ตลาดตราสารหนี้ไทย พ.ค. ปรับตัวลง

ตลาดตราสารหนี้ไทย พ.ค. ปรับตัวลง

ตลาดตราสารหนี้ไทย พ.ค. ปรับตัวลง

ในเดือนพ.ค.นี้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินและเหตุการณ์ทางการเมืองของหลายประเทศ เริ่มต้นที่สหรัฐ ในช่วงต้นเดือนคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (FED) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยตามคาด โดยเฟดระบุว่า เศรษฐกิจจะยังคงขยายตัวได้ในระดับปานกลางท่ามกลางตลาดแรงงานที่ดีขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดว่าใกล้เคียง 2% ในระยะกลางตามเป้าหมายที่วางไว้ ต่อมาในเดือนมิ.ย. FED ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปที่ระดับ 1.00-1.25% ตามที่ตลาดคาดหมาย ซึ่งเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ในปีนี้ และเป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่เริ่มการปรับดอกเบี้ยขึ้นเมื่อเดือนธ.ค. 2558

อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทน 10-Year US Treasury กลับปรับตัวลดลงจากต้นปีที่ 2.44% มาอยู่ที่ 2.13% (15/06/2560) พร้อมกับค่าเงินดอลลาร์ ที่มีทิศทางอ่อนค่าลง โดยดัชนีค่าเงินดอลลาร์ (US Dollar Index) อ่อนค่าลงไป 4.67% จากต้นปีที่ 102.21 มาอยู่ที่ 97.433 (15/06/2560) ซึ่งมีสาเหตุมาจากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นต่อแผนการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลทรัมป์ที่มีความเสี่ยงที่จะล่าช้าออกไป

ทางด้านผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส นายเอ็มมานูแอล มาครง ซึ่งเป็นนักการเมืองสายกลางได้รับชัยชนะไปตามความคาดหมาย จึงลดความเสี่ยงด้านการเมืองของยูโรโซนลง ส่วนธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ 

นอกจากนี้คณะกรรมการได้แสดงความเห็นว่าเงินเฟ้อจะแตะระดับ 2.8% ในไตรมาส 4 ปีนี้ และจะชะลอตัวลงในปีถัดไป พร้อมกับปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของ GDP ในปีนี้เป็น 1.9% จาก 2.0% แต่ปรับเพิ่ม GDP ปี 2018 และ 2019 ขึ้นเป็น 1.7% และ 1.8% ตามลำดับ

สำหรับประเทศในเอเชีย เศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาสแรกขยายตัว 2.2% เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 1.4% และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ และนับเป็นการขยายตัวติดต่อกัน 5 ไตรมาส โดยแรงขับเคลื่อนหลักมาจากภาคการส่งออกที่ฟื้นตัวตามอุปสงค์ของโลกและภาคการบริโภคที่เติบโตได้ดีขึ้นแต่ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ และประเทศจีน มูดี้ส์ลดอันดับเครดิตของจีนเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 30 ปี จากการคาดการณ์ว่าความแข็งแกร่งทางการเงินของจีนจะลดลงท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจและหนี้ที่สูงขึ้นเกือบ 300% ต่อ GDP มูดี้ส์จึงปรับลดระดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ลงจาก Aa3 สู่ A1

ทางด้านเศรษฐกิจของไทย สภาพัฒน์ฯ ได้รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 2560 ว่าขยายตัวได้ร้อยละ 3.3 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.0 ในไตรมาสก่อนหน้า และคาดการณ์แนวโน้มในปี 2560 ว่าจะขยายตัวได้ 3.3-3.8% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการส่งออก การขยายตัวของการลงทุนภาครัฐ การปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าเกษตร การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว และการปรับตัวดีขึ้นของตลาดรถยนต์ในประเทศ 

ส่วนผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยครั้งที่ 3 ของปี มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี คณะกรรมการฯ ประเมินว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้น แม้ว่ายังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากปัจจัยด้านต่างประเทศ ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ จึงเห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไป และพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ

ความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยในเดือนนี้ ปรับตัวลงทั้งพันธบัตรระยะสั้นและพันธบัตรระยะยาว โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับตัวลดลงจากการจำกัดปริมาณเสนอขายพันธบัตรระยะสั้นของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเดือนที่สอง เนื่องจากต้องการสกัดเงินจากนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาพักเงินระยะสั้น ผลการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน รุ่นอายุ 14 วัน, 3 เดือน และ เดือน ให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 1.29%, 1.41% และ 1.47% ตามลำดับ ในขณะเดียวกันปริมาณซื้อขายจากนักลงทุนต่างชาติในเดือนนี้ เป็นการซื้อสุทธิ 37.9 พันล้านบาท และยอดการถือครองพันธบัตรจากนักลงทุนต่างชาติ ณ สิ้นเดือนพ.ค.อยู่ที่ 725 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2559 ที่ 634 พันล้านบาท

โดยสรุปนับตั้งแต่ต้นปีเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวลดลงทุกระยะ 0.03-0.23% (15/06/2560)