สังคมไร้เงินสด

สังคมไร้เงินสด

ดิจิทัลไลฟ์สไตล์เป็นเทรนด์ที่ผู้คนพอใจและเลือกใช้เพราะความสะดวกสบายในชีวิตประจำที่เทคโนโลยีดิจิทัลได้มอบให้ผ่านสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์ที่รายรอบ

แต่เรื่องที่มีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวันที่สุดเรื่องหนึ่ง คือการชำระเงินและการจัดการกับเงินสด ซึ่งดิจิทัลได้ช่วยให้การชำระเงินกลายเป็นเรื่องสะดวกและพอใจ ทำให้ผู้ชำระเงินจับจ่ายโดยไม่ต้องพกพาบัตรเครดิตหรือเงินสดให้ยุ่งยาก

เทรนด์ Digital Wallet

การใช้ดิจิทัลในการชำระเงินแทนการพกพาเงินสดหรือไร้เงินสดผ่านนวัตกรรม “Digital Wallet” เริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อ Square โดย แจ๊ค ดอร์ซี่ (Jack Dorsey) ผู้ร่วมก่อตั้งทวิตเตอร์ได้เปิดตัวเครื่องรูดบัตรผ่านโมบายในปี 2009 เพื่อให้ร้านค้าสามารถรับการชำระเงินด้วยบัตรเครดิตผ่านสมาร์ทโฟนและแทบเล็ต ทำให้การทำธุรกรรมด้วยการรูดบัตรผ่านโมบายชัดเจนขึ้นเป็นครั้งแรก และได้เปิดโอกาสให้ร้านค้าย่อยที่ไม่สามารถติดตั้งระบบชำระเงินด้วยบัตรเครดิตสามารถรับชำระเงินได้ ช่วยให้ลูกค้าลดการใช้เงินสดกับร้านค้าย่อยลง

นวัตกรรมกระเป๋าเงินอิเลคทรอนิกส์ได้ก้าวหน้าขึ้นเมื่อกูเกิลเริ่มผลักดันระบบการชำระเงินผ่าน NFC ด้วยกูเกิลวอลเลท (Google Wallet) ในปี 2011 ซึ่งต่อมาได้เกิดเป็นแอนดรอยด์เพย์ (Android Pay) จนกระทั่งปลายปี 2014 แอ๊ปเปิ้ลได้เปิดตัวแอ๊ปเปิ้ลเพย์ (Apple Pay) เต็มรูปแบบเพื่อให้บริการ Contactless Mobile Payment ที่เสริมความปลอดภัยด้วย Touch ID ให้ผู้ใช้สามารถติดตั้งบัตรเครดิตที่ต้องการใช้ลงในแอ๊ปเปิ้ลวอลเลท (Apple Wallet) เพียงโบกเครื่องไอโฟนผ่านแท่นอ่านที่รองรับ NFC ไอโฟนจะส่งข้อมูลการชำระเงินในลักษณะ Token ไปยังร้านค้าอย่างปลอดภัย ช่วยลดระยะเวลาที่แคชเชียร์และเป็นที่ต้องการของนักช้อปยุคดิจิทัล

จีนมาที่หลังแต่โดนใจกว่า

นักวิเคราะห์จากโกลด์แมน แซคส์ ประเมินว่าแอ๊ปเปิ้ลเพย์ได้รับความนิยมสูงที่สุดถึง 90% ของการทำธุรกรรมผ่านโมบายในสหรัฐเมื่อเทียบกับกูเกิลเพย์หรือซัมซุงเพย์ แต่ถึงอย่างนั้นก็มีเพียง 27% ของผู้ใช้ไอโฟนในสหรัฐที่ใช้แอ๊ปเปิ้ลเพย์และในจำนวนนี้มีเพียง 8% ที่ใช้ทุกสัปดาห์ จึงเห็นได้ว่าดิจิทัลวอลเลทผ่านนวัตกรรมชั้นเยี่ยมยังไม่สามารถเบียดกิจกรรมในมือถือของผู้คนได้ดีพอ

ตรงกันข้ามกับกระแสการชำระเงินผ่านโมบายในประเทศจีนที่กลับกลายเป็นที่นิยมกันอย่างมาก โดยบริษัท iResearch ในจีนคาดว่ายอดการชำระเงินผ่านโมบายของจีนในปี 2016 สูงถึง 5.5 ล้านล้านดอลลาร์ซึ่งมากกว่าครี่งหนึ่งของจีดีพีของประเทศ

ความนิยมของการชำระเงินผ่านโมบายเป็นผลพวงจากการความนิยมในการซื้อสินค้าผ่านระบบอีคอมเมิร์ซและโซเชียลมีเดียของจีน เมื่อกลุ่มอาลีบาบา (Alibaba) เจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ที่สุดของโลกได้นำระบบการชำระเงินออนไลน์ที่เรียกว่าอาลีเพย์ (Alipay) มาใช้ในการชำระเงินของลูกค้าในเว็บไซต์ Taobao.com เมื่อปี 2004 จนต่อยอดเป็นแพลตฟอร์ม Mobile Payment และซูเปอร์แอพที่มีผู้ใช้งานมากถึง 520 ล้านราย

ในขณะที่ค่ายโซเชียลมีเดียอย่างกลุ่มเทนเซนต์ (Tencent) ซึ่งมีแพลตฟอร์มยอดนิยมอย่าง QQ Instant Messenger และแชทแพลตฟอร์มอย่าง WeChat ที่มีผู้ใช้งานเกือบ 1,000 ล้านคน โดยเทนเซนต์ได้พัฒนาแพลตฟอร์มการชำระเงินผ่านโมบายที่เรียกว่า TenPay ซึ่งถูกนำไปใช้กับ WeChat Pay ภายใต้แอพของ WeChat ที่ต้องการเป็น “All-Purpuse App” 

โดยผู้ใช้ไม่ต้องออกจากแอพ WeChat แต่สามารถใช้งานบริการนับตั้งแต่การแชท การแชร์ภาพและวีดิโอ อ่านข่าว เล่นเกมส์ ชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ แชร์ค่าอาหารหรือบิลกับเพื่อน เรียกแท็กซี่ และเรียกใช้บริการจากธุรกิจ Sharing อื่นๆ เช่นสั่งอาหารหรือการล้างรถ ตลอดจนการลงทุนในตลาดหุ้น

ในช่วงเทศกาลตรุษจีน WeChat ได้สร้างปรากฎการณ์ “Red Envelope” หรือการส่งเงินอั่งเปาออนไลน์ให้กับญาติ เพื่อน ลูกน้อง ศิลปินที่ชื่นชอบหรือคนที่ติดต่อด้วย โดยในปีนี้มีอั่งเปาจำนวนกว่า 64,000 ล้านซองถูกส่งผ่านแอพของ WeChat ในระยะเวลา 6 วัน

โหมกระแสสนาม Mobile Payment

WeChat ประสบความสำเร็จจากการสร้างอีโคซิสเต็ม (Ecosystem) ภายในแอพโซเชียลมีเดีย ที่มีลูกค้าของ WeChat Pay กว่า 300 ล้านราย และสามารถรุกเข้าไปในสนามของการซื้อขายสินค้าและชำระเงินผ่านโมบายของ Alipay จึงคาดได้ว่ายักษ์ใหญ่ในแดนมังกรทั้งสองค่ายกำลังช่วงชิงการเป็นแอพหนึ่งเดียวในใจ ที่ผู้ใช้งานสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้โดยไม่ต้องออกจากอีโคซิสเต็มของแอพเลย

แต่ความน่าสนใจของระบบชำระเงินในรูปแบบนี้กลับอยู่ที่การใช้งานที่ง่ายและรวดเร็ว เพียงผู้ใช้สแกน QR Code ของผู้รับเงินหรือผู้ใช้ผ่านฟังก์ชั่นภายในแอพ ก็สามารถชำระค่าใช้จ่ายและทราบข้อมูลต่างๆ ที่ต้องการได้เพียงการคลิกผ่านแอพ และไม่ต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์ให้ยุ่งยาก ช่วยตอบโจทย์ดิจิทัลไลฟ์สไตล์ของผู้ซื้อและสร้างความสะดวกให้กับร้านค้าทั้งน้อยใหญ่ 

จนแทงใจค่ายยักษ์ใหญ่อย่างแอ๊ปเปิ้ล กูเกิล เฟซบุ๊ค และเพย์พาล และยังโหมกระแสการช่วงชิงความเป็นเจ้าสนามของ Mobile Payment ก่อนจะสายเกินไป