังเกี่ยวกับโรคดังกล่าวมากกว่าโรค HIV หรือโรคถุงลมโป่งพอง ซึ่งในส่วนของถุงลงโป่งพองนั้น หากไม่สูบบุหรี่ก็จะลดความเสี่ยงลงไปได้อย่างมากโดยทันทีครับ