สงครามเย็นแห่งศตวรรษ

สงครามเย็นแห่งศตวรรษ

ในปี 2016 หลังจากผลประชามติ Brexit ที่เป็นจุดเริ่มต้นของกระแสโลกาภิวัฒน์ย้อนกลับ (De-globalization)

คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นในใจผู้เขียนคือ จุดจบของ De-globalization นั้น จะเป็นอย่างไร

คำตอบดูจะชัดเจนขึ้นในปัจจุบัน จากกลยุทธ์ที่สหรัฐกำลังทำกับจีน โดยผู้เขียนมองว่าเกมสงครามการค้า (Trade War) ระหว่างสหรัฐกับจีนที่กำลังลุกลามเป็นสงครามเทคโนโลยี (Tech War) หลังจากที่สหรัฐแบนบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ Huawei และ ZTE รวมถึงผู้ผลิตสินค้าเทคโนโลยีจากจีน เป็นดั่งบันไดที่จะก้าวไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นในภาพใหญ่ นำไปสู่ 4 สงครามเย็นเต็มรูปแบบ ที่จะพัฒนารุนแรงขึ้นอย่างยากที่จะหวนกลับ

สี่สงครามเย็นนั้น ได้แก่ (1) สงครามการค้า (เริ่มปี 2018) หลังจากที่สหรัฐขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน 5 หมื่นล้านดอลลาร์ในอัตรา 25% (ซึ่งจีนตอบโต้ด้วยอัตราเท่ากัน) ต่อจากนั้นก็ประกาศแบนบริษัท ZTE ก่อนที่จะหยุดการแบนใน 1 เดือนหลังจากที่่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ได้โทรหาทรัมพ์ เพื่อแลกกับการที่จีนนำเข้าถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น และลดภาษีรถยนต์ และหลังจากนั้น สหรัฐก็ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ในอัตรา 10% ซึ่งจีนก็ตอบโต้เช่นกัน

(2) สงครามเทคโนโลยี (2019) ที่เริ่มต้นด้วยการจับกุม CFO ของหัวเว่ย หลังจากนั้นก็ประกาศเพิ่มภาษีสินค้า 2 แสนล้านดอลลาร์ จาก 10% เป็น 25% ซึ่งจีนก็ขึ้นภาษี 25% ตอบโต้ในสินค้า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ หลังจากนั้้น สหรัฐก็ได้แบนหัวเว่ย ก่อนที่จะยกเลิกการแบนบางส่วนชั่วคราว ในขณะที่จีนก็ขู่ที่จะแบนการส่งออกแร่ธาตุหายาก (Rare earth) ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงขู่ที่จะ “เดินทัพทางไกลครั้งใหม่” (New Long March) เพื่อขู่สหรัฐว่าพร้อมที่จะเสียสละเศรษฐกิจระยะสั้นเพื่อชัยชนะระยะยาว

(3) สงครามด้านการเงิน (2020) เริ่มจากสหรัฐขึ้นภาษีก้อนสุดท้ายที่ 25% รวมถึงแบนหัวเว่ย ZTE และผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ขณะที่จีนก็ตอบโต้ด้วยการแบนธุรกิจบริการจากสหรัฐ เช่น เกม รายการทีวี รวมถึงออกคำสั่งห้ามนักท่องเที่ยวจีน และนักเรียนจีนไปยังสหรัฐ รวมถึงแบนการส่งออกแร่ธาตุ Rare-earth และการผลิตและส่งออก iPhone สหรัฐจึงตอบโต้ด้วยการห้ามธุรกิจจีนมาระดมทุนในสหรัฐ รวมถึงสั่งให้หน่วยงานราชการและบริษัทสหรัฐที่เคยระดมทุนในจีนถอนการลงทุน รวมไปถึงสั่งห้ามให้ธุรกิจจีนทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินสกุลดอลลาร์อีกด้วย

(4) สงครามด้านการทหาร (2021) จีนและสหรัฐเพิ่มกำลังทหารเรือและเพิ่มทหารประจำการในหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก สั่งสมอาวุธนิวเคลียร์ เพิ่มระดับการจารกรรมเชิงพาณิชย์ ทางไซเบอร์ และทางทหาร รวมถึงนำไปสู่ความรุนแรงในคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะเกิด “อุบัติเหตุ” ทางการทหารขึ้นระหว่างสองมหาอำนาจดังกล่าว

ในปัจจุบัน สงครามเย็นที่ 3 และที่ 4 นั้นยังไม่เกิดขึ้นเต็มรูปแบบ แต่เริ่มครุกรุ่นขึ้น โดยหมากสำคัญที่จะนำไปสู่สงครามเย็นที่ 3 อย่างเต็มรูปแบบ มี 4 ตัวด้วยกัน ได้แก่

(1) สหรัฐแบนหัวเว่ย เนื่องจากหัวเว่ยเป็นผู้ผลิตโครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคมเพื่อระบบ 5G เป็นอันดับหนึ่งของโลก การแบนหัวเว่ยเท่ากับการปิดทางไม่ให้จีนขึ้นเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีแห่งอนาคต โดยในปัจจุบันผู้ผลิต Hardware และ Software สำคัญที่แบนหัวเว่ยแล้ว ได้แก่ ARM, Intel, Analog Devices, Broadcom, Qualcomm, NXP, Microsoft, Google และ Texas Instruments

(2) จีนแบนแร่ Rare-earth ในปัจจุบันจีนมีแร่ดังกล่าวมากที่สุดในโลก (ประมาณ 44 ล้านตัน คิดเป็น 34% ของแร่ทั้งหมดในโลก) โดยแม้ว่าประเทศอื่น ๆ เช่น บราซิล เวียดนาม รัสเซีย รวมถึงสหรัฐที่มีแร่ดังกล่าวจำนวนมาก แต่การผลิตไม่สามารถทำได้โดยง่าย ทำให้สหรัฐต้องพึ่งพาการนำเข้าแร่ดังกล่าวจากจีนถึงกว่า 80% ของการนำเข้าทั้งหมด (ประมาณ 4.5 พันล้านตันต่อเดือน) หากจีนแบนจริง ก็จะกระทบการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สหรัฐมากในระยะสั้น

(3) จีนแบน Apple ในปัจจุบันจีนเป็นทั้งฐานการผลิตและตลาดสำคัญของ Apple (โดยเฉพาะ iPhone) โดยกว่าหนึ่งในห้าของรายได้ Apple ทั่วโลกมาจากจีน ในขณะที่ Apple ก็สร้างรายได้ให้กับชาวจีนถึงกว่า 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 0.2% ของ GDP) และมีชาวจีนกว่า 4 ล้านคนที่อยู่ในกระบวนการผลิตและการพัฒนา Application สำคัญของ iPhone

ปัจจุบัน Apple เริ่มได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีของจีน (ก้อน 6 หมื่นล้านดอลลาร์สุดท้ายที่จีนขึ้นเพื่อตอบโต้สหรัฐเมื่อ 13 พ.ค.) แล้ว และหากสหรัฐขึ้นภาษีครั้งสุดท้าย (ก้อน 3 แสนล้านดอลลาร์) ก็จะกระทบทำให้ราคาของ iPhone 10 เพิ่มขึ้นกว่า 16% และทำให้ยอดขายตกลงกว่า 50% และ

(4) สหรัฐแบนการระดมทุนจากบริษัทจีน ที่ปัจจุบันระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐกว่า 4 แสนล้านดอลลาร์ โดยมีบริษัทสำคัญเช่น Alibaba, Baidu และ JD.com ทั้งนี้ ในปัจจุบันสหรัฐเริ่มออกกฎระเบียบที่เข้มงวดกับบริษัทจีนแล้ว เช่น เมื่อ ม.ค. ที่ผ่านมา บริษัท Ant Financial ที่เป็นลูกของ Alibaba ถูกห้ามเข้าซื้อ MoneyGram ที่เป็นบริษัทการโอนเงินของสหรัฐด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง ขณะที่บริษัทสหรัฐเริ่มมองว่าธุรกิจ Cloud ของ Alibaba เป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงของธุรกิจสหรัฐเช่นกัน ทำให้ Alibaba มีแนวคิดที่จะไปจดทะเบียนในฮ่องกงแล้ว เช่นเดียวกับSMIC ที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน ได้ถอนการจดทะเบียนในตลาดสหรัฐแล้ว ซึ่งหากสหรัฐแบนการระดมทุนจากจีนจริง หรือในกรณีเลวร้ายคือแบนบริษัทจีนในการเข้าทำธุรกรรมเงินสกุลดอลลาร์ ก็จะเป็นผลลบต่อทั้งเศรษฐกิจจีน สหรัฐ รวมทั้งเศรษฐกิจโลกอย่างมหาศาล

ในความคิดของผู้เขียนแล้ว การที่ทั้้งสหรัฐและจีนจะไปถึงขั้นสุดท้าย (โดยเฉพาะสงครามทางทหาร) ในปัจจุบันยังเป็นไปได้ยาก แม้ว่าทรัมพ์และทีมอาจจะมีแนวคิดที่จะ “คุมกำเนิด” จีนในระยะยาว (เช่นเดียวกับที่ประธานาธิบดีเรแกนเคยทำสงครามเย็นกับโซเวียตจนล่มสลาย) แต่จีนและสหรัฐมีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจมากจนเกินกว่าที่จะสามารถถอนความสัมพันธ์ได้โดยง่าย

ยิ่งไปกว่านั้น เป้าหมายสำคัญต่อไปของทรัมพ์คือการได้รับเลือกตั้งเข้าเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งในสมัยที่สอง ซึ่งแน่นอนว่า ตัวชี้วัดสำคัญที่สุดของทรัมพ์คือดัชนีตลาดหุ้น (ที่ขึ้นมาแล้วกว่า 23% นับตั้งแต่เขาขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี) แต่ถ้าเขาทำสงครามการค้าและเทคโนโลยี รวมถึงควบคุมด้านการเงินรุนแรงเกินไป ก็อาจทำให้เศรษฐกิจและตลาดหุ้นตกต่ำ กระทบต่อฐานเสียงของเขาได้

แต่สงครามเย็นระหว่างช้างสารเกิดขึ้นแล้ว หญ้าแพรกทั้งหลาย เตรียมพร้อมแล้วหรือยัง

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่]