จับตา สหรัฐฯ ประกาศชื่อประเทศปั่นค่าเงิน

จับตา สหรัฐฯ ประกาศชื่อประเทศปั่นค่าเงิน

จับตา สหรัฐฯ ประกาศชื่อประเทศปั่นค่าเงิน

ใกล้เข้ามาทุกทีกับกำหนดประกาศชื่อประเทศปั่นค่าเงิน (currency manipulator) ของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะเกิดในเดือนนี้ ซึ่ง ปธน. ทรัมป์ ตั้งเป้าไปที่จีนอีกครั้ง นอกเหนือจากมาตรการทางภาษีต่างๆ ที่เป็นพาดหัวข่าวสำคัญของโลกเวลานี้ ตั้งแต่ภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียม ตามด้วยภาษีนำเข้าสินค้า 1,333 รายการ มูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 9.9% ของมูลค่านำเข้าจากจีนของสหรัฐฯ และ 2.2% ของมูลค่าส่งออกของจีนปี 2560) และการตอบโต้ของจีนในมาตรการภาษีนำเข้าบนสินค้าส่งออกสำคัญของสหรัฐฯ อย่างถั่วเหลือง รถยนต์ และเครื่องบิน ล่าสุด ทรัมป์ เสนอให้เพิ่มภาษีบนสินค้ามูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์ คาดว่าจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจจีนสูงขึ้นจาก 0.2% เป็น 0.6% ของ GDP ภายในปี 2563

แม้ล่าสุดท่าทีแข็งกร้าวของทั้งสองประเทศจะผ่อนคลายลง โดยใน Boao Forum ปธน.สี จิ้นผิงประกาศว่าจีนจะเปิดเสรีการค้าและการลงทุนกับต่างประเทศมากขึ้น รวมทั้งจะลดการเกินดุลการค้าของจีนด้วย ทำให้ ทรัมป์ พอใจระดับหนึ่ง และคาดว่าจีนกับสหรัฐฯ จะตกลงกันได้ภายใน 22 พฤษภาคม ซึ่งเป็นกำหนดบังคับใช้มาตรการข้างต้นของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม การประกาศชื่อประเทศปั่นค่าเงินของสหรัฐฯ เป็นที่จับตาของตลาดเพราะจะบอกได้ว่า สหรัฐฯ ยังคงไม่พอใจต่อท่าทีของจีน และเดินหน้าผลักดันมาตรการกีดกันการค้า ทำให้ความขัดแย้งของสองมหาอำนาจรุนแรงขึ้น หรือจะเริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์กับท่าทีที่ประนีประนอมขึ้น ทั้งนี้ เกณฑ์กำหนด Currency Manipulator ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2559 ประกอบไปด้วย 3 ข้อ

  1. การค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ สูงกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์
  2. ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงกว่า 3% ของ GDP ประเทศนั้นๆ
  3. มีการซื้อสินทรัพย์สกุลเงินต่างชาติในปริมาณ 2% ของ GDP ใน 12 เดือนที่ผ่านมา เพื่อแทรกแซงค่าเงินให้อ่อนค่าและเอื้อประโยชน์ต่อส่งออก

ทั้งนี้ จีนเข้าเกณฑ์เพียงข้อ 1 ด้วยมูลค่าการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯที่ 3.8 แสนล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2560 ขณะที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัดของจีนเพียง 1.3% ของ GDP (ปี 2560) ขณะที่ ตั้งแต่ต้นปี 2560 เงินหยวนแข็งค่าเทียบดอลลาร์กว่า 9.8% ซึ่งจีนต้องการรักษาค่าเงินหยวนเพื่อชะลอการไหลออกของเงิน ทำทุนสำรองระหว่างประเทศทรงตัวเหนือเกณฑ์ 3 ล้านล้านดอลลาร์กว่า 14 เดือน ติดต่อกัน อย่างไรก็ดี ยังนิ่งนอนใจไม่ได้ว่าสหรัฐฯ จะไม่โจมตีจีนเรื่องบิดเบือนค่าเงิน เพราะการตัดสินใจนี้เป็นเกมส์การเมืองมากกว่าเศรษฐกิจ ดังนั้น หาก ทรัมป์ ตั้งป้อมจะลดขาดดุลการค้ากับจีน คงทำทุกทางที่จะกดดันจีนต่อเนื่อง

ข้ามมาที่ประเทศอื่น ตามรายงานเดือนตุลาคมปีที่แล้ว นอกจากจีนแล้ว ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี และสวิส อยู่ในรายชื่อเฝ้าระวัง ขณะที่เกาหลีใต้ถูกเอาชื่อออกเพราะอยู่ระหว่างเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี KORUS ขณะที่ไทยสามารถหลีกได้จากการที่ไทยไม่ใช่คู่ค้าหลักของสหรัฐฯ (ปัจจุบันอยู่ในอันดับ 21) แต่หากพิจารณาเกณฑ์ทั้ง 3 ข้อแล้ว ไทยเข้าข่ายทั้งหมด ทั้งนี้ ประเทศที่ถูกจับตาพยายามลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ รวมถึงปล่อยค่าเงินของตนให้แข็งขึ้น เพื่อประนีประนอม เช่น อินเดีย ที่ปี 2560 เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ลดลงสู่ 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์เทียบกับ 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2552 ขณะที่ไทยและมาเลเซียปล่อยค่าเงินให้แข็งขึ้นกว่า 10.7% และ 7.9% ตามลำดับ ตั้งแต่ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งปลายปี 2559

คำถามถัดไปคือจะเกิดอะไรขึ้นหากประเทศถูกกำหนดจากสหรัฐฯ ว่าปั่นค่าเงิน ที่จริงแนวปฏิบัติต่อประเทศนั้นๆ ไม่ตายตัว ขึ้นกับการเจรจา ในอดีต สหรัฐฯ ประกาศให้เกาหลีใต้เป็นประเทศปั่นค่าเงิน (ปี 2531) ไต้หวัน (ปี 2531 และ 2535) และจีน (ปี 2535-2537) ซึ่งการประนีประนอมทำได้ตั้งแต่ลดความเร็วของการสะสมทุนสำรองระหว่างประเทศในสินทรัพย์สกุลดอลลาร์ ไปถึงเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เช่น เกาหลีใต้เพิ่มการนำเข้าพลังงาน และจีนที่นำเข้าเซมิคอนดัคเตอร์จากสหรัฐฯ แทนไต้หวัน เป็นต้น