อินเดียกับภาษี GST ใหม่

อินเดียกับภาษี GST ใหม่

อินเดียกับภาษี GST ใหม่

1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ภายใต้การปฏิรูปประเทศของนาย Narendra Modi อินเดียเริ่มบังคับใช้ระบบภาษีสินค้าและบริการ (GST: Goods and Services Tax) ที่เป็นระบบเดียวกันทั่วประเทศ เพื่อลดความซับซ้อนและเพิ่มความโปร่งใสเรื่องการจัดเก็บภาษีระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นกับรัฐบาลกลาง โดย ระบบ GST ใหม่จะแบ่งอัตราภาษีเป็น 4 อัตรา ได้แก่ 5%, 12%, 18%, 28% และยกเว้นภาษีโภคภัณฑ์

ย้อนกลับไปถึงระบบภาษีอันซับซ้อนของอินเดียก่อนหน้านี้ เกิดจากการปกครองในระบบรัฐฯ ที่ให้อำนาจรัฐบาลท้องถิ่น 29 รัฐฯ กำหนดกฎเกณฑ์ รวมถึงอัตราภาษีแตกต่างกัน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจของทั้งบริษัทอินเดียและนักลงทุนต่างชาติ ดังนั้นการบังคับใช้ GST ครั้งนี้จะช่วยผลักดันให้ภาคการผลิตและการส่งออกมีประสิทธิภาพมากขึ้น และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจอินเดียในระยะยาว โดยรัฐบาลตั้งเป้าว่า GST ใหม่กระตุ้น GDP ให้ขยายตัวได้อีก 2% เลยทีเดียว อย่างไรก็ดี คาดว่าตัวเลขเศรษฐกิจใน 2-3 เดือนต่อจากนี้จะชะลอลงในช่วงเปลี่ยนถ่ายระยะแรก ก่อนจะรีบาวน์กลับอย่างรวดเร็ว ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นเมื่ออินเดียประกาศยกเลิกธนบัตร 500 และ 1,000 รูปี ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

ประเด็นสำคัญที่น่าพิจารณา คือผลกระทบของ GST ต่ออัตราเงินเฟ้ออินเดียซึ่งจะเป็นตัวกำหนดทิศทางนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ในอนาคต โดยผลกระทบของ GST มีทั้ง 2 ด้าน ดังนี้

ปัจจัยที่ส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้น: ภายใต้ GST ใหม่ จะบังคับให้ธุรกิจที่เคยหลบเลี่ยงภาษีเข้าสู่ระบบและจ่ายภาษีสู่รัฐฯ ทั้ง ภาษี GST และภาษีรายได้นิติบุคคล จึงอาจส่งผลให้ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของบริษัทถูกส่งต่อไปยังผู้บริโภคผ่านราคาสินค้าและบริการที่มีแนวโน้มแพงขึ้น

ปัจจัยที่ส่งผลให้เงินเฟ้อลดลง: ภาษี GST คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของอินเดียลงราว 30-40% จากปัจจุบันมีการหลีกเลี่ยงเส้นทางขนส่งเพื่อหลบภาษีที่ถูกจัดเก็บเมื่อผ่านเขตแดนระหว่างรัฐฯ นอกจากนี้ การให้เครดิตภาษีคืนเต็มจำนวนจะทำให้ภาระภาษีและต้นทุนสินค้าลดลง ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ GST เพื่อเพิ่มการแข่งขันในตลาดสินค้าและบริการ

ในภาพรวม ผลกระทบที่แท้จริงมีแนวโน้มทำให้เงินเฟ้ออ่อนตัวลง เพราะอัตราภาษี GST โดยรวมที่คาดว่าจะลดลง และจากการประเมินของตลาดผ่าน Bloomberg คาดว่าดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ CPI ซึ่งเป็นตัวชี้วัดอัตราเงินเฟ้อจะลดลง 0.2% จากการใช้ระบบGST และจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนในการส่งต่อผลกระทบสู่ผู้บริโภคขั้นสุดท้าย

ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อ (CPI) เดือนมิถุนายนลดลงมาที่ 1.54% ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 1.6% และกรอบเป้าหมายล่างที่ 2% เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2555 ที่มีการจัดเก็บข้อมูล CPI อินเดีย ซึ่งการอ่อนแรงของ CPI ในครั้งนี้มาจากผลผลิตการเกษตรที่เพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันที่ลดลง และช่องว่างการผลิตที่กว้างขึ้น

หากเงินเฟ้อในอนาคตลดลงจาก GST อาจจะเป็นแรงกดดันให้ RBI ลดดอกเบี้ยลงในอนาคตอันใกล้นี้ ปัจจุบันตลาดมองว่าโอกาสที่ RBI จะลดดอกเบี้ยในเดือนสิงหาคม และเดือนตุลาคมอยู่ที่ 68.7% และ 76.9% ตามลำดับ