มีตังค์ (ลงทุน) เท่าไหร่ถึงจะพอ

มีตังค์ (ลงทุน) เท่าไหร่ถึงจะพอ

ผลตอบแทนที่เหมาะสมของแต่ละคน ผมมองไว้ที่ 5-12%

เชื่อว่าหลายท่านคงเคยตั้งคำถามกับตัวเอง หรือเคยถูกถามว่า   เฮ้ย...มีตังค์เท่าไหร่เราถึงจะพอ?  น่าคิดนะครับว่าคน คนหนึ่งจะมีเงินเท่าไหร่ถึงจะพอ  โดย 'พอ' ในที่นี้คือไม่ต้องทำมาหากินอะไรแล้ว แต่มีเงินจากดอกผลมากินใช้ไปจนตลอดชีพ

บางคนระบุเป็นตัวเลขตายตัว บางคนว่าหลักสิบ (ล้าน) น่าจะพอนะบางคนยักไหล่บอกว่า 'อย่างผมคงต้องหลักพัน (ล้าน) ถึงจะพอ' ก็ว่ากันไป แต่ที่แน่ๆ แต่ละคนคงมีมุมมองต่างกันเรื่องว่ามีเท่าไหร่ถึงจะพอ ส่วนจะต่างกันนั้นมันขึ้นอยู่กับตัวแปรอะไรบ้าง ก็มีวิธีอย่างง่ายในการที่จะคำนวณว่าเราควรมีเงินลงทุนเท่าไหร่ที่จะพอใช้ไปจนตาย โดยการใช้จ่ายที่เพียงพอนี้คือเอาเฉพาะดอกผลมาใช้ อย่างเดียวไม่แตะเงินต้น หรือแตะก็ให้น้อยที่สุด

ตัวแปรแรก ค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะต้องใช้เฉลี่ยต่อเดือน ตัวนี้สำคัญ ยิ่งคุณใช้จ่ายมากเท่าไหร่ แน่นอนว่าคุณก็ต้องมีเงินมากขึ้นเพื่อให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายมากขึ้นเท่านั้น

ตัวแปรที่สอง  ผลตอบแทนเฉลี่ยที่คุณคิดว่าจะหาได้ในอนาคตตลอดไป อันนี้ก็จะแตกต่างกันไปสำหรับแต่ละคน ผลตอบแทนที่จะหาได้ของแต่ละคนจะมากจะน้อยขึ้นอยู่ กับ ความสามารถในการรับความเสี่ยงถ้ารับความเสี่ยงได้น้อย ผลตอบแทนที่จะหาได้ก็ไม่มาก เพราะต้องลงในเงินฝากและตราสารหนี้ในสัดส่วนที่มาก แต่ถ้ารับความเสี่ยงได้มากหน่อยมีความสามารถในการเลือกการลงทุน ก็มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูงได้ในระยะยาว ซึ่งผลตอบแทนที่สูงขึ้นจะช่วยทำให้เรามีโอกาสที่จะมีเงินแล้วพอได้ง่ายกว่าผลตอบแทนที่ต่ำ

ตัวแปรที่สาม อัตราเงินเฟ้อในระยะยาว อันนี้ก็น่าจะพอๆกันทุกท่าน  ปัจจุบันบ้านเรา หรือทั่วโลกอยู่ในสภาวะเงินเฟ้อต่ำ กลมๆประมาณ 1% แต่อย่าเอาเป็นฐานในการคิดครับ เพราะเฉลี่ยระยะยาวเงินเฟ้อไม่ได้ต่ำขนาดนี้ แต่อยู่ประมาณที่ 3% น่าจะเหมาะกว่า  ที่ต้องเอาเงินเฟ้อเข้ามาคิดเพราะเงินเฟ้อจะเป็นตัวที่ลดอำนาจซื้อของเรา  และทำให้ค่าใช้จ่ายของเราสูงขึ้นในอนาคต จึงเป็นปัจจัยที่เอาเข้ามาคิดด้วย และถ้าเราประเมินค่าเงินเฟ้อต่ำไปจะทำให้เราพอวันนี้ แต่ไม่พอวันหน้าได้ครับ

พอได้ดังนี้เราเอาตัวแปรที่สอง ลบด้วยตัวแปรที่สามคือ อัตราผลตอบแทน-อัตราเงินเฟ้อ ก็จะได้อัตราผลตอบแทนหลังเงินเฟ้อ แล้วเราเอา 12 /อัตราผลตอบแทนหลังเงินเฟ้อ  ตัวเลขที่ได้ก็จะบอกว่า เราควรมีเงินลงทุนเป็นกี่เท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน

ลองยกตัวอย่างครับ สมมติว่าเราคาดว่าเราสามารถลงทุนได้ผลตอบแทนที่ 7% ต่อปีในระยะยาว  เงินเฟ้อระยะยาวประมาณ 3% ต่อปี (ระยะยาวในที่นี้ก็คือ ตั้งแต่วันที่ท่านพอ จนถึงวันที่ท่านจะลาจาก)  ดังนั้นเราก็จะได้ผลตอบแทนหลังเงินเฟ้อที่  4%   เอา 12/4% ได้ 300 ตัวเลข 300 ที่หามาได้ก็คือท่านต้องมีเงินลงทุนเท่ากับ 300 เท่าของค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน จึงจะสามารถอยู่ได้โดยกินเฉพาะดอกผลไม่แตะเงินต้นไปตลอดชีพ

ถ้าท่านคิดว่าจะใช้เดือนละ 20,000 บาทต่อเดือน ก็ต้องมีอย่างน้อย  20,000 X 300 = 6,000,000 บาท   ถ้ายิ่งใช้จ่ายต่อเดือนมากเท่าไหร่ ก็คูณเข้าไปครับ ซึ่งก็จะต้องมีเงินลงทุนมากขึ้นเท่านั้นถึงจะเรียกได้ว่าพอ

ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ เป็นเรื่องของผลตอบแทนในระยะยาว บางคนประเมินสูงเกิน คือที่ผ่านมาเร็วๆนี้ โอ้โห ลงทุนได้ปีละหลาย 10% ช่วงตลาดหุ้นดีผลตอบแทนดี อย่าเอาเป็นเกณฑ์ครับต้องประเมินผลตอบแทนของตัวท่านเองในระยะยาว และผลตอบแทนอันนี้ เป็นผลตอบแทนของเงินลงทุนทั้งหมดท่านมีนะครับ ไม่ใช่เฉพาะส่วนพอร์ทหุ้น เอาเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ท่านมีไปลงทุนจะได้ผลตอบแทนเท่าไหร่ เชื่อว่าหลายคนแบ่งพอร์ทไม่ได้ลงทุนในหุ้นทั้งจำนวน  ซึ่งช่วงของผลตอบแทนที่เหมาะสมของแต่ละคน ผมมองไว้ที่ 5-12% ขึ้นอยู่กับแต่ละคนแต่อย่างไรท่านควรประเมินให้อนุรักษ์นิยมไว้หน่อยครับ 

อีกประเด็นคือสิ่งที่สำคัญคือหลายคนไม่ลงทุน หรือลงทุนได้ผลตอบแทนต่ำกว่าเงินเฟ้อ ถ้าเป็นอย่างนี้เก็บเท่าไหร่ก็ไม่พอครับ จะอยู่ระยะยาวยังไงก็ต้องกินเงินต้นไปเรื่อยๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ท่านต้องขยับหาช่องทางการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสมและอย่างน้อยที่สุดต้องชนะเงินเฟ้อ และอีกอย่างคือผลตอบแทนหลังเงินเฟ้อของท่านยิ่งต่ำ เงินลงทุนของท่านที่ต้องมีก็จะยิ่งมาก ลองนึกดูครับถ้าผลตอบแทนเหลังเงินเฟ้อของท่านอยู่ที่ 1% ท่านต้องมีเงินลงทุน 1,200 เท่าของค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน ถ้าใช้เดือนละ 20,000 บาทนั้นคือ 24 ล้านครับ!!!  และยิ่งมากยิ่งจะไปถึงคำว่า พอแล้ว” ในทางการเงินก็ยิ่งยากขึ้นเท่านั้นครับ ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงที่จะถึงคำว่าพอคือท่านต้องมี สติออม สะสมเงินออมเงินลงทุนเพื่อให้ถึงจุดคำว่าพอ  สติใช้ยิ่งค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนมากก็จะถึงจุดที่พอก็จะยาก และสติลงทุนที่ต้องลงทุนให้ชนะเงินเฟ้อและเพิ่มพูนผลตอบแทนครับ