ทุกสิ่งสมาร์ทได้ด้วย Smart Citizenship

ทุกสิ่งสมาร์ทได้ด้วย Smart Citizenship

Smart Nation จะเกิดขึ้นได้ประชากรในประเทศต้องมีสติปัญญาที่ล้ำเลิศ ไม่ใช่แค่รู้จักใช้มันอย่างชาญฉลาด แต่ต้องสามารถควบคุมสั่งการได้

ตอนนี้หันซ้ายแลขวา อยู่ในบ้านหรือออกนอกบ้าน เรียนรู้ผ่านการศึกษาในระบบหรือหาความรู้ด้วยตัวเองตลอดเวลา ทำธุรกิจส่วนตัวหรือทำงานให้กับองค์กร ดำเนินชีวิตเพื่อหารายได้หรือช่วยเหลือสังคมโดยรวม ทำกิจกรรมสันทนาการส่วนตัวหรือจะสังสรรค์ร่วมกับเพื่อนฝูง ไม่ว่าอย่างไรก็แล้วแต่คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สภาพแวดล้อมและสิ่งต่างๆในทุกวันนี้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง แม้ว่าคำฮิตติดหูที่เป็นนโยบายระดับชาติจะมีประกาศออกมาในแต่ละยุคสมัยแต่ละรัฐบาล แล้วก็ผ่านไปหรือจางหายไปตามกาลเวลาก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งซึ่งไม่จางหายไปแน่ๆคือยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงที่เป็นพลวัตรตามกระแสความทันสมัยของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 

เพราะเมื่อนักวิจัย (Researcher) ไม่ว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ (Scientist) ศึกษาค้นคว้าจนตอบคำถามที่คาใจและได้องค์ความรู้ใหม่ เผยแพร่สู่วงวิชาการและสาธารณะ จนมีนักเทคโนโลยี (Technologist) นำความรู้นั้นมาต่อยอดเพื่อให้อยู่ในรูปแบบที่พร้อมใช้งาน โดยมีนักประดิษฐ์ (Inventor) และนวัตกร (Innovator) ผู้ที่ชื่นชอบสร้างสิ่งใหม่เพื่อมาตอบโจทย์ความต้องการของมนุษย์และแก้ปัญหาที่คนเราประสบอยู่ให้ดีขึ้น นำเทคโนโลยีผสมผสานเข้ากับความคิดใหม่ จนกลายเป็นผลงานที่สามารถยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนให้ดีขึ้น นั่นคือการทำงานที่ส่งต่อผลงานที่มาจากบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกัน แต่เชื่อมโยงต่อเนื่อง

 

ส่วนใหญ่บุคคลที่กล่าวถึงข้างต้นมักจะเป็นคนละคน อยู่กันในสายงานและอาชีพที่แตกต่างกัน มีพื้นฐานความรู้ความชำนาญและจุดมุ่งหมายแตกต่างกัน แต่ก็มีบ้างที่เกิดขึ้นในคนคนเดียวกัน เพราะไม่มีกฎกติกาหรือข้อห้ามใดๆ ตราบเท่าที่ความสนใจและความสามารถของคนคนนั้นจะไปได้ ผมเพิ่งมีโอกาสได้อ่านบทความจากต่างประเทศที่วิเคราะห์ศักยภาพและความสามารถของนักคิดที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในระดับชั้นนำของโลก

 

ซึ่งในอดีตเราอาจจะนึกถึงเอดิสัน (Thomas Edison) ที่ห้องแล็บของเขาได้สร้างสรรค์ผลงานที่เป็นพื้นฐานของการดำรงชีพในทุกครัวเรือน ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาเราก็มักจะนึกถึงสตีฟ จ็อบส์ (Steve jobs) ที่สร้างผลงานทำให้เห็นว่าดิจิตัลได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของทุกคน และในปัจจุบันหลายคนคงนึกถึงอีลอน มัคส์ (Elon Musk) ผู้ที่จะมาเปลี่ยนอุตสาหกรรมและการนำพามุนษย์ไปท่องเที่ยวหรือใช้ชีวิตนอกโลก ซึ่งเป็นจินตนาการที่เกิดขึ้นมานานมากแล้ว แต่กำลังจะชัดเจนขึ้นสำหรับผู้คนทั่วไป พื้นฐานการศึกษาในระดับปริญญาในสาขาฟิสิกส์ ที่แสนยากและเป็นวิชาที่แม้แต่คนที่เรียนทางด้านวิทยาศาสตร์จำนวนมาก ก็สอบตกหรือได้คะแนนไม่ค่อยดีมาแล้ว ควบด้วยปริญญาทางด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งถือเป็นสาขาอีกด้านหนึ่งซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อโลกเศรษฐกิจและการค้า และความสนใจในทุกเรื่อง อ่านหนังสือทุกประเภทของเขา

 

นี่อาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้ความคิดของเขากว้างและไกล สามารถมองทะลุผ่านจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปสู่ความเป็นไปได้ในทางเศรษฐศาสตร์และธุรกิจ ซึ่งสองฝั่งนี้มักจะมีความขัดแย้งกันอยู่เสมอ ผลงานสร้างสรรค์จำนวนมากไม่ประสบความสำเร็จในทางธุรกิจ ในขณะที่มีจำนวนน้อยเท่านั้นที่ฝ่าอุปสรรคและได้รับการยอมรับ คงไม่ปฏิเสธว่าเรากำลังอยู่ในยุคที่อะไรก็สมาร์ท (Smart) ซึ่งเป็นคำสามัญที่เหมาะสมสำหรับยุคปัจจุบัน แต่ในทางเทคนิคเรากำลังบอกว่าสิ่งต่างๆรอบตัวเราจากนี้ไปมันจะฉลาดและคิดเองได้ (Intelligence) แม้แต่เครื่องจักรที่หลายคนคงคิดว่ามันก็เป็นแค่เครื่องมืออย่างหนึ่ง ซึ่งทำงานภายใต้การควบคุมและสั่งการจากมนุษย์ แต่ปัจจุบันเราสามารถทำให้สมองกลที่สามารถรับข้อมูลเข้า ประมวลผล และสร้างบทเรียนใหม่ๆให้กับตัวเอง “เครื่องจักรสมองกล” ซึ่งไม่ต่างจากมนุษย์ที่มีความสามารถในการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาได้

 

คำว่า “Smart home” “Smart office” “Smart city” “Smart classroom” “Smart grid” หรือแม้แต่ “Smart society” เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าไม่ใช่สิ่งต่างๆที่ชาญฉลาดขึ้นเท่านั้น หากแต่ถ้ามนุษย์ยังไม่พัฒนาตัวเองให้เท่าทันและเหนือมันได้ ไม่แน่ว่าในอนาคตเราจะใช้มัน หรือมันจะใช้เรา ตัวอย่างเช่นหุ่นยนต์หนึ่งตัวซึ่งเราอาจจะมองว่ามันเป็นแค่เครื่องจักร แต่ความรู้ที่อยู่ในตัวมันนอกจากชุดโปรแกรมคำสั่งที่จะให้มันประมวลผลแล้ว ความรู้ที่อยู่ในตัวมันยังมาจากสุดยอดของผู้รู้ในสาขาต่างๆ เช่น ความรู้จากนักจิตวิทยาชั้นนำที่ศึกษาพฤติกรรมของคน ความรู้จากนักธรรมชาติวิทยาที่ศึกษาสิ่งมีชีวิตและปรากฎการณ์ต่างๆในโลก ความรู้จากช่างและวิศวกรที่สอนให้มันใช้เครื่องมือเพื่อซ่อมสร้างสิ่งต่างๆ ความรู้จากแพทย์พยาบาลที่บอกว่าจะดูแลรักษาสิ่งมีชีวิตในโลกนี้อย่างไร หุ่นยนต์จึงเป็นมากกว่าผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน

 

ดังนั้น Smart Nation จะเกิดขึ้นได้ประชากรในประเทศนั้นจะต้องมีสติปัญญาที่ล้ำเลิศ ไม่ใช่แค่รู้จักใช้มันอย่างชาญฉลาดเท่านั้น แต่ต้องสามารถควบคุมสั่งการได้ Smart Citizenship จึงอาจจะกลายเป็นนิยามใหม่ของคนในยุคต่อไป แม้ว่าในบางครั้งเราอยากจะอยู่กับธรรมชาติโดยปราศจากเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกก็ตาม แต่เชื่อเถอะว่าเราหนีความทันสมัยไม่พ้น ก็แค่เรียนรู้และใช้มันสร้างสรรค์สิ่งที่ดี เพราะยุคนี้เป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร

 

สำหรับคนรักสุขภาพ ก็อาจจะออกไปเดิน วิ่ง แอโรบิค หรือเข้าฟิตเนสเพื่อออกกำลัง แต่ทุกคนก็อยากรู้ว่าเผาผลาญพลังงานและสารอาหารส่วนเกินไปได้กี่แคลอรี่แล้ว วิ่งไปได้ระยะทางกี่กิโล หัวใจเต้นในระดับใดจากอัตราการเต้นสูงสุดที่เหมาะสมกับอายุ จังหวะการหายใจเป็นอย่างไร ซึ่งข้อมูลต่างๆเหล่านี้อ่านและบันทึกไว้ด้วย Smart watch ที่อยู่บนข้อมือ นอกจากเก็บเป็นสถิติแล้ว ยังช่วยวิเคราะห์ให้คำแนะนำ รวมไปถึงวางแผนการฝึกซ้อมให้เรา ไม่ว่าเราจะตั้งเป้าแค่เสริมสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกาย หรือมุ่งหวังจะเข้าแข่งขันในรายการต่างๆ นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ที่คนจะมีความเป็น Smart citizenship ในมิติของการดูแลสุขภาพ และควรจะสมาร์ทให้รอบด้านด้วย “รู้ให้ทัน ใช้ให้เป็น เห็นประโยชน์” ครับ