ความเชื่อมั่นทางการทูตสำคัญอย่างไร

ความเชื่อมั่นทางการทูตสำคัญอย่างไร

ในช่วง 2 - 3 เดือนที่ผ่านมา มีหลายเหตุการณ์ในการเมืองระหว่างประเทศที่ชวนให้คิดว่า โลกเราอยู่ในภาวะขาดความเชื่อมั่นและไว้วางใจกัน

จนอาจกระทบต่อความสงบสุข อาทิ การปะทะกันของอินเดียและปากีสถาน และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ความเชื่อมั่นกับการทูตเป็น 2 สิ่งที่ไปคู่กัน โดยไม่อาจแยกได้ชัดว่าอะไรเกิดก่อนเหมือนไก่กับไข่ และเป็นสิ่งที่ต้องสร้างสมอย่างต่อเนื่องด้วยการปฏิบัติ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและเกียรติภูมิในเวทีโลก ความเชื่อมั่นจึงชัดเจนและยั่งยืนกว่า ‘ความเชื่อ’ ที่อาจเป็นเพียงการตัดสินใจจากอารมณ์ความรู้สึกโดยไม่มีอะไรเป็นเครื่องพิสูจน์

ถึงตรงนี้คงมีคำถามว่า แล้วความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยเป็นอย่างไร ในห้วงเวลาที่การเมืองภายในประเทศอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน และการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศอยู่ในภาวะยุ่งยากจนอาจกระทบต่อผลประโยชน์ของไทยเช่นกัน การทูตไทยช่วยรักษาความเชื่อมั่นไว้ได้หรือไม่

การทูตมีหลายรูปแบบ แต่ที่ทำมาแต่โบราณคือ การแลกเปลี่ยนการเยือนเพื่อสร้างความคุ้นเคย ซึ่งยังดำเนินการจนถึงทุกวันนี้ เพราะแม้ว่าเทคโนโลยีจะทาให้สามารถสื่อสารผ่านจอด้วยสัญญาณคมชัด ราวกับนั่งคุยกันซึ่งหน้า แต่สิ่งที่ทดแทนไม่ได้ คือ ความรู้สึกของการได้ติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างมี human touch ซึ่งจะทาให้เข้าใจกันได้ลึกซึ้งกว่า นอกจากนี้ การไปเยือนต่างประเทศยังทำให้ไทยเป็นจุดสนใจของสื่อที่จะรายงานข่าวและติดต่อขอสัมภาษณ์ ทำให้ได้ประชาสัมพันธ์ประเทศไปในตัว

ในเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรี ‘ลุงตู่’ ทำได้อย่างดี ลองนับดูแล้วได้รับเชิญไปเยือนกว่า 25 ประเทศ เฉลี่ยแล้ว ปีละ 5 ประเทศ ซึ่งรวมทั้งสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ทั้ง 5 ประเทศ ซึ่งเป็น ‘ขาใหญ่’ ในการเมืองโลก คือ สหรัฐฯ รัสเซีย สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และจีน รวมทั้งยังได้ไปพบผู้นำประเทศสาคัญอื่น ๆ ถึงถิ่น อาทิ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย และเยอรมนี มีทั้งการเยือนอย่างเป็นทางการและการเยือนเพื่อเข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศ ในทางกลับกัน มีผู้นำหลายคนที่ขอมาเยือนไทยโดยเฉพาะในช่วงที่เราเป็นประธานอาเซียน เริ่มด้วยนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเช็ก ที่มาเป็นแขกของรัฐบาล เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา

เรื่องที่ผู้นำจะหารือกันมีอยู่ไม่กี่หัวข้อ ซึ่งหนีไม่พ้นไปจากการเมือง ความมั่นคง การค้า การลงทุน

และการพัฒนาความเป็นอยู่ประชาชน เรื่องใดที่เป็นประโยชน์ร่วมกันยิ่งผลักดันได้ง่าย แต่ถ้าเรื่องไหนเป็น ข้อริเริ่มของเราเองก็ต้องอาศัยความคุ้นเคยและความเชื่อมั่นที่มีอยู่ในการชักจูงโน้มน้าวให้ประเทศนั้น ๆ ยินดีร่วมมือด้วย ทุกรัฐบาลจึงมีหน้าที่สร้างความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพื่อตัวรัฐบาลเอง เพราะรัฐบาลผลัดเปลี่ยนไปตามวาระ แต่เพื่อผลประโยชน์ของชาติในระยะยาวในการเจรจาความร่วมมือกับประเทศอื่น

เมื่อ คสช. เข้าควบคุมการบริหารประเทศ สหภาพยุโรปได้ชะลอความสัมพันธ์เพื่อรอดูท่าที

ไม่ว่ากันเพราะแต่ละประเทศมีแนวคิดและค่านิยมต่างกันไป เราได้แต่ชี้แจงจากมุมของเราตามโอกาสที่เหมาะสม เมื่อเวลาผ่านไปและสหภาพยุโรปเข้าใจสถานการณ์มากขึ้น ก็ได้มีมติฟื้นฟูความสัมพันธ์เป็นปกติ เมื่อปลายปี 2560 ส่งผลให้ในช่วงต้นปี 2561 มีรัฐมนตรีต่างประเทศจากประเทศในสหภาพยุโรปขอมาเยือนไทยถึง 3 ประเทศในเวลาไล่เลี่ยกัน คือ อิตาลี ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร ซึ่งแสดงว่าประเทศเหล่านี้ยังเล็งเห็นถึงศักยภาพของไทย และรอจังหวะที่จะสานต่อความสัมพันธ์ ขณะเดียวกัน ยังไม่นับว่ามีอีกหลายประเทศในสหภาพยุโรปที่ไม่เห็นด้วยกับมติให้ชะลอความสัมพันธ์กับไทยมาตั้งแต่ต้น 

ขอยกตัวอย่างความเชื่อมั่นที่ช่วยให้เกิดอะไรที่เป็นประโยชน์ เริ่มจากด้านความมั่นคง เมื่อครั้งที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ฯ ไปเยือนสหรัฐฯ เมื่อปี 2560 ได้หารือกับประธานาธิบดีทรัมป์ เกี่ยวกับการรักษาเสถียรภาพในทะเลจีนใต้ คาบสมุทรเกาหลี และรัฐยะไข่ ในฐานะที่ไทยเป็นคนกลางและไม่เป็นคู่กรณีในประเด็นพิพาทเหล่านี้ จึงสามารถพูดคุยกับทุกฝ่ายเพื่อแสดงบทบาทที่สร้างสรรค์ในการสร้างเสถียรภาพให้ภูมิภาค ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ไทยด้วย

ในด้านเศรษฐกิจ เป็นที่ทราบกันดีว่าไทยต้องการเพิ่มมูลค่าการผลิตและบริการโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งไทยต้องเรียนรู้องค์ความรู้หลายอย่างจากต่างประเทศ ในระหว่างการเยือนฝรั่งเศสของนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2561 ได้มีการลงนามความตกลงว่าด้วยการจัดหาดาวเทียมสำรวจทรัพยากรโลกและความตกลงว่าด้วยการร่วมทุนระหว่างบริษัทแอร์บัสกับการบินไทยในการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน มูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะตั้งอยู่ในเขต EEC ส่วนอังกฤษก็ไม่น้อยหน้า เพราะบริษัทโรลส์-รอยซ์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องยนต์ชั้นนาจากอังกฤษได้เซ็นสัญญากับการบินไทยสร้างศูนย์ซ่อมเครื่องยนต์ที่สนามบินดอนเมือง ซึ่งคาดว่าจะทาให้การบินไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น 1 พันล้านบาทในปีนี้

ในขณะที่เราได้การลงทุนจากฝรั่งเศสกับอังกฤษ เราได้ความร่วมมือจากเยอรมนีในการสร้าง ‘คน’ และ ‘ความรู้’ โดยมีการหารือกันด้านการวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย โดยเน้นระบบรางและยานยนต์แห่งอนาคต รวมทั้งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับอุตสาหกรรม 4.0 การพัฒนาศักยภาพของ SMEs สตาร์ทอัพ และการอาชีวศึกษา เพื่อมุ่งสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายใน 20 ปี ตามกรอบเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี

ข้ามกลับมาฝั่งเอเชีย ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ใกล้ชิดกับไทยเป็นพิเศษและน่าจะเป็นประเทศที่นายกรัฐมนตรี ‘ลุงตู่’ ได้ไปเยือนบ่อยที่สุด บางปีมีงานที่ต้องไปถึง 2-3 ครั้ง เมื่อปี 2560 ที่ครบรอบ 130 ปีความสัมพันธ์ไทย -ญี่ปุ่น กระทรวงเศรษฐกิจและการค้าญี่ปุ่น ได้จัดคณะนักธุรกิจญี่ปุ่นมาเยือนไทยถึง 600 คน เพื่อไปดูงานที่ EEC ทำให้มูลค่าการลงทุนของญี่ปุ่นใน EEC เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดและขึ้นแท่นอันดับ 1 ถึงทุกวันนี้ นอกจากนี้ ยังมีการตั้งศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ-ไทย เพื่อศึกษาวิจัยการแปรรูปอาหารอีกด้วย

อีกกรณีหนึ่งที่สะท้อนระดับความเชื่อมั่นของต่างชาติต่อไทยคือ การที่ฮ่องกงตัดสินใจตั้งสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกงประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นสำนักงานที่ 3 ในอาเซียน มีการประกาศในช่วงที่นางแคร์รี่ หล่า ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงมาเยือนไทยเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของการทูตไทยที่มุ่งมั่นจะเป็นสะพานเชื่อมไทยกับโลกเข้าด้วยกัน เพื่อให้ไทยมีสถานะที่มั่นคงและสามารถใช้การต่างประเทศเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ หลายเรื่องเป็นความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ดังคำกล่าวที่ว่าการต่างประเทศเริ่มต้นจากในบ้าน เมื่อในบ้านประสานงานกันดี

การดำเนินการทางการทูตกับต่างประเทศย่อมมีประสิทธิภาพและได้ผลดีไปด้วย

การทูตเป็นเครื่องมือสร้างความเชื่อมั่นที่ยังมีประโยชน์แก่โลกที่แสนยุ่งเหยิงใบนี้หรือไม่ ท่านผู้อ่านคงมีคำตอบของตัวเอง ไม่มีตำราเล่มไหนบอกไว้ว่าจะวัดความสำเร็จในการสร้างความเชื่อมั่นได้อย่างไร แต่ความเชื่อมั่นก็เหมือน ‘อากาศ’ รอบตัวเราหรือ ‘ความรัก’ ซึ่งแม้จะรู้ว่ามีอยู่จริงแต่มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ ถึงกระนั้นเราก็ยังสัมผัสได้ในใจเราและประจักษ์ได้ด้วยตนเอง

โดย...  ทูตนอกกงสุล