ภาคธุรกิจ SSO โอกาสของบัณฑิตไทยในมาเลเซีย

ภาคธุรกิจ SSO โอกาสของบัณฑิตไทยในมาเลเซีย

เริ่มต้นปีใหม่ด้วยข่าวจากนิตยสาร Forbes เปิดเผยผลการจัดอันดับประเทศที่เหมาะในการทำธุรกิจในปี 2018 โดยไทยอยู่ในลำดับที่ 49 จาก 153 ประเทศ

การจัดอันดับดังกล่าวดูตัวแปรหลากหลาย อาทิ คุณภาพชีวิตประชาชน ระบบภาษี บรรยากาศทางการเมือง นโยบายทางเศรษฐกิจ อุปสงค์แรงงาน และภาวะการว่างงาน เป็นต้น ซึ่งการจัดอันดับนี้ ย่อมเป็นกระจกสะท้อนมุมมองของนักลงทุนต่างชาติต่อประเทศได้ในทางหนึ่ง

ผลการจัดอันดับเดียวกันนี้ได้จัดให้เพื่อนบ้านของไทย อย่างมาเลเซียอยู่ในลำดับที่ 35 ซึ่งมีความน่าสนใจในแง่ที่แม้จะเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันตกต่ำ ค่าเงินริงกิตผันผวน และอ่อนค่ากว่าเงินบาท แต่โดยภาพรวมมาเลเซียยังคงเป็นประเทศที่น่าลงทุนในสายตานักลงทุนต่างชาติ

งานวิจัยเรื่อง โอกาสของแรงงานข้ามชาติไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน : การวิจัยสำรวจธุรกิจ Shared Services and Outsourcing ในมาเลเซีย ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่แสดงให้เห็นศักยภาพทางเศรษฐกิจของมาเลเซีย ในด้านการเป็นศูนย์กลางของภาคธุรกิจการบริการร่วม และการจัดจ้างจากภายนอก (Shared Services and Outsourcing-SSO) ได้อย่างดี และยังทำให้เห็นตัวแปรบางอย่างที่นิตยสาร Forbes กล่าวถึงได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ตัวแปรหนึ่งคือ ตัวแปรด้านนโยบาย ซึ่งมาเลเซียมีนโยบายและมาตรการส่งเสริมการลงทุน เพื่อสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดีให้กับนักลงทุนต่างชาติ ที่จะเข้ามาลงทุนในธุรกิจ SSO อย่างเป็นรูปธรรมและเด่นชัด เช่น ลดหย่อนภาษี 10 ปี ลดหย่อนภาษีการลงทุน 5 ปี ไม่มีการจัดเก็บภาษีใดๆ สำหรับเครื่องมือหรือครุภัณฑ์ดิจิทัล รวมทั้ง อนุญาตให้มีการจ้างงานแรงงานที่มีความรู้และทักษะระดับสูงจากต่างประเทศ เป็นต้น

นโยบายด้านเศรษฐกิจในการส่งเสริมภาคธุรกิจ SSO ถูกนำมาใช้เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายหลักของรัฐบาลมาเลเซีย ที่ต้องการยกระดับรายได้ของประชากรให้อยู่ในระดับสูง รัฐบาลจึงอาศัยจุดเด่นทางด้าน digital economy และสาธารณูปโภคพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศ ผลักดันให้ภาคธุรกิจ SSO ในมาเลเซียขยายตัวอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง ทำให้มาเลเซียครองอันดับที่ 3 ของโลก ในการเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจ SSO ติดต่อกันมากว่าทศวรรษ

ความน่าสนใจของผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับไทย คือ โอกาสในการจ้างงานแรงงานไทยที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ซึ่งถือเป็นแรงงานที่มีความรู้และทักษะระดับสูงในมาเลเซียยังคงเปิดกว้างและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ด้วยธรรมชาติของภาคธุรกิจ SSO ที่ต้องให้บริการลูกค้าด้วยภาษาประจำชาติ และข้อจำกัดด้านจำนวนประชากรของมาเลเซียที่มีเพียง 30 กว่าล้านคน จึงพบว่าแรงงานไทย ซึ่งหมายถึงบัณฑิตที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี มีโอกาสและช่องทางในการเคลื่อนย้ายเพื่อไปทำงานในมาเลเซียในฐานะแรงงานที่มีความรู้และทักษะระดับสูงในภาคธุรกิจ SSO ได้

เมื่อพิจารณารายได้โดยเปรียบเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำระดับปริญญาตรีในไทยซึ่งมีเกณฑ์อยู่ที่ 15,000 บาทนั้น อัตราเงินเดือนโดยเฉลี่ยของพนักงานคนไทยในภาคธุรกิจ SSO ในมาเลเซียจะอยู่ที่ประมาณ 3,000-5,000 ริงกิต/เดือน สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ได้รับเหมือนกับแรงงานชาวมาเลเซีย และมีสวัสดิการอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ค่าภาษา ส่วนการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานก็ได้รับเท่าเทียมกับแรงงานชาวมาเลเซีย

นอกจากนี้ การศึกษาพบว่าทั้งนโยบายของมาเลเซีย นโยบายของบริษัท และกฎหมายของมาเลเซียไม่ได้ปิดกั้นการเข้าไปทำงานของแรงงานที่มีทักษะระดับสูงจากต่างชาติ

ความสามารถเฉพาะด้านของคนไทยยังนับเป็นจุดแข็งที่เป็นสมรรถนะที่สำคัญของแรงงานไทย คือ ภาษาไทยที่ชัดถ้อย ชัดคำ รู้จักเลือกใช้คำที่เหมาะสม การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี สามารถทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานชาวต่างชาติได้ดี การมีจิตบริการ ความกระตือรือร้น และมีความซื่อสัตย์

อย่างไรก็ดี มาเลเซียได้กำหนดมาตรการที่เรียกว่า Cooling-off Period ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็น ภัยคุกคามต่อโอกาสความก้าวหน้าของแรงงานไทย เพราะเมื่อครบ 1 ปีตามใบอนุญาตการทำงาน (Employment Pass) หรือหากมีการเลื่อนตำแหน่งหรือเปลี่ยนงาน แรงงานคนดังกล่าวต้องเดินทางออกนอกประเทศมาเลเซียเป็นระยะเวลา 3 เดือน และจะดำเนินการต่ออายุได้เพียงสองครั้ง ส่งผลให้แรงงานชาวไทยสามารถทำงานในมาเลเซียได้สูงสุดเพียง 3 ปีเท่านั้น

อย่างไรก็ตามมาตรการนี้จะไม่บังคับใช้กับแรงงานที่ได้รับเงินเดือนตั้งแต่ 5,000 ริงกิตขึ้นไป ซึ่งข้อมูลนี้ยังต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้พนักงานคนไทยรับรู้โดยทั่วถึง อาจผ่านช่องทางของฝ่ายแรงงานของสถานทูตไทยในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ที่ควรมี นโยบาย และการดูแลแรงงานไทยที่มีความรู้และทักษะสูงกลุ่มนี้เช่นกัน

นอกจากนี้ ยังพบว่าแรงงานไทยมีจุดอ่อนในด้านทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ ทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และการกล้าแสดงออก ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขปรับปรุงทั้งในระดับบุคคลและหน่วยงาน โดยเฉพาะหน่วยงานด้านการศึกษาที่ต้องให้ความสำคัญกับการฝึกฝนทักษะภาษาอังกฤษ และฝึกทักษะแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รวมทั้งการสร้างบรรยากาศ และกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่ต้องมีการฝึกฝนการคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์

เป็นที่น่าสังเกตว่า ข้อแนะนำของการศึกษาวิจัยนี้สอดคล้องกับข้อเสนอของผลการศึกษาของ A.T. Kearny ที่กล่าวถึงโอกาสของบัณฑิตที่จะเข้าสู่ภาคธุรกิจ SSO ที่แม้จะมีนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือหุ่นยนต์ช่วยการทำงาน แต่ทักษะที่ต้องการมากขึ้นคือ ทักษะการคิดวิเคราะห์ได้ของพนักงาน ซึ่งเป็นข้อเสนอไปถึงสถานศึกษาที่ต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรและสร้างกำลังแรงงานให้มีทักษะมากขึ้น

การจัดอันดับประเทศก็ดี ภาวะเศรษฐกิจก็ดี ย่อมเป็นภาพสะท้อนมุมมองของนโยบายรัฐที่กระทบกับประชาชนไม่มากก็น้อย

แม้มีการแข่งขันทางเศรษฐกิจระดับโลกอย่างเข้มข้น แต่หากประชาชนมีการเตรียมความพร้อม มีความสามารถทางการแข่งขัน พร้อมทั้งมองหาโอกาส ปัจจัยเหล่านี้ย่อมเป็นทางรอดในทุกสภาวะเศรษฐกิจและการแข่งขัน

โดย... 

ดร.อรชา รักดี

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

นักวิจัย ฝ่าย 1 สกว.