วาทะกรรมในรัฐสภาควรเลิกได้แล้ว

วาทะกรรมในรัฐสภาควรเลิกได้แล้ว

ก็คงเหมือนประชาชนคนไทยหลายๆ คน ที่ติดตามข่าวคราวเกี่ยวกับการเลือกผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งต่างๆ ในรัฐสภา

ทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา และเมื่อต้นเดือน มิ.ย.ก็เป็นการเลือกผู้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่

ในขณะที่หลายคนเลือกที่จะติดตามหลังทราบว่าใครได้รับเลือก กลับมองว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในการดำเนินการเลือก และแนวคิดของนักการเมืองรุ่นใหม่ที่น่าสนใจ ที่แตกต่างจากในอดีต ซึ่งยอมรับว่า ในสภาฯ นั้นวิธีการอภิปรายยังไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงจากอดีตมากนัก ส่วนใหญ่เป็นวาทะกรรมมากกว่าเนื้อหา หมายความว่า เนื้อหานั้นเหมือนกัน เพียงแต่ว่าแต่ละคนที่ลุกขึ้นพูดก็จะพยายามประดิษฐ์ถ้อยคำที่คิดว่าน่าจะสร้างความสนใจให้กับที่ประชุม รวมทั้งคาดหวังว่าประชาชนที่รับชมการถ่ายทอดทั้งทีวีรัฐสภาและช่องทางสื่อออนไลน์อื่นๆ จะได้ยินวาทะกรรมของผู้อภิปราย

เนื้อหาทั้งหมดนั้น ถ้าจะเอาจริงๆ ก็น่าจะใช้ไม่กี่ชั่วโมง แต่ท่านประธานรัฐสภาก็ปล่อยให้อภิปรายกันนานถึงกว่า 12 ชั่วโมงถ้าคิดถึงเรื่องประสิทธิภาพในการประชุม ก็น่าจะถือว่าไม่มีประสิทธิภาพเลย ไม่คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป ได้ตั้งข้อสังเกตุว่า เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่นำมาอภิปรายนั้นไม่ต่างจากที่เผยแพร่กันอย่างแพร่หลายในสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ก่อนหน้านี้แล้ว เกือบจะไม่ได้ยินอะไรที่แปลกใหม่ หรือเซอร์ไพรส์จากการอภิปรายแม้แต่คนเดียว จึงไม่แน่ใจว่าเหล่าสมาชิกรัฐสภานั้นได้ทำการบ้านมาแค่ไหน

ถ้าจะพูดถึงลีลาการอภิปรายของสมาชิกสภา โดยเฉพาะสมาชิกใหม่ที่เพิ่งเป็นสมาชิกสภาสมัยแรก ก็ยังไม่เห็นว่าจะมีใครที่มีแววที่จะเป็นผู้อภิปรายที่น่าเชื่อถือสักกี่คน แต่เรื่องนี้พัฒนากันได้ คงต้องติดตามกันต่อไป แต่เรื่องที่น่าเบื่อที่สุด ก็คงเป็นเรื่องของการพูดซ้ำซากเรื่องเดียวกัน และยกข้อบังคับต่างๆ แทนที่จะเน้นในเนื้อหาสาระ เป็นสิ่งที่ทำให้สภาเสียเวลาโดยใช่เหตุ

เท่าที่ติดตามดูการอภิปรายของสมาชิกสภาในต่างประเทศ ไม่เคยเห็นการประท้วงโดยอาศัยข้อบังคับมากมายเหมือนบ้านเราเลย เรื่องการประท้วงโดยยกข้อบังคับข้อโน้นข้อนี้นี่ ส่วนใหญ่เป็นอดีตสมาชิกสภารุ่นเก่า หวังลึกๆ ว่าสมาชิกสภารุ่นใหม่จะไม่ทำตามรุ่นพี่ในเรื่องนี้

โหมดการเลือกตั้งผ่านพ้นไปแล้ว โหมดต่อไปคือการบริหารบ้านเมือง ซึ่งเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติที่ต้องตั้งคณะกรรมาธิการหลายสิบชุดในการพิจารณากฎหมายและอนุมัติให้ความเห็นชอบ

รัฐสภาที่สมาชิกสภามาจากการเลือกตั้งจะไม่เหมือนกับสมาชิกสภาที่มาจากการแต่งตั้ง และการผ่านกฎหมายแต่ละฉบับจะมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเสมอ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ที่ยุบเลิกไปแล้วนั้นเป็นสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ไม่มีฝ่ายค้านในสภา จึงผ่านกฎหมายถึงกว่า 400 ฉบับภายในระยะเวลาสี่ปีเศษ แต่สภาที่มาจากการเลือกตั้งคงไม่สามารถทำได้ ถึงแม้จะอยู่ครบเทอมสี่ปี

มีควันหลงอยู่บ้างจากการฟังแนวทางของพรรคการเมืองใหม่ๆ บางพรรคที่กำลังมองการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น เช่นพรรคอนาคตใหม่ ที่หัวหน้าพรรคประกาศจะเดินหน้าส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งท้องถิ่น และสร้างพรรคให้เป็นสถาบันทางการเมืองที่มั่นคง เป็นเรื่องที่ขอสนับสนุนความคิดนี้ และให้กำลังใจสานฝันให้เป็นจริง เพราะเรื่องนี้จะเป็นฐานสำคัญในระบบการปกครองของบ้านเราอย่างแท้จริงมากกว่า 4-5 เรื่องที่ใช้เป็นประเด็นหาเสียง

บางอย่างคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคตอันใกล้ เช่นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคการเมืองใหม่ๆคงต้องศึกษาจุดอ่อนจุดแข็งของพรรคตนเองให้มากๆ และเอาประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งน่าจะง่ายกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะออกมาอย่างไร และก็อาจไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดหวัง เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไปเรื่อยๆ

จริงๆ คำว่าพรรคการเมืองใหม่สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้าตีความอย่างกว้างก็น่าจะเป็นพรรคการเมืองตั้งใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าพรรคใหญ่พรรคเล็ก ส่วนสมาชิกพรรคจะเป็นคนหน้าเดิมจากพรรคอื่นที่มารวมตัวกันหรือไม่อย่างไรก็คงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่อยากให้ทุกพรรคการเมืองให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งและการเมืองท้องถิ่นให้มากๆ

เพราะการเมืองท้องถิ่นเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองท้องถิ่นกับประชาชนในพื้นที่ที่แท้จริง ไม่เหมือนการเมืองระดับชาติที่มีระบบเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ที่ผู้ได้รับการเลือกตั้งไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ กับประชาชนเลย มันไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น