โลกดิจิทัลไม่ได้มีแค่ 'Chat and Share'

โลกดิจิทัลไม่ได้มีแค่ 'Chat and Share'

โลกดิจิทัลเดินทางไปไกล ก่อประโยชน์ในแง่ต่างๆ หากประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม

ทุกวันนี้เทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลกไปแล้ว ที่สำคัญยังมีประโยชน์เป็นอย่างมากต่อการพัฒนาในหลายๆ ด้านทั้งระดับบุคคล ชุมชน สถาบัน จนถึงระดับประเทศ 

โลกดิจิทัลจึงไม่ได้จำกัดอยู่ในวงแคบๆ ของสังคมเมือง หรือเพียงแค่แอพพลิเคชั่นสำหรับติดต่อสื่อสารอย่างแอพแชท หรือความบันเทิงผ่านสื่อสังคมออนไลน์อีกต่อไป แต่ได้ขยายขอบเขตไปสู่การปรับเปลี่ยนและยกระดับคุณภาพชีวิตในทุกๆ ด้าน

เราได้เห็นความพยายามจากหลายๆ ภาคส่วน โดยเฉพาะภาครัฐที่เข้ามาผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การจัดตั้งหน่วยงานต่างๆ เข้ามากำกับดูแลและบริหารงานเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และอีกหลายๆหน่วยงาน 

โดยนโยบายหลักที่เกี่ยวข้องและก่อให้เกิดการพัฒนาของการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในประเทศไทยแบบกว้างขวางและครอบคลุมมากที่สุดคือThailand 4.0 ซึ่งหนึ่งในแผนปฎิรูปที่เห็นผลเป็นรูปธรรมขึ้นมาแล้วคือ โครงการ National e-Payment อย่าง PromptPay ที่ปัจจุบันมียอดผู้ใช้งานแล้วกว่า 39.3 ล้านบัญชี ถือเป็นก้าวแรกๆ ที่สำคัญมากในการผลักดันการพัฒนาระบบธุรกรรมการเงินของประเทศ และตอบสนองนโยบายอย่างชัดเจนและรวดเร็ว

อีกหนึ่งโครงการที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยส่วนตัวแล้วมองว่ามีประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมอย่างมากคือ โครงการเน็ตประชารัฐที่เป็นการวางระบบอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุม เพื่อให้ประชาชนในทุกหมู่บ้านทั่วประเทศไทยสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ตลอดจนมีการติดตั้งจุดบริการไวไฟให้ประชาชนใช้งานได้ฟรี ก่อให้เกิดประโยชน์ในแง่ของการติดต่อสื่อสาร การกระจายข้อมูล การเพิ่มพูนความรู้และทักษะ 

ที่สำคัญยังเป็นการขยายโอกาสทางธุรกิจไปสู่ผู้ประกอบการรายย่อยไปจนถึงระดับรากหญ้า ยกตัวอย่างเช่น สินค้าชุมชน หรือโอทอปจากที่ขายของอยู่ในช่องทางการขายlปกติ ก็สามารถขยายตลาดมาอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ง่ายขึ้นผ่านมาร์เก็ตเพลสและอีคอมเมิร์ซต่างๆ 

จากการสังเกตุการณ์ในแพลตฟอร์มช้อปปี้(Shopee) ของบริษัทเอง ปีที่ผ่านมามีจำนวนผู้ขายสินค้าโอทอปเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากสินค้าของแต่ละตำบลล้วนเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ แต่ที่ผ่านมามีข้อจำกัดคือ เข้าถึงได้ยาก ต้องไปยังแหล่งชุมชนนั้นๆ เพื่อหาซื้อ ปัจจุบันด้วยการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบวกกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น อยู่ที่ไหนก็ซื้อได้ ผู้ขายเองก็มียอดขายที่เพิ่มขึ้น เชื่อว่าจากจุดเล็กๆ เหล่านี้จะต่อยอดไปถึงการช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลกให้รุดหน้ายิ่งขึ้นได้

ไม่เพียงหน่วยงานรัฐเท่านั้นที่มีหน้าที่ในการผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้าไปสู่ความเป็นดิจิทัล ภาคการศึกษาเองก็มีส่วนร่วมไม่น้อย โดยเริ่มเห็นว่ามหาวิทยาลัยหลายแห่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มที่ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ผลักดันให้เกิดการจำลองของสมาร์ทซิตี้ขนาดย่อม ภายใต้ 5 แนวคิดหลัก ได้แก่ 1.ศูนย์ธรรมศาตร์เพื่อประชาชน 2.ชุมชนแห่งการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ 3.เมืองมหาวิทยาลัยสีเขียวที่ยั่งยืน 4.มหาวิทยาลัยแห่งความสุข และ 5.ศูนย์กลางบ่มเพาะเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 

ที่น่าสนใจมากๆ คือ คนมักจะมองว่าคนในเมืองเท่านั้นที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล แต่จริงๆ แล้วเกษตรกร ชาวประมง และชาวบ้านในหลายพื้นที่ก็มีโอกาสใช้เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตแล้วเช่นกัน 

อย่างล่าสุด สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(สสนก.) ที่ดูแลเรื่องการบริหารจัดการน้ำในประเทศไทย ได้จัดทำแอปพลิเคชั่น ThaiWater ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลให้ทุกภาคส่วนสามารถนำข้อมูลเกี่ยวกับสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำในแต่ละพื้นที่ ปริมาณน้ำในเขื่อน การคาดการณ์ และการรายงานระดับน้ำในจุดสำคัญต่างๆไปใช้ ซึ่งเมื่อนำมาประยุกต์ใช้กับทั้งแผนที่และจีพีเอส ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรและชาวประมงสามารถวางแผนในการทำการเกษตรและประมงได้อย่างเหมาะสมและแม่นยำ เพิ่มประสิทธิผลของผลผลิต รวมถึงหลีกเลี่ยงปัญหาความไม่แน่นอนของสภาพอากาศและน้ำที่จะส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของพวกเขาได้ 

การขับเคลื่อนงานเหล่านี้จริงๆ แล้วเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ไม่ยากและเข้าถึงได้ง่ายกว่าที่คิด แต่ต้องสนับสนุนให้เห็นประโยชน์จนเกิดการเรียนรู้ จากหลายๆ ตัวอย่างที่ยกมาแสดงให้เห็นแล้วว่า วันนี้เทคโนโลยีและโลกดิจิทัลเดินทางไปไกลกว่าที่คิด ทั้งก่อประโยชน์ในแง่ต่างๆ ในวงกว้างหากประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม 

หากภาครัฐยังคงเดินหน้าอย่างเต็มกำลังทั้งในเรื่องของนโยบายที่ต่อเนื่องและจริงจัง ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ให้ประชาชนทั่วไปทราบถึงประโยชน์และหันมาปรับตัวให้เท่าทันกับเทคโนโลยี อีกไม่นานเราคงเห็นคนในทุกระดับชั้นใช้เทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ในการดำเนินชีวิตมากขึ้น ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 ได้แบบเต็มตัวในที่สุด