เคล็ดลับของการเปลี่ยนแปลง แรงบันดาลใจ (ตอน 1)

เคล็ดลับของการเปลี่ยนแปลง แรงบันดาลใจ (ตอน 1)

ยุคนี้ ถ้านำคนให้เปลี่ยนไม่ได้..ไม่ใช่ผู้นำ! จบข่าวสั้นที่แสนเศร้า เพราะผู้ที่เก่งนำการเปลี่ยนแปลง หาทำยายากมาก

จนถึงมากที่สุดในยุคที่การเปลี่ยนแปลงอยู่รอบกายคล้ายอากาศ

ท่านผู้อ่านคงเคยประสบสถานการณ์ที่หัวหน้าต้องการให้ลูกทีมเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ว่าจะลุ้นแรงขนาดไหน คนที่ต้องปรับก็ไม่ขยับ แม้ยอมเขยื้อนบ้าง แต่พอห่างสายตา..ก็พากันกลับไปเหมือนเดิม

ทำไมมันช่างยากเย็น เข็นไม่ขึ้น

เขาไม่รู้เลยหรือว่า โลกยุคใหม่นี้ไม่มีที่ให้คนดื้อยื้อการเปลี่ยนแปลง

คำตอบคือ...รู้ครับ..แต่เปลี่ยนยากมาก ฝากบอก

ทักษะสำคัญวันนี้ ที่จะทำให้พี่ยื้อตำแหน่งหัวหน้าไว้ได้ เพราะพี่ช่วยให้ทีมพร้อมเปลี่ยน คือ

เรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับแรงบันดาลใจที่ฝรั่งใช้คำว่า “inspiration”

ทั้งนี้เป็นเพราะ ยามที่คนมีแรงบันดาลใจ เขาใช้พลังจากข้างในขับเคลื่อนตนเองด้วยหัวใจมิใช่สมองพลังจึงยิ่งใหญ่นัก

แม้สมองและร่างกายบอกว่าเหนื่อยหนักหากใจบอกว่ายังไหวอะไรก็ทัดทานใจไม่อยู่ 

เพื่อเข้าใจอารมณ์นี้ ท่านผู้อ่านทดลองนึกถึงประสบการณ์ยามที่เคยได้ทำอะไรบางอย่างแล้วเรารู้สึกเหมือนลืมโลกลืมเวลา..

ยามนั้น เวลาจะเดินในมิติใหม่

ชั่วโมงและนาที ที่เคยเดินเอื่อยๆ กลับเหมือนบินฉิว ปลิวหาย เช่น

กว่าจะเงยหน้าจากโครงการใหม่ที่ท้าทายกระตุกต่อมอยาก หรือ จากการดูรายการโปรดของฉัน “บุพเพสันนิวาส” หรือ การบรรจงประดิษฐ์ของขวัญให้คนผู้เป็นที่รักอย่างสุดฝีมือ..เราทำไปคล้ายไม่นาน แต่เวลาเช้ากลับหาย กลายเป็นบ่ายคล้อย ใกล้เย็นค่ำ

ยามคนเรารู้สึกมีแรงบันดาลใจเราจะมีพลัง มีความมุ่งมั่น มีความสุขใจได้อย่างน่ามหัศจรรย์

พี่ๆหัวหน้า ต่างย่อมอยากได้พลังเยี่ยงนี้จากคนในทีม เพราะไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงจะดูยากขนาดไหน หรืออุปสรรคยิ่งใหญ่เพียงใด

แรงบันดาลใจ จะเป็นตัวฉุดให้เราก้าวต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ

โจทย์วันนี้ที่พี่ๆต้องใส่ใจยามนำการเปลี่ยนแปลง จึงเป็น

ทำอย่างไร ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้ทีม

ก่อนอื่นใด มาทำความเข้าใจ inspiration กันก่อนค่ะ

ทั้งไทยและเทศ ต่างมีความเห็นสอดคล้องกันประเด็นหนึ่ง ถึง ที่มาของ inspiration

คำว่า inspiration ของฝรั่งมีรากคำที่หมายถึง to breathe into หรือใส่ “ลมหายใจ” เพื่อให้ชีวิตถือเป็นพลังที่มาจากเบื้องบนที่ดลให้ได้มาซึ่งสิ่งที่มนุษย์ธรรมดาไม่สามารถแสวงหาเองได้

ไทยก็เช่นกันเราใช้คำว่า แรง “บันดาล”ใจคล้ายกับมีพลังยิ่งใหญ่ที่เหนือกว่าเรา “ดล” ให้ได้มาซึ่งความคิดและพลัง เพื่อทำอะไรบางสิ่งอย่างสุดหัวใจ

สรุปง่ายๆว่าที่ผ่านมา เราต่างอาจยังไม่แน่ใจ จนฟันธงได้ว่า inspiration มีที่มาอย่างไร จึงอธิบายคล้ายเหมาเอาว่า เขามาจากสิ่งที่ “ยิ่งใหญ่” เหนือธรรมชาติ

หันมามองวงการนักจิตวิทยา ผู้ที่ลงลึกศึกษาเรื่องแรงบันดาลใจ จนได้รับการยอมรับสูงสุดกลุ่มหนึ่ง คือทีมอาจารย์ Todd Thrashและ Andrew Elliot แห่งUniversity of Rochester สหรัฐอเมริกา

ทีมฟันธงว่า แม้ยังหาที่มาไม่ชัด แต่เราสามารถเข้าใจ inspiration ได้ โดยตั้งหลักจากอาการของเขาซึ่งมีลักษณะพิเศษ 3 ประการคือ

1.อย่าบังคับ!Evocation

เป็นสิ่งที่ สั่งไม่ได้คล้ายได้มาจากแหล่งเหนือธรรมชาติดังกล่าวข้างต้น

อีกนัยหนึ่งไม่มีใครสามารถบังคับตนได้ว่ายามนี้งานหนักนักหนาแรงบันดาลใจกรุณาออกมาช่วยให้ไว!

ดังนั้นเมื่อตนเองยังบังคับใจตนให้เกิดinspirationไม่ได้ไฉนเลยคนอื่นใด (อาทิ เจ้านาย)จะบังคับใจเราได้

กาย สั่งได้แต่ใจ..อย่าหวัง

2.มองทะลวงข้อจำกัดTranscendence

แรงบันดาลใจทำให้คนมองทะลุข้อจำกัดต่างๆที่มีเป็นปกติทุกเมื่อเชื่อวัน ตามที่สมองและประสบการณ์สั่งไว้ ว่ายากยิ่งสิ่งนี้ อย่าทำ หรือ คิดท้อ ขอถอย เราหรือจะทำไหว ฯลฯ

แต่เมื่อใด ที่เกิดประกายวาบของ inspiration ข้อจำกัดทั้งหลายจะถูกทลายลงเปลี่ยนเป็นเห็นโอกาส เกิดความเข้าใจสว่าง อย่างไม่ธรรมดา

3.จัดให้เกิดApproach Behaviour

แรงบันดาลใจ“ผลัก” ให้คนอยากลุกขึ้นมาสานต่อให้เกิดผล

ดังนั้นหากเพียง“in” หรือ ตื่นตาตื่นใจกับอะไรบางอย่างแต่..ยังอยู่นิ่ง นั่งใหลหลง ไม่ชงต่อถือว่ายังไม่ครบองค์ประกอบของแรงบันดาลใจที่แท้จริง

ผู้นำการเปลี่ยนแปลงย่อมอยากได้ทั้งข้อ 2.มองทะลวงข้อจำกัดและ 3.จัดให้เกิด

จึงต้องไขความลับ ของข้อ 1.ที่ว่าอย่าบังคับ!

ผู้รู้เรื่องแรงบันดาลใจ กระซิบว่า

หากไปทางตรงๆไม่ได้ ทางอ้อมยังมี

พี่ๆไม่สั่ง แต่ใช้วิธีสร้างเสริมบริบท” ที่เอื้อต่อการจุดประกายไฟในใจได้

มาไขวิธีการ “สร้างเสริมบริบท” inspiration กันตอนต่อไปค่ะ