Orihime

Orihime

ผมเคยเขียนเรื่องลูกสาวในฝัน คือน้องปรางค์ อภินรา ศรีกาญจนา

สามปีผ่านไป ผมก็ได้พบกับ ลูกชายในฝัน Mr. Kentaro Yoshifuji แถมพบในวันเกิดเจ้าธีร์ครบเก้าขวบเสียด้วย

“Dr Thun, how do I create time?” ผู้บริหารรายหนึ่งถามผมอย่างอ่อนอกอ่อนใจ “ช่วงนี้งานเยอะมาก เดี๋ยวคนนั้นเรียก เดี๋ยวคนนี้เรียก ลูกน้องก็ต้องช่วย I can’t be in two places at once!”

จริงไหมว่าเราแยกร่างไม่ได้

สองวันให้หลัง ผมได้พบกับ Yoshifuji-san เรานั่งข้างกันในงานดินเนอร์ของ Leadership Energy Summit Asia 2017

“เรียกผมง่ายๆว่า Ori” เด็กหนุ่มชาวญี่ปุ่นบอกผมผ่านล่าม

Ori เกิดที่เมืองเล็กๆ แต่ปัจจุบันย้ายมาอยู่โตเกียว ช่วงสิบขวบเคยป่วยหนักต้องนอนอยู่กับเตียงกว่าสามปี เขาบอกผมว่า ไม่มีความรู้สึกใดแย่ไปกว่าการมีร่างกายพิการแต่สมองปกติ ได้แต่นอนนิ่งอยู่บนเตียง ในหัวมีความคิดแล่นพล่านมากมาย

“Why do we only have one body?” ทำไมเราต้องมีแค่ร่างกายเดียว คือคำถามระเบิดโลกที่เปิดประตูสู่ทุกอย่าง หลังจากนั่งอ้าปากค้างอยู่พักหนึ่ง ผมถาม Ori ว่าแล้วเขาทำอะไร

“This is Orihime” เขาดึงหุ่นยนต์ตัวเล็กออกมาจากกระเป๋า “มันคือ ‘ร่างกายที่สอง’ ของคนป่วยที่ต้องติดอยู่กับเตียง เช่นคนเป็นอัมพาต หรือเป็นโรค Amyotrophic lateral sclerosis (ALS) ที่ทำให้กล้ามเนื้อในร่างกายอ่อนแรง” พระเจ้า นี่มัน Big Hero 6 ชัดๆ

“หลักการจริงๆ ไม่ยากเลย” คราวนี้เขาเปิด App ในมือถือให้ผมดู “ในหุ่นมีกล้อง แขนขาควบคุมได้ มีลำโพงและไมโครโฟน ทุกอย่างอยู่บน Wi-Fi” พอกดปุ่มฮัลโหล หุ่น Orihime ยกมือขวาขึ้นเซย์ไฮ ก่อนก้มหัวลงโค้งตามสไตล์ชาวญี่ปุ่น

วันรุ่งขึ้น Yoshifuji-san ขึ้นเวทีเพื่อรับรางวัล Iclif Leadership Energy Award 2017 เขาเปิดคลิปสั้นๆ ประกอบเรื่องเล่าของคุณพ่อชาวนอร์เวย์ผู้ป่วยโรค ALS กับลูกสาวตัวน้อยสองคน

“Hi daddy” เสียงใสๆ ทักหุ่นยนต์ตัวจ้อยที่ตั้งอยู่บนโต๊ะกินข้าวที่บ้าน

“Hi sweeties” คำพูดของพ่อผู้ติดอยู่กับเครื่องช่วยหายใจที่โรงพยาบาลตอบกลับมาผ่าน Orihime

Yoshifuji อธิบายว่าเขาใช้เทคโนโลยีการจับความเคลื่อนไหวของลูกตา (eyeball tracking) ผู้ป่วยสามารถสั่งงานหุ่นได้ด้วยการมองแป้นพิมพ์บนจอ

“กู๊ดไนท์ daddy” เด็กน้อยสองคนกอด Orihime คนละข้าง คนน้องจุ๊บแก้มมันเบาๆ

ในห้องอีกฟากของเมือง ผู้เป็นพ่อมองจอพลางน้ำตาไหลเป็นทาง ผู้ชมในห้องต่างกลั้นสะอื้น

ข้อคิดของผู้นำสมอง

1. The One-million-dollar question ทักษะอันสำคัญยิ่งของยุค 4.0 คือการตั้งคำถาม 

น่าเสียดายความสามารถข้อนี้ในวัยเด็กกลับถูกทำลายด้วยสิ่งแวดล้อมที่ผู้ใหญ่สร้างขึ้น ในช่วงชีวิตหนึ่งเราตั้งคำถามมากสุดตอนห้าขวบ แต่พออายุสิบแปดทักษะการถามคำถามกลับลดเหลือเท่ายามหัดพูด เพราะโลกสอนเราว่าคำตอบสำคัญกว่าคำถาม 

Yoshifuji บรรลุคำถามทองของเขาหลังจากนอนคิดเงียบๆ คนเดียวมาสามปี

2. Solve an impossible problem Orihime ไม่เพียงแค่พูดโต้ตอบหรือแสดงท่าทางได้ แต่ความหมายของมันมากมายกว่านั้น 

พ่อซึ่งนอนอยู่ในโรงพยาบาลได้ไปเที่ยวดิสนีย์แลนด์กับลูกสาว ผ่านหุ่นยนต์สีขาวที่นั่งไปด้วยข้างรถเข็นเด็ก ได้ไปร่วมงานแต่งงานในฐานะเพื่อนเจ้าบ่าว กระทั่งดินเนอร์พร้อมกับภรรยาข้างแสงเทียนโรแมนติก ทุกอย่างสมองรับรู้ได้แม้ร่างกายจะอยู่อีกแห่ง

 You CAN be in two places at once!

3. Man and Machine เรื่องราวของ Ori เป็นตัวอย่างของการอยู่ร่วมกันอย่างลงตัวระหว่างคนกับเทคโนโลยี

เขาเล่าให้ผมฟังว่า มีนักธุรกิจหลายคนแนะนำให้เอา Artificial Intelligence มาใช้แต่ถูกปฏิเสธไปหมด เพราะสำหรับเด็กหนุ่มคนนี้ หุ่น Orihime ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้คอมพิวเตอร์มาทดแทนการทำงานของมนุษย์ ตรงกันข้าม มันถูกสร้างขึ้นเพื่อช่วยให้มนุษย์รักษาความเป็นมนุษย์ไว้แม้ร่างกายพิการ 

Machine ตัวเล็กๆแสนน่ารักตัวนี้ คือสิ่งหล่อเลี้ยงหัวใจอันสมบูรณของพ่อให้ยังเต้นต่อไปอย่างมีความหมาย

“What’s next for you?” ผมถาม

“ผมกำลังพัฒนา Orihime ให้ทำอะไรต่ออะไรได้มากกว่านี้อีก จับวัตถุ ยกสินค้า กวาดพื้น” เขาตาเป็นประกายเมื่อได้กล่าวถึงความฝัน 

“สุดยอดเลยคือ ผมอยากเห็นร้านขายของสักแห่ง ที่พนักงานทั้งหมดในร้านคือ Orihime อยากให้คนพิการทางร่างกายมีโอกาสทำงาน ได้ฟื้นฟูศักดิ์ศรีของความเป็นคนกลับมา”

กล้าคิดกล้าตั้งคำถาม ท้าทายสิ่งที่โลก(เคย)บอกว่าเป็นไปไม่ได้ แล้วลงมือสร้างคำตอบ Create a better future ด้วยศักยภาพแห่งโลก 21st Century

นี่แหละครับ ลูกชายในฝัน ของผม