อันตรายของนโยบาย “ประชานิยม”

อันตรายของนโยบาย “ประชานิยม”

การเมืองซีกโลกตะวันตกขณะนี้กำลังสร้างความแตกแยกให้กับสังคมตนเองอย่างไม่เคยมีมาก่อน

เป็นการแตกแยกระหว่างกลุ่มผลประโยชน์เดิม หรือกลุ่มชนชั้นผู้นำ (Elites) ที่ได้ประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจและระบบการเมืองที่มีอยู่ ได้แก่ เจ้าของธุรกิจ เจ้าของทุน ผู้บริหารธุรกิจ นักการเมือง และผู้กำกับนโยบาย กับกลุ่มประชาชนและผู้ใช้แรงงานที่ไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควรจากการเติบโตของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นภายใต้ระบบทุนนิยมแบบโลกาภิวัฒน์ ที่เน้นความเป็นเสรีของตลาดและการเคลื่อนย้ายเงินทุนและแรงงานข้ามประเทศ ความไม่พอใจของคนกลุ่มหลังนี้ได้นำไปสู่การปฏิเสธสิ่งที่มีอยู่ 

พร้อมสนับสนุนการทำนโยบายแบบประเทศนิยมที่ปฏิเสธระบบโลกาภิวัฒน์ ปฏิเสธการค้าเสรี และการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนของทุนและแรงงาน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศและของตนเอง และอย่างที่เห็น ความไม่พอใจได้ถูกฉวยเป็นโอกาสโดยนักการเมืองสร้างกระแสการเมืองแบบชาตินิยม หรือกระแสขวาจัด ชูธงว่าประโยชน์ของประเทศต้องมาก่อน เช่น กรณีของ Brexit ที่อังกฤษและชัยชนะของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมพ์ที่สหรัฐอเมริกาและนำประเทศไปสู่การดำเนินนโยบายแบบประชานิยม เพื่อเอาใจคนส่วนใหญ่ที่ผิดหวังกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน โดยเร่งให้เกิดการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งในอดีต นโยบายประชานิยมได้พิสูจน์แล้วว่ามีผลดีเพียงระยะสั้น แต่จะสร้างความเสียหายหรือความหายนะให้กับประเทศตามมา

วันนี้อยากเขียนเรื่องนี้เพื่อเตือนใจผู้ทำนโยบายที่กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงิน ลดภาษีและเร่งการใช้จ่ายแบบประชานิยม ให้ตระหนักถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประเทศในระยะยาว โดยวิเคราะห์ในแง่มุมของเศรษฐศาสตร์จากประสบการณ์และสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศละตินอเมริกาที่ใช้นโยบายประชานิยม ซึ่งในที่สุดก็ต้องมีอันเป็นไปจากนโยบายดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น อาเจนตินา บราซิล เปรู นิคารากัว และเวเนซูเอล่า เป็นบทเรียนให้ผู้ทำนโยบายในประเทศตะวันตกและประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเซีย ต้องเรียนรู้และตระหนัก

ประชานิยม เป็นชื่อที่เรียกการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นการเติบโตของเศรษฐกิจและการกระจายเงินจากคนรวยไปสู่คนจน โดยไม่สนใจเรื่องภาระเงินเฟ้อ การขาดดุลการคลัง และผลที่นโยบายดังกล่าวจะมีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในส่วนอื่นๆ คือมุ่งด้านเดียวให้เกิดการใช้จ่ายที่จะนำไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจ ผู้ที่ได้ประโยชน์จากนโยบายประชานิยมก็คือ ผู้ที่ได้มีโอกาสใช้จ่ายจากนโยบายประชานิยมที่เกิดขึ้น และมักเป็นกลุ่มคนที่ไม่ค่อยมีรายได้อยู่เดิม ไม่ค่อยมีโอกาสได้ใช้จ่าย แต่จากที่คนกลุ่มนี้มีจำนวนมาก และสามารถเป็นฐานเสียงที่สำคัญ นโยบาย “ประชานิยม” กับเป้าหมายทางการเมืองจึงแยกกันไม่ออก คือสร้างการใช้จ่ายและการเติบโตทางเศรษฐกิจ พร้อมได้ใจและได้คะแนนนิยมจากกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์

ในทางเศรษฐศาสตร์ การกระตุ้นให้เศรษฐกิจมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นด้วยเงินของภาครัฐ เช่น เพิ่มงบประมาณ หรือลดภาษี ถ้าทำมาก จะนำไปสู่การขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเศรษฐกิจในที่สุด ยิ่งการใช้จ่ายมุ่งให้คนที่ขาดกำลังซื้อ หรือไม่มีเงินอยู่แล้วได้มีโอกาสใช้จ่าย การใช้เงินก็จะยิ่งเต็มที่ เพิ่มความต้องการสินค้าและบริการได้เต็มที่ ด้วยเหตุนี้ ตลาดการเงินมักตอบรับมาตรการแบบนี้ในเชิงบวกเหมือนที่กำลังเกิดขึ้นที่สหรัฐ ตลาดหุ้นปรับสูงขึ้น เกิดเงินทุนไหลเข้า (เพื่อซื้อหุ้น) ค่าเงินของประเทศจะแข็งค่าขึ้น การแข็งค่าของเงินทำให้ราคาสินค้านำเข้าถูกลง ลดแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อในประเทศ เอื้อให้นโยบายการเงินยิ่งผ่อนคลายได้มากขึ้น คือ ธนาคารกลางจะลดดอกเบี้ย นำไปสู่การขยายตัวของการใช้จ่ายและเศรษฐกิจอีกรอบ ทุกอย่างดูดีไปหมด สินเชื่อขยายตัว หุ้นขึ้น และราคาสินทรัพย์อื่นๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์และที่ดินปรับสูงขึ้น เศรษฐกิจเข้าสู่ช่วงบูมอย่างชัดเจน

ภาวะดังกล่าว ทำให้นักการเมืองที่ทำนโยบายยิ่งได้ใจ โอ้อวดว่า การบริหารประเทศของตนประสบความสำเร็จ สื่อมวลชนก็ยกย่อง กลายเป็นกูรูทางเศรษฐกิจชั่วข้ามคืน ก็เลยยิ่งเร่งทำนโยบายประชานิยมมากขึ้น แต่ที่ไม่ได้ถามกันก็คือ เงินที่นำมากระตุ้นเศรษฐกิจนั้นมาจากไหน เพราะไม่ได้มีเงินอยู่ก่อน คำตอบคือ ต้องมาจากการกู้ยืมโดยรัฐบาล ทำให้นโยบายประชานิยมต้องมากับการสร้างหนี้ให้กับประเทศโดยภาครัฐ ยิ่งประชานิยมมาก หนี้ยิ่งมาก หนี้เหล่านี้ เป็นภาระทางกฎหมายที่ต้องชำระคืนในอนาคต โดยรัฐบาลในอนาคต จากผู้เสียภาษีในอนาคต ดังนั้น การเติบโตของการใช้จ่ายที่เกิดจากนโยบายประชานิยม ก็คือ การยืมความสามารถในการใช้จ่ายของลูกของหลานในอนาคตมาใช้จ่ายวันนี้ เป็นการสร้างปัญหาให้กับเศรษฐกิจในอนาคตและคนรุ่นต่อไป

ที่สำคัญ ถึงจุดหนึ่ง การกระตุ้นโดยนโยบายประชานิยม ก็ต้องหยุด เพราะรัฐบาลจะไม่สามารถกู้เงินได้เรื่อยๆ ผู้ให้กู้ ซึ่งก็คือ ตลาดการเงิน จะเริ่มระวังในความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาล และถ้าเศรษฐกิจมีความเปราะบางจากนโยบายประชานิยม เช่น มีการขาดดุลการคลัง และดุลบัญชีเดินสะพัดมาก หรือ ภาคการส่งออกสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ไม่สามารถหารายได้ เช่น กรณีของประเทศไทยปี 2540 การสูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเศรษฐกิจ และในความสามารถของภาคทางการที่จะชำระหนี้ก็จะเกิดขึ้น นำมาสู่การเรียกคืนเงินกู้ก่อนกำหนด หรือไม่ต่ออายุหนี้ที่ครบกำหนด เกิดการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศ การอ่อนค่าของสกุลเงินของประเทศ ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว ธุรกิจก็เริ่มขาดรายได้ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มสูงขึ้น กระทบฐานะของธนาคารพาณิชย์ ทำให้แบงค์ยิ่งเรียกคืนเงินกู้หรือลดการปล่อยกู้ ผลคือ ธุรกิจขาดสภาพคล่อง ไม่ขยายการผลิต การว่างงานก็เพิ่มขึ้น ถึงจุดนี้ ถ้าบริหารไม่ดี ประเทศก็มีโอกาสที่จะเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ ในละตินอเมริกา ประเทศที่ดูดีด้วยประชานิยม มักจะจบลงด้วยความหายนะทางเศรษฐกิจแบบนี้

ดังนั้น สิ่งที่เราเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีตของหลายประเทศ ก็คือ นโยบายประชานิยมสร้างความเสียหายให้กับประเทศที่ใช้นโยบายนี้ในระยะยาว และเมื่อเกิดขึ้นก็จะเป็นปัญหาที่แก้ยาก ใช้เวลา เพราะการแก้ต้องมาด้วยการลดหนี้ ประเทศจึงเสียหายมาก นี่คือ บทเรียนที่ผู้ทำนโยบายในซีกโลกตะวันตกและในเอเซียต้องซึมซับ