เมื่อ Facebook สนใจ Stable Coin

เมื่อ Facebook สนใจ Stable Coin

ที่ผ่านมา ได้มีการพูดถึงการออก Facebook Coin หรือ คริปโทเคอร์เรนซีของ Facebook เพื่อใช้สำหรับจ่ายค่าสินค้าหรือบริการบน Platform ของ Facebook

โดยมีการคาดการณ์ว่า Coin นั้นจะอยู่ในรูปแบบ Stable Coin

จากคุณลักษณะและกลไกของ Stable Coin ที่ยังคงใช้ Blockchain เป็นเทคโนโลยีพื้นฐาน แต่ถูกสร้างเพื่อแก้ปัญหาความผันผวนของคริปโทเคอร์เรนซี ผู้เขียนจึงไม่แปลกใจว่า เพราะเหตุใดจึงอยู่ในความสนใจของผู้สร้าง Platform Online รายใหญ่อย่าง Facebook

เมื่อคริปโทผันผวน จึงเป็นที่มาของ Stable Coin

ความผันผวนของมูลค่าคริปโทมาจากหลายปัจจัย เช่น มูลค่าของคริปโทมีการเปลี่ยนแปลงตามปริมาณการซื้อขายในตลาดตามหลัก demand and supply ซึ่ง “ตลาด” ที่ว่านี้แตกต่างจากตลาดหุ้นทั่วไปที่มีเวลาทำการที่ชัดเจน โดยตลาดซื้อขายคริปโทมีเวลาทำการ 24 ชั่วโมง นั่นแปลว่า การซื้อขายเกิดขึ้นได้และมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งหากเป็นกรณีตลาดหลักทรัพย์ หากมีสภาวะที่ส่งผลต่อการผันผวนรุนแรงของราคาหลักทรัพย์ เช่น ราคามีการเปลี่ยนแปลงและปรับลดลงมาก ตลาดสามารถหยุดทำการซื้อขายอัตโนมัติเป็นการชั่วคราวได้ตามหลัก Circuit Breaker เช่น SET Index ลดลงถึง 10% ของค่าดัชนีปิดในวันทำการก่อนหน้าของตลาดหลักทรัพย์ ตลาดสามารถหยุดพักการซื้อขายได้ครึ่งชั่วโมง เป็นต้น

จากความผันผวนดังกล่าว หากวิเคราะห์ความหมายของ “เงิน” ตามหลักเศรษฐศาสตร์พบ ว่าคริปโทยังขาดคุณสมบัติที่สำคัญในการเป็นเงินที่ได้รับการยอมรับ กล่าวคือ ยังไม่สามารถเป็นเครื่องมือที่รักษามูลค่า (Store of Value) อย่างมีประสิทธิภาพได้ เช่น หากเกิดเหตุการณ์ที่มีผลต่อ demand ของตลาดอย่างรุนแรง อาจส่งผลให้ราคาของคริปโทลดลงอย่างรวดเร็ว จนผู้ทำให้มูลค่าของคริปโทในการครอบครองของนักลงทุนลดมูลค่า (ขาดทุน) ในทันที ดังนั้น การขาดคุณสมบัติในการรักษามูลค่าของคริปโทย่อมส่งผลต่อการพัฒนาให้เป็น “สื่อกลาง” ที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย (legal tender) อย่างเช่นสกุลเงิน

จากปัญหาในข้างต้น จึงมีผู้คิดค้น Stable Coin เพื่อประกันความมั่นคงให้กับนักลงทุน ซึ่งเหตุที่เรียกชื่อว่า Stable Coin ก็เพราะผู้คิดค้นพยายามสร้างกลไกให้ Coin ประเภทนี้มีความ Stable หรือ มั่นคง โดยกลไกที่ว่า คือ การกำหนดให้ Coin ดังกล่าวมีสินทรัพย์อ้างอิง หรือ มี Underlying Asset เป็นตัวกำหนดมูลค่า เพื่อทำหน้าที่ค้ำประกันมูลค่าของ Coin ให้ไม่ผันผวนได้โดยง่าย ซึ่งสินทรัพย์ที่ถูกนำมาอ้างอิงสามารถกำหนดได้หลายอย่าง เช่น สกุลเงิน ทองคำ หรือแม้แต่ คริปโทด้วยกันเอง

ประเภทของ Stable Coin

ในการออก Stable Coin สามารถทำได้ใน 3 ลักษณะ ได้แก่ (1) Fiat-Collateralized คือ การออก Coin โดยนำ Coin มาผูกกับมูลค่าของสกุลเงิน (Fiat Currency เช่น USD) แบบ 1 ต่อ 1 เช่น 1 Coin มีมูลค่าเท่ากับ 1 USD (2) Crypto-Collateralized คือ การออก Coin โดยใช้คริปโทสกุลอื่นมาค้ำประกัน เช่น นำ Bitcoin จำนวนหนึ่งที่มีมูลค่าเท่ากับ Stable Coin ที่ออก มาค้ำประกันการออก Stable Coin ซึ่งหากราคาของ Bitcoin ที่ค้ำประกันอยู่นั้นมีมูลค่าลดลงมาก จนมีมูลค่าต่ำกว่า Coin ที่ค้ำประกันอยู่ จะมีการเรียกให้นำ Bitcoin มาค้ำประกันเพิ่ม หรือ อาจถูกบังคับให้ขายเพื่อชดเชยมูลค่า (3) Non-Collateralized คือ การออก coin โดยมีการตั้งค่าให้ระบบมีหน้าที่ควบคุมปริมาณ Supply ของ Coin ที่อยู่ในระบบ เช่น ถ้ามีความต้องการ coin มากขึ้น ระบบจะทำการเพิ่ม Supply เพื่อทำให้ราคา Coin ลดลง หรือกลับกัน หากความต้องการ Coin ลดลง ระบบก็จะลด Supply (โดยการซื้อคืน) เพื่อทำให้ราคา Coin เพิ่มขึ้น ซึ่งการดำเนินการในลักษณะนี้คล้ายกับพันธกิจของธนาคารกลาง แต่กรณีนี้ไม่มีตัวกลางดังกล่าว หากแต่มีระบบที่ตั้งค่าไว้ให้ทำงานในลักษณะเช่นว่านั้น

กรณีของ Facebook

Facebook ได้มีการลงทุนสร้างแผนก Blockchain เพื่อทำการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain บน platform ของ Facebook และหนึ่งในความเป็นไปได้จากการมี Blockchain เป็นเทคโนโลยีพื้นฐาน คือ การสร้างคริปโทเคอร์เรนซีสำหรับผู้ใช้งาน เช่น การใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการออนไลน์ รวมถึงการโอนเงินด้วยเหรียญของ facebook ไปยัง application ต่างๆ ที่เข้าร่วม นอกจากนี้ Facebook ยังมีแนวโน้มที่จะเลือกออก Stable Coin แบบ Fiat-Collateralized ที่อ้างอิงจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อลดความผันผวนและความเสี่ยงของผู้ใช้งานที่ถือครอง 

ในบริบทกฎหมายไทย 

แม้ในปัจจุบันยังไม่มีประเทศใดในโลกยอมรับให้คริปโทเคอร์เรนซีเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เช่นในกรณีของไทย พ.ร.บ. เงินตรา กำหนดให้ “เงิน” มีความหมายเพียงแค่เหรียญกษาปณ์และธนบัตรที่มีหน่วยเป็น “บาท” และต้องมีทุนสำรองเงินตราหนุนหลังเท่านั้น อย่างไรก็ดี ในกรณีของ Stable Coin ผู้ประกอบธุรกิจอาจอยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. หากเข้าข่ายเป็นการให้บริการ e-payment ตาม พ.ร.บ. ระบบชำระเงิน หรืออาจถูกกำกับโดย ก.ล.ต. ผ่านกลไลของ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลหากมีการทำ Tokenization (การนำสินทรัพย์ที่มีอยู่แล้วมาแปลงให้อยู่ในรูปของเหรียญดิจิทัล) ซึ่ง ก.ล.ต. จะต้องมีการพิจารณารูปแบบของธุรกิจประกอบการพิจารณาอนุญาต

นอกจากนี้ หากนำคริปโทมาเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Money Changer) ยังพบอุปสรรคทางกฎหมายหลายประการ โดยประการสำคัญ ได้แก่การที่ พ.ร.บ. ควบคุมแลกเปลี่ยนเป็นกฎหมายเก่าที่บัญญัติไว้ตั้งแต่ปี 2485 จึงทำให้นิยามการทำธุรกรรม เช่น การรับซื้อ/ขายคืนเงินตรา จำกัดอยู่เพียง “การทำธุรกรรมระหว่างเงินบาทและเงินตราต่างประเทศ” โดยยังไม่รวมถึง “การซื้อ/ขายระหว่างเงินตรากับคริปโท” ประกอบกับ กฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องให้บริการในสถานประกอบธุรกิจของตนเท่านั้น ดังนั้น การรับชำระเงินและการรับมอบเงินตราต่างประเทศจึงจำเป็นต้องกระทำที่สาขาและต้องรับมอบเป็นธนบัตรต่างประเทศเท่านั้น จากข้อกฎหมายข้างต้น จึงตีความได้ว่า การซื้อ/ขายตลอดจนการรับชำระเงิน ไม่สามารถกระทำผ่านช่องทางออนไลน์ใดๆ ได้ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นอุปสรรคสำคัญในการซื้อขายคริปโทที่เป็นสกุลเงินดิจิทัล

ท้ายที่สุด ผู้เขียนเชื่อว่าในภาพใหญ่ Stable coin จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของภาคเอกชนและภาครัฐในการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินประเภทใหม่ เพราะมีความใกล้เคียงกับ fiat currency ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมากที่สุด และในภาพเล็กการประกอบธุรกิจคริปโทในประเทศไทยยังมีข้อจำกัดทางกฎหมายบางประการที่ยังรอการปรับปรุงแก้ไขให้ทันสมัยมากขึ้น

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน]