บางประเด็นจากผู้ได้รับรางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ 2562

บางประเด็นจากผู้ได้รับรางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ 2562

คณะกรรมการรางวัลโนเบลเพิ่งประกาศชื่อของผู้ได้รับรางวัลด้านเศรษฐศาสตร์ปีนี้ โดยมีผู้ได้รับร่วมกัน 3 คน

คนหนึ่งเป็นชายชาวอเมริกันโดยกำเนิด 2 คนเป็นชาวอเมริกันโดยการเปลี่ยนสัญชาติ คนหนึ่งเป็นชายเกิดในอินเดียและอีกคนเป็นหญิงเกิดในฝรั่งเศส การได้รับรางวัลของ 3 คนนี้ชี้ชัดอีกครั้งหนึ่งว่า ผู้ได้รับรางวัลเป็นชาวอเมริกันเป็นส่วนใหญ่ โดยส่วนหนึ่งเกิดในต่างประเทศและอพยพเข้าไปตั้งหลักแหล่งในอเมริกา ที่เป็นเช่นนั้นเพราะทั้งที่อเมริกามีข้อน่าท้วงติงมากมาย แต่เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติมากกว่าสังคมอื่น

นักเศรษฐศาสตร์หญิงมีอายุเพียง 46 ปีนับว่าเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลด้านเศรษฐศาสตร์ที่อายุน้อยที่สุด และเป็นหญิงคนที่ 2 เท่านั้นที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ ในการให้สัมภาษณ์หลังได้รับการประกาศชื่อ สิ่งหนึ่งที่เธอพูดจึงเป็นเรื่องการสนับสนุนสตรีให้มีโอกาสทัดเทียมกับฝ่ายชาย

นักเศรษฐศาสตร์ 3 คนนี้มีผลงานโดดเด่นมากมาย ส่วนที่ทำให้ได้รับรางวัลโนเบลเป็นการบุกเบิกการใช้วิธีทดลองในสนามจริงเพื่อแก้ความยากจนของชาวโลก เท่าที่ผ่านมาเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมักเสนอนโยบาย หรือวิธีแก้ปัญหาความยากจนในประเทศกำลังพัฒนาจากทฤษฎี จินตนาการและการวิจัยในมหาวิทยาลัยของประเทศก้าวหน้า จริงอยู่ทั้ง 3 คนนี้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในอเมริกา แต่พวกเขามองว่าวิธีแก้ปัญหาควรจะได้มาจากการเข้าไปรับฟังมุมมองจากปากของคนจนโดยตรงและการทดลองด้วยกระบวนการอันถูกต้องตามหลักวิชาสถิติในสนามจริง ฉะนั้น รางวัลโนเบลของเขาจึงได้มาบนฐานของการเข้าไปคลุกคลีกับชุมชนคนจนและการทดลองในอินเดียและแอฟริกา

เนื่องจากเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดความยากจนมิได้มาจากด้านเศรษฐศาสตร์เท่านั้น หากยังมาจากด้านอื่นอีกด้วย ฉะนั้น การทดลองของพวกเขาจึงครอบคลุมหลายด้าน เช่น ในด้านการศึกษา การทดลองหนึ่งงพบว่าครูจะใส่ใจในการสอนมากขึ้นเมื่อถูกจ้างด้วยสัญญาระยะสั้นโดยสัญญานั้นจะได้รับการต่ออายุหรือไม่ขึ้นอยู่กับผลการเรียนของนักเรียนที่ครูสอน เรื่องนี้ถ้านำมาใช้ในเมืองไทยคงนำไปสู่วิกฤติใหญ่ทั่วประเทศ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าไม่น่านำมาทดลอง อีกเรื่องหนึ่งพบว่า ผลการเรียนของนักเรียนดีขึ้นเมื่อโรงเรียนจัดสอนพิเศษให้เด็กที่เรียนไม่ทันในห้องเรียนจนพวกเขาเข้าใจสาระเท่าเทียมกับเด็กอื่น เรื่องนี้ไม่ได้หมายถึงการมุ่งกวดวิชาแบบบ้าคลั่งดังที่ทำกันในเมืองไทยมาหลายสิบปี

นักเศรษฐศาสตร์ทั้ง 3 ผลิตผลงานด้านต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง อีกไม่นานจะมีการพิมพ์หนังสือเขียนร่วมกันโดยผู้ที่เกิดในอินเดียและในฝรั่งเศสชื่อ Good Economics for Hard Times จากบทความของ 2 คนนี้พอจะอนุมานได้ว่า หนึ่งในประเด็นสำคัญในหนังสือจะเกี่ยวกับการคำนวณค่าของผลผลิต (จีดีพี) และสวัสดิการ คอลัมน์นี้พูดถึงหลายครั้งเกี่ยวกับความบกพร่องของการคำนวณ เช่น การสูบบุหรี่ทำให้จีดีพีขยายตัวซึ่งเป็นสิ่งพึงปรารถนา เช่นเดียวกับผลร้ายจากการสูบบุหรี่ที่ทำให้ต้องรักษาโรคต่าง ๆ เพิ่มขึ้น หรือในกรณีที่ไม่ตีค่าให้แก่น้ำนมแม่ แต่ตีค่าให้แก่นมวัวที่ใช้เลี้ยงทารก การทำอาหารเองกับการซื้ออาหารถุงก็เช่นกัน การให้ความสำคัญแก่เประเด็นนี้โดยนักเศรษฐศาสตร์ชั้นรางวัลโนเบลอีกครั้งน่าจะทำให้การแก้ไขข้อบกพร่องของการคำนวณจีดีพีเกิดเร็วขึ้น

ส่วนนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันโดยกำเนิดนั้นก็มีผลงานหลากหลายด้าน รวมทั้งการออกนำและสนับสนุนการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาโดยตรง หนึ่งในหลายโครงการของเขาคือ การก่อตั้งและขับเคลื่อนโครงการ WorldTeach ซึ่งส่งนักศึกษาและบัณฑิตใหม่ไปเป็นครูอาสาในประเทศกำลังพัฒนา เขามองว่าจิตอาสาและการกุศลมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาความยากจน เขาทำจริง มิใช่เพียงใช้วาทกรรม หรือสร้างภาพ

ในการแก้ปัญหาความยากจนบนฐานของงานในสนามของทั้ง 3 คนนี้ ข้อคิดสำคัญยิ่งข้อหนึ่งที่เกิดขึ้นได้แก่อุปสรรคใหญ่มิใช่ตัวความยากจน หากเป็นอวิชชา ความเฉื่อยชาและคตินิยม แน่ละ 3 สิ่งนี้มิได้มีอยู่เฉพาะในหมู่คนจนเท่านั้น หากยังมีอยู่ในชนทุกชั้นรวมทั้งในหมู่นักวิชาการและผู้กำนโยบายของรัฐอีกด้วย