นวัตกรรมสอนกันได้หรือไม่

นวัตกรรมสอนกันได้หรือไม่

ในยุคที่อะไรอะไรก็ต้อง 4.0 เรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรมจึงเป็นเรื่องที่จะต้องควบคู่มาด้วยเสมอ

แต่ในบริบทของประเทศไทย ยังมีข้อสงสัยกันว่า สตาร์ทอัพ หรือผู้ประกอบการธุรกิจ จะเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องของการสร้างสรรค์และการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้อย่างไร และจะเรียนได้จากที่ไหน

เพราะเรื่องของการสร้างสรรค์นวัตกรรม ไม่ได้เกิดขึ้นจากการมีแนวความคิดที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใครแต่เพียงอย่างเดียว การสร้างนวัตกรรมให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นจะต้องมีความเป็นไปได้ ทั้งในด้านของเทคโนโลยีที่จะมารองรับ และด้านของความเป็นไปได้ในการสร้างผลตอบแทนเชิงธุรกิจ

ดังนั้นองค์ความรู้พื้นฐานในด้านของเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม จึงมีความสำคัญต่อโอกาสในการประสบความสำเร็จของธุรกิจสตาร์อัพเป็นอย่างมาก

ส่วนใหญ่แล้ว เรื่องเทคโนโลยี อาจไม่เป็นปัญหามากสักเท่าไร เพราะสตาร์อัพ ส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ติดตามและสนใจเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีอยู่แล้ว และมีความรู้ค่อนข้างดีกับเทคโนโลยีที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

แต่การมองเทคโนโลยีในอนาคต หรือการคาดการณ์เทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นใหม่ ที่มักเรียกกันว่า เทคโนโลยีอุบัติใหม่ ก็เป็นเรื่องที่นักวิชาการให้ความสนใจและทำการศึกษาวิจัย จนเกิดเครื่องมือการบริหารจัดการต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้ในการคาดการณ์อนาคตของเทคโนโลยี และเป็นองค์ความรู้ที่ยอมรับในปัจจุบัน

ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่อาจแสวงหาเองได้ยาก โดยไม่มีผู้รู้ นักวิชาการ หรืออาจารย์มหาวิทยาลัย มาเป็นผู้ถ่ายทอด เนื่องจากความซับซ้อน และการที่ต้องมีพื้นฐานความรู้ในด้านวิชาการมาก่อนแล้วบ้าง จึงจะสามารถต่อยอดความเข้าใจไปยังทฤษฏีด้านนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากผลงานวิจัย ทั้งในด้านวิชาการและในด้านของการนำไปปฏิบัติจริงของธุรกิจ

นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สตาร์อัพหรือผู้ประกอบการไทยจะไม่ถนัด คือการใช้ความรู้หรือหลักวิชาการมาประกอบในการตัดสินใจวางแผนธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจตามปกติธรรมดาหรือธุรกิจนวัตกรรม ก็ตาม ส่วนใหญ่จะยึดกับวิสัยทัศน์ส่วนตัวเป็นหลัก

องค์ความรู้เชิงวิชาการด้านนวัตกรรมที่มีการนำมาเรียนมาสอนกันในระดับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เช่น เรื่องของความเข้าใจธรรมชาติของธุรกิจนวัตกรรม ที่มีการศึกษาวิจัยและจัดแบ่งประเภทไว้มานานเกือบ 20 ปีแล้ว ที่จะช่วยให้เห็นแนวทางในการทำนวัตกรรมของธุรกิจที่อาศัยปริมาณ (ศัพท์วิชาการเรียกว่า Scale-intensive Firms) และธุรกิจที่เป็นธุรกิจขนาดเล็กแต่ใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเป็นจุดแข็งในการแทรกตัวเข้าตลาด (Science-based Firms) ต่างก็สามารถสร้างนวัตกรรมขึ้นมาในตลาดได้ แต่ด้วยกระบวนการและวิธีการที่ต่างกัน เป็นต้น

กระบวนการนวัตกรรมที่แตกต่างกันนี้ มีอยู่ในตำรา สามารถเรียนรู้และสอนกันได้ แทนการที่จะต้องไปค้นพบด้วยตัวเองด้วยการลองผิดลองถูก ซึ่งทำให้ต้องเสียเวลาและทรัพยากรสนับสนุนไปโดยใช่เหตุ

กระบวนการสร้างนวัตกรรมในระดับบริษัท ยังแตกต่างกันออกไปอีกสำหรับบริษัทประเภทที่เป็นผู้รับนวัตกรรมจากซัพพลายเออร์หรือผู้ผลิตเครื่องจักร (Supplier-Dominated Firms) หรือธุรกิจที่เป็นผู้ผลิตเครื่องจักรอุปกรณ์ที่มีความเชี่ยวชาญ แต่ต้องอาศัยวิสัยทัศน์นวัตกรรมในสินค้าของตนเองมาจากลูกค้าหรือผู้ใช้งาน (Specialized-Equipment Supplier Firms)

รวมถึง ธุรกิจในกลุ่มที่ต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และธุรกิจด้านการให้บริการ ที่ต่างก็มีแนวทางในการสร้างนวัตกรรมที่แตกต่างกันออกไป

หากสตาร์อัพหรือผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม ไม่สามารถจำแนกลักษณะของธุรกิจที่ต้องการนำเสนอได้อยู่อยู่ในกลุ่มธุรกิจนวัตกรรมประเภทใดที่มีนักวิชาการได้ศึกษาวิจัยจนเกิดเป็นองค์ความรู้ที่ปรากฎอยู่ในตำราแล้ว ก็อาจทำให้ประสบปัญหาดังที่ได้กล่าวมาก็เป็นได้

องค์ความรู้อีกประการหนึ่งที่มีการเรียนการสอนกัน ก็คือ เรื่องของแหล่งที่มาของนวัตกรรมที่จะประสบความสำเร็จ ซึ่งอาจมีที่มาได้จากหลายๆ แหล่ง เช่น ทฤษฎีวงเกลียว 3 ส่วน (Triple Helix Model) ที่กล่าวถึงความสำคัญของความร่วมมือในการสร้างนวัตกรรมจากองค์กร 3 ฝ่าย ซึ่งได้แก่ องค์กรภาครัฐ องค์กรภาคธุรกิจ และองค์กรภาคการศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการค้นคว้าวิจัย

แนวคิดเหล่านี้ ล้วนปรากฏอยู่แล้วในตำราวิชาการที่ใช้ประกอบในการเรียนการสอน เพื่อเป็นความรู้พื้นฐานให้กับนักธุรกิจรุ่นใหม่หรือสตาร์อัพที่เน้นการสร้างธุรกิจนวัตกรรมขึ้นเพื่อความได้เปรียบในการแข่งขันกับธุรกิจอื่นๆ ที่มีพื้นที่ยึดครองในตลาดอยู่แล้ว

ดังนั้น ความรู้เกี่ยวกับการสร้างธุรกิจนวัตกรรมไม่ใช่จะเกิดขึ้นจากประสบการณ์และวิสัยทัศน์แต่เพียงอย่างเดียว แต่สามารถเรียนและสอนกันได้เช่นเดียวกัน