เมื่อจีนเป็นประเทศมหาอำนาจ

เมื่อจีนเป็นประเทศมหาอำนาจ

ปลายเดือนที่แล้ว งานใหญ่ในวงการเศรษฐกิจโลก คือ การประชุมฟอร์รัม Belt and Road(BRI) ครั้งที่สอง ที่กรุงปักกิ่ง ที่จีนเป็นเจ้าภาพ

มีผู้แทนจาก 100 กว่าประเทศทั่วโลกมาร่วมงาน การประชุมพูดถึงความคืบหน้าในโครงการริเริ่มของจีนที่ต้องการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางบกและทางน้ำเพื่อเชื่อมต่อประเทศในทวีปต่างๆ ของโลก เช่น เอเชีย ยุโรป และอัฟริกา เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนให้นำไปสู่การพัฒนาประเทศและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน เป็นเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ที่ต้องการใช้การเชื่อมต่อและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเป็นคำตอบให้กับการพัฒนาประเทศ

เมื่อจีนเป็นประเทศมหาอำนาจ

ไฮไลท์ของงาน คือ สุนทรพจน์ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ตอนเปิดงานที่นักลงทุนและตลาดการเงินรอฟัง ซึ่งแม้จะเป็นการพูดสั้นๆ แต่ก็ชัดเจนและให้ความรู้สึกทันทีว่า จีนกำลังพูดในฐานะผู้นำโลก ประธานาธิบดีจีน กล่าวปราศรัยต่อหน้าผู้นำจาก 37 ประเทศ รวมถึงนายกรัฐมนตรีไทย ที่มาร่วมงาน ย้ำว่าจีนจะมีบทบาทและมีส่วนร่วมต่อไปในการรักษาการเติบโตและเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลกในฐานะประเทศใหญ่ โดยให้คำมั่นว่า จีนจะไม่ลดค่าเงินหยวนที่อาจจะสร้างความไม่มีเสถียรภาพ จะส่งเสริมระบบการค้าแบบพหุภาคีที่จีนจะเป็นผู้เล่นที่เคารพกติกา และจีนพร้อมเปิดตลาดในประเทศให้ประเทศอื่นๆ สามารถค้าขายและลงทุนกับจีนได้อย่างเสรีมากขึ้น

ในประเด็นโครงการBRI จีนก็พร้อมรับฟังคำวิจารณ์และความห่วงใยของทุกฝ่ายเพื่อนำไปปรับปรุง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความโปร่งใสหรือความเป็นหนี้ของประเทศที่จีนเข้าร่วมลงทุน เพื่อให้โครงการBRI สร้างประโยชน์ร่วมกันอย่างแท้จริง พร้อมย้ำว่า การลงทุนในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในขั้นตอนต่อไปของโครงการBRI จะเปิดกว้างในภาคเอกชนเข้าร่วมโครงการและขยายผลโครงการไปสู่ความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่จะส่งเสริมการพัฒนาประเทศ ไม่จำกัดเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

สาระเหล่านี้ชัดเจนว่า จีนต้องการมีบทบาทที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลและพร้อมมีส่วนร่วมในการนำเศรษฐกิจโลกเพื่อสร้างความเป็นอยู่ของประชากรในโลกให้ดีขึ้นโดยใช้ความรู้และประสบการณ์ของจีน แต่คำถามที่มีในใจหลายคนคือ เมื่อจีนเป็นมหาอำนาจ จีนจะเป็นมหาอำนาจอย่างไร จะเป็นประเทศมหาอำนาจที่ดีหรือไม่ คือจะเป็นมหาอำนาจที่ทุกคนยอมรับแต่หวั่นไหว หรือจะเป็นมหาอำนาจที่ทุกประเทศพร้อมสนับสนุนและประเทศกำลังพัฒนาต้องการนำความรู้และความสำเร็จของจีนมาศึกษาเพื่อใช้ประโยชน์ หรือแม้แต่พัฒนาประเทศของตนตามแบบจีน นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

ความสำเร็จของจีนในการพัฒนาประเทศชัดเจนมากช่วงสิบปีที่ผ่านมา ที่เศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปถดถอยลงจากผลของวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2008 ขณะที่จีนขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง รายได้ประชาชาติของจีนเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าครึ่ง เทียบกับสหรัฐที่รายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นเพียง 1.3 เท่า การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของจีน ทำให้ทุนสำรองทางการของจีนเพิ่มจาก 2.4 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2009 เป็น 3.1 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐในปัจจุบัน เป็นประเทศที่มีทุนสำรองทางการมากที่สุดในโลก แต่ช่วงเดียวกัน สหรัฐและยุโรปถดถอยทั้งในแง่เศรษฐกิจและการเมือง จากผลของวิกฤติ ปี 2008 และจากวิธีแก้วิกฤตที่ใช้มาตรการอัดฉีดเงินที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจมีมากขึ้น คนมีฐานะได้ประโยชน์ เพราะสามารถกู้เงินไปลงทุนซื้อสินทรัพย์ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก ขณะที่ชนชั้นกลางและผู้ใช้แรงงาน ความเป็นอยู่แย่ลงจากเศรษฐกิจตกต่ำ ผลคือ แรงต่อต้านโลกาภิวัฒน์แรงขึ้น นำไปสู่การเมืองแบบประชานิยม และนโยบายเศรษฐกิจที่กีดกันการค้าและแรงงานต่างถิ่น สร้างความแตกแยกในสังคมและบั่นทอนความน่าเชื่อถือของระบอบประชาธิปไตย

จุดเปลี่ยนเหล่านี้ ทำให้บทบาทของจีนในเวทีโลกเริ่มเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในยุคสมัยของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จากจีนยุคก่อนที่การวางตัวของจีนอยู่ภายใต้อิทธิพลความคิดของประธานาธิบดีเติ้ง เสี่ยวผิง ที่จีนค่อนข้างระมัดระวัง ไม่แสดงตัวหรือเปิดเผยความสำเร็จและความสามารถของตนเองในเวทีโลก มาเป็นจีนปัจจุบันที่มีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลก ที่พร้อมมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายระดับสากล เพื่อให้อิทธิพลและบทบาทของจีนในฐานะประเทศใหญ่เป็นที่ตระหนักและได้รับการยอมรับ และพร้อมที่จะเป็นผู้ให้ ที่จะนำประสบการณ์การพัฒนาประเทศของจีนที่ประสบความสำเร็จมาแชร์และเป็นตัวอย่างให้กับประเทศอื่นๆ นี่คือ บทบาทใหม่ของจีน

บทบาทเหล่านี้ นำไปสู่การสร้างอิทธิพลของจีนในระบบการเงินโลก เช่น การจัดตั้งธนาคาร เพื่อการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเอเชียเมื่อสามปีก่อน ให้เป็นทางเลือกให้กับประเทศกำลังพัฒนา คู่ขนานกับธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ส่งเสริมเงินหยวนของจีนให้เป็นสกุลเงินที่มีการใช้ในการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศเทียบเคียงได้กับเงินดอลล่าร์สหรัฐ และส่งเสริมการใช้ระบบชำระเงินของจีนในการชำระเงินระหว่างประเทศ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับภาคธุรกิจและประชาชน

บทบาทใหม่เหล่านี้ได้ขยายอิทธิพลและการยอมรับจีนในระบบเศรษฐกิจโลก จนมีการประเมินว่า เศรษฐกิจจีนจะสามารถแซงเศรษฐกิจสหรัฐเป็นอันดับหนึ่งของโลกได้ในปี 2025 นี่เป็นการประเมินก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก ปี 2008 แต่หลังเกิดวิกฤติที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐถดถอยมาก การประเมินล่าสุด มองว่า เศรษฐกิจจีนอาจแซงสหรัฐได้ในช่วงสามปีข้างหน้า ซึ่งเร็วที่สุดก็คือปีหน้า ซึ่งจะทำให้จีนเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสมบูรณ์

ต่อคำถามว่า จีนจะเป็นประเทศมหาอำนาจที่ดีหรือไม่นั้น ขณะนี้มีแนวคิดอยู่สองแบบ แนวคิดแรก คือ แนวคิดแบบตะวันตกว่าจีนคงจะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้แต่จะเป็นประเทศผู้นำโลกอย่างที่สหรัฐเป็นอยู่ไม่ได้ เพราะประเทศที่เป็นผู้นำโลกจะต้องมีทั้งอำนาจทางเศรษฐกิจ อำนาจการทหาร และอำนาจการเมือง จีนขณะนี้มีอำนาจทางเศรษฐกิจ แต่อีกสองอำนาจยังไม่ชัดเจน คือ อำนาจทางทหารที่พร้อมจะใช้อำนาจเป็นเครื่องมือขยายอิทธิพลของจีนในเวทีสากล และอำนาจทางการเมืองที่พร้อมจะขยายอิทธิพลของจีนในการเมืองของประเทศอื่น ให้ประเทศเหล่านั้นเข้ามาอยู่ในข่ายอำนาจหรือเป็นประเทศบริวาร แต่ที่ผ่านมา จีนมุ่งขยายอิทธิพลของตนเองด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ หลีกเลี่ยงไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองภายในประเทศของประเทศอื่น ทำให้จีนจะไม่ใช่หรือยังไปไม่ถึงโมเดลผู้นำโลกอย่างที่สหรัฐเป็น ซึ่งเป็นแนวที่นักวิชาการตะวันตกมอง

แนวคิดที่สอง คือ เป็นได้ แต่จะไม่ใช่ในรูปแบบที่สหรัฐเป็นอยู่ขณะนี้ที่ใช้อิทธิพลเศรษฐกิจ การทหาร และการเมือง สร้างความเป็นผู้นำและใช้ค่านิยมของระบอบประชาธิปไตยสร้างความชอบธรรมในการขยายอิทธิพล แต่จีนจะเป็นผู้นำที่ความชอบธรรมมาจากการเป็นผู้ให้ที่ได้รับการยอมรับจากประเทศต่างๆ ในบทบาทของจีนที่เข้าไปช่วยเหลือและสร้างประโยชน์ให้กับประเทศต่างๆ บนพื้นฐานของความเป็นมิตรและความเสมอภาค ใช้รูปแบบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศของจีนเป็นตัวอย่างให้ประเทศที่กำลังพัฒนาอื่นๆ ศึกษาและทำตาม จนเป็นผู้นำของประเทศกำลังพัฒนา จากนั้นเติบโตเป็นผู้นำของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมที่ยอมรับรูปแบบการพัฒนาประเทศและการบริหารจัดการแบบจีน นี่คือรูปแบบของผู้นำหรือประเทศมหาอำนาจแบบตะวันออก ที่เน้นความสัมพันธ์และการยอมรับซึ่งกันและกัน ไม่ใช่มหาอำนาจแบบตะวันตกที่เน้นการใช้กำลังและการครอบครองทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น ประเด็นที่ต้องตามดู คือ จีน ในที่สุดจะเป็นผู้นำโลกแบบไหน จะเป็นผู้นำแบบตะวันออกอย่างที่จีนกำลังพยายามเป็นในปัจจุบันที่เหมือนย้อนอดีตไปสู่การเป็นอาณาจักรอำนาจกลาง(Middle Kingdom) ที่ยิ่งใหญ่ด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจ ความรู้และอารยธรรมที่เป็นที่ยอมรับ หรือเป็นผู้นำแบบตะวันตกที่ในที่สุดก็จะขยายอำนาจเศรษฐกิจไปสู่อำนาจทางการทหารและการเมืองเหมือนที่อังกฤษเคยเป็นและสหรัฐเป็นอยู่ขณะนี้ ซึ่งคำตอบส่วนหนึ่งจะอยู่ที่คนจีนรุ่นต่อไปว่า จะรักษาระบบการเมืองของจีนอย่างในปัจจุบันไว้ หรือจะไปแบบระบบประชาธิปไตยตะวันตก นี่คือความแตกต่างที่น่าจะเป็นปัจจัยชี้ว่า จีนจะเป็นมหาอำนาจแบบไหน