โลกที่แตกเป็นสองห่วงโซ่

โลกที่แตกเป็นสองห่วงโซ่

ช่วงที่ผ่านมา หลายคนเข้ามาสอบถามความเห็นของผมเรื่องสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ทุกคนอยากรู้ว่า ตกลงใครจะชนะในสงครามกันแน่?

แต่วันนี้ผมอยากชวนเพื่อนๆ มองข้ามไปอีกช็อต โดยอยากชี้ให้ทุกคนเห็นว่า การค้าโลกจะไม่มีวันกลับมาเหมือนเดิมอีกแล้ว และเราทุกคนต้องพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นยุคโลกาภิวัฒน์เต็มตัว นั่นก็คือ การค้าทั้งโลกเชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะสองแกนสำคัญคือจีนและสหรัฐฯ ต่างเชื่อมโยงกันมาก ทุนจากสหรัฐฯ เข้ามาผลิตในจีน ส่งขายไปยังตลาดโลก

ในทางวิชาการ จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่าห่วงโซ่อุปทานโลก (Global Supply Chain) กล่าวคือ แต่ละประเทศผลิตของตามความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของตน สหรัฐฯ มีความได้เปรียบที่ทุน ส่วนจีนมีความได้เปรียบที่แรงงาน ประเทศอื่นๆ เองก็เข้าเป็นส่วนหนึ่งที่เชื่อมโยงกับสองประเทศนี้ (ตามความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของแต่ละประเทศ) และเกิดการค้าขายเชื่อมกันทั้งโลก

ตัวอย่างเช่น กว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่ง อาจได้ทุนมาจากประเทศหนึ่ง ได้ชิ้นส่วนหนึ่งมาจากอีกประเทศ ได้อีกชิ้นส่วนจากอีกประเทศ แล้วมาประกอบขึ้นที่อีกประเทศ เพื่อส่งไปขายยังอีกประเทศ นี่แหละครับคือห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมต่อกันทั้งโลก เป็นโลกใบเดียว ห่วงโซ่เดียว แต่ละภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างรู้ว่าห่วงโซ่นั้นหน้าตาเป็นอย่างไร

เราค้าขายกันอย่างนี้มา 20 ปี จนสามารถผลิตของได้ด้วยต้นทุนที่ถูก มีประสิทธิภาพ แน่นอนว่าในเกมนี้ มีทั้งผู้ชนะ และผู้แพ้ แต่อย่างน้อย ทุกคนรู้ว่าตนรับผลิตอะไร ขายใคร ทุกคนรู้ว่าตนเป็นส่วนไหนในห่วงโซ่อุปทานของสินค้าต่างๆ

แต่วันนี้สิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือ สงครามการค้าทำให้เกิดการเขย่าห่วงโซ่อุปทานโลกครั้งใหญ่ และโลกการค้าจะไม่มีวันกลับมาเหมือนเดิมอีกต่อไป

เมื่อสหรัฐฯ ขึ้นกำแพงภาษีจีน (และขู่จะขึ้นภาษีอีกหลายประเทศ) จึงทำให้ปั่นป่วนกันทั้งโลก ธุรกิจต่างๆ ต้องมานั่งวางแผนกันใหม่ว่าจะวางห่วงโซ่อุปทานการผลิตและการขายกันอย่างไร จึงจะหลีกเลี่ยงกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ได้

เราจึงเห็นธุรกิจในจีนเริ่มย้ายออกจากจีนมาหาแหล่งผลิตอื่น ส่วนธุรกิจที่ยังผลิตในจีนก็เริ่มสนใจจะบุกตลาดผู้บริโภคอื่น แทนที่จะส่งไปขายสหรัฐฯ

ผมได้แนะนำนักธุรกิจหลายท่านว่า สิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้ก็คือ การตื่นตัวกับเส้นทางการค้าที่กำลังตายและที่กำลังก่อร่างใหม่ เราต้องเริ่มถามว่า ในธุรกิจหรือสินค้าของเรา เส้นทางการค้าและห่วงโซ่การผลิตกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เรากำลังเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตเดิมที่ส่วนอื่นๆ ในห่วงโซ่นั้นกำลังถูกเขย่าหรือไม่และถูกเขย่าอย่างไร สุดท้ายห่วงโซ่ที่กำลังเกิดใหม่จะกระทบหรือสร้างโอกาสใหม่ให้เราได้อย่างไร

เมื่อทรัมป์เจอกับสีจิ้นผิงครั้งล่าสุดในการประชุม G20 ที่โอซาก้า ข่าวออกมาเหมือนกับว่าสงครามการค้าระหว่างสองประเทศพักรบแล้ว ทั้งสองฝ่ายตกลงกลับมานั่งโต๊ะเจรจา คนที่ยังมองโลกในแง่เดิมเห็นว่า ต่อไปในอนาคตก็คงจะตกลงกันได้ หรือสุดท้ายถ้าทรัมป์แพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีหน้า สงครามการค้าก็คงยุติได้จริงๆ โลกก็จะได้กลับมาสงบสุขคาดเดาได้ดังเดิมเสียที

แต่ข้อเท็จจริงก็คือ โลกจะไม่มีวันกลับมาเหมือนเดิมหรอกครับ เพราะเมื่อทรัมป์ทำสงครามการค้าแบบนี้ได้ จีนจะแน่ใจได้อย่างไรว่า ผู้นำสหรัฐฯ คนอื่นจะไม่ทำเช่นกัน วันหนึ่งอาจจะกลับมาเล่นลูกบ้าแบบทรัมป์เมื่อไรใครจะรู้ เพราะฉะนั้นในมุมของจีน ยุทธศาสตร์ระยะยาวจึงต้องพยายามปรับห่วงโซ่อุปทานสินค้าของตนใหม่ให้แยกออกจากสหรัฐฯ โดยต้องกระจายความเสี่ยงด้วยการย้ายฐานการผลิตและหาตลาดใหม่เพิ่มเติม 

ขณะเดียวกัน ในมุมของสหรัฐฯ เอง ภัยคุกคามจากจีนก็ทำให้ยุทธศาสตร์ระยะยาวของสหรัฐฯ ต้องการแยกห่วงโซ่การผลิตสินค้าของตนออกจากจีนเช่นเดียวกัน เพราะสหรัฐฯ มองว่าการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนเชื่อมโยงกันมากอย่างในอดีต ทำให้สหรัฐฯ สูญเสียอำนาจการต่อรอง ดังนั้น สหรัฐฯ จึงต้องการบีบให้บริษัทสหรัฐฯ ย้ายฐานการผลิตออกจากจีน และเริ่มหาตลาดใหม่ที่ไม่ใช่จีน

ผลที่ออกมาก็คือ เรากำลังสิ้นสุดยุคโลกาภิวัฒน์ที่เศรษฐกิจโลกเชื่อมโยงกันเป็นหนึ่งเดียว มาสู่ยุคที่ห่วงโซ่อุปทานโลกจะแตกเป็นสองห่วงโซ่ที่แยกจากกัน 

ห่วงโซ่หนึ่งเป็นห่วงโซ่ที่เชื่อมกับจีน ซึ่งจีนน่าจะเน้นแกนของห่วงโซ่ที่ภูมิภาคเอเชียและในจีนเป็นหลัก ทั้งในเรื่องฐานการผลิตและฐานผู้บริโภค โดยสำหรับฐานผู้บริโภคนั้น อย่าลืมนะครับว่าในจีนกำลังมีคนยากจนที่กำลังขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางอีก 600 ล้านคน (2 เท่าของประชากรสหรัฐฯ) และในภูมิภาคอาเซียนเองก็มีคนยากจนที่กำลังขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางอีกอย่างน้อย 300 ล้านคน (พอๆ กับประชากรสหรัฐฯ) 

ส่วนอีกห่วงโซ่หนึ่งจะเป็นห่วงโซ่ที่เชื่อมกับสหรัฐฯ ซึ่งด้านหนึ่งก็จะแยกตัวออกจากจีน แต่อีกด้านก็ต้องหันมาอาศัยฐานการผลิตใหม่ในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย และหาฐานผู้บริโภคใหม่ เพื่อกระจายความเสี่ยงออกจากจีน เป้าหมายสำคัญจึงน่าจะเป็นฐานการผลิตและตลาดในภูมิภาคอาเซียนเช่นเดียวกัน

เมื่อมองภาพกว้างเช่นนี้ การปรับห่วงโซ่การผลิตใหม่ของโลกทั้งสองห่วงโซ่ จึงเป็นโอกาสมหาศาลให้กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน แต่ใครจะตักตวงประโยชน์ได้มากน้อยเพียงใด อยู่ที่เข้าใจภาพห่วงโซ่อุปทานรายสินค้าและรายอุตสาหกรรมที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปได้ดีเพียงใดมากกว่า 

ดังนั้น โจทย์สำคัญของแต่ละประเทศก็คือ ต้องมีการศึกษาข้อมูลการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของห่วงโซ่อุปทานของสินค้าต่างๆ ในยุคเขย่าโลกที่กำลังเป็นอยู่ และต้องวางกลยุทธ์เพื่อผลักให้ธุรกิจและสินค้าของประเทศตนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานทั้งสองห่วงโซ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นมาใหม่ครับ