ธุรกิจกับเป้าหมายการพัฒนาสู่ความยั่งยืนของโลก

ธุรกิจกับเป้าหมายการพัฒนาสู่ความยั่งยืนของโลก

ท่านผู้อ่านหลายท่านคงจะได้ยินเกี่ยวกับเรื่องที่องค์การสหประชาชาติได้ร่วมกันเห็นชอบเป้าหมายการพัฒนาโลกให้ก้าวไปสู่ความยั่งยืน

โดยกำหนดขอบเขตของเป้าหมายไว้ 17 ประการ ให้บรรลุความสำเร็จภายในปี 2030 โดยเรียกสั้นๆ ว่า เป้าหมาย SDG ซึ่งย่อมาจาก Sustainable Development Goals หรือเป้าหมายสู่การพัฒนาความยั่งยืนของโลก

สำหรับท่านที่ยังไม่เคยทราบเกี่ยวกับ SDG เป้าหมายที่กำหนดไว้ 17 ประการนี้ เนื้อหาโดยย่อ ได้แก่

1) ความยากจนต้องหมดไป 2) ต้องไม่มีผู้หิวโหย 3) สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีทั่วหน้า 4) การได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ 5) ความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง

6) การมีแหล่งน้ำสะอาด 7) การมีแหล่งพลังงานสะอาดที่ราคาเข้าถึงได้ 8) การมีงานทำและระบบเศรษฐกิจที่เติบโต 9) การมีสาธารณูปโภคพื้นฐานครบถ้วนและส่งเสริมนวัตกรรม 10) ลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ

11) การมีชุมชนหรือเมืองที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืน 12) มีการผลิตและการบริโภคอย่างรับผิดชอบ 13) ป้องกันและแก้ไขสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ 14) ดูแลรักษาแหล่งน้ำธรรมชาติให้เป็นทรัพยากรอย่างยั่งยืน 15) ดูแลรักษาแผ่นดินและป่าไม้และรักษาระบบนิเวศให้สมบูรณ์ 16) ได้รับความยุติธรรมอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม 17) สร้างความร่วมมือระหว่างชาติเพื่อพัฒนาสู่ความยั่งยืนร่วมกัน

นอกจากนี้ ยังมีการรณรงค์ให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำให้เป้าหมายนี้ประสบความสำเร็จตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ด้วย

ในขณะที่ภาคธุรกิจก็ได้ให้ความสนใจกับการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืนอยู่แล้ว แต่เท่าที่ทำกันอยู่ก็คือ แต่ละธุรกิจก็จะกำหนดเป้าหมายและกิจกรรมการพัฒนาสู่ความยั่งยืนในมุมมองของตนเองแต่เพียงฝ่ายเดียว การนำเป้าหมาย SDG มาใช้เป็นแนวทางการพัฒนาความยั่งยืน จะทำให้เกิดทิศทางการดำเนินกิจกรรมที่มีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกันได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อส่วนรวมได้ดีขึ้น

สำหรับการนำแนวทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนมาประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการธุรกิจ ได้มีการรวมกลุ่มกันของผู้บริหารระดับสูงของธุรกิจในกลุ่มประเทศที่เป็นสมาชิกขององค์กรสหประชาชาติ ภายใต้ความริเริ่มที่เรียกว่า United Nations Global Compact หรือ UNGC ได้ร่วมกันกำหนดแนวทางและข้อแนะนำสำหรับธุรกิจเพื่อดำเนินกิจกรรมที่สอดคล้องกับเป้าหมาย SDG

โดยแบ่งแนวทางดำเนินการไว้ใน 4 หมวด รวม 10 หลักการ ดังต่อไปนี้

1. หมวดสิทธิมนุษยชน 2 หลักการ

หลักการที่ 1 ธุรกิจจะต้องดำเนินการโดยยอมรับและให้ความสำคัญต่อคำประการศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์กรสหประชาติ

หลักการที่ 2 ธุรกิจจะต้องไม่มีส่วนร่วมต่อการดำเนินการใดๆ ที่ส่อว่าจะละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้อื่น

2. หมวดการใช้แรงงาน 4 หลักการ

หลักการที่ 3 ธุรกิจต้องเปิดโอกาสให้มีการรวมตัวกันของแรงงานเพื่อต่อรองกับนายจ้างอย่างยุติธรรม

หลักการที่ 4 ธุรกิจต้องไม่ใช้แรงงานแบบบังคับที่ผิดกฏหมาย

หลักการที่ 5 ธุรกิจต้องไม่ใช้แรงงานเด็ก

หลักการที่ 6 ธุรกิจต้องไม่มีการแบ่งแยกในการจ้างงานและประเภทอาชีพ

3. หมวดการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม 3 หลักการ

หลักการที่ 7 ธุรกิจต้องดำเนินการไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

หลักการที่ 8 ธุรกิจต้องแสดงความรับผิดชอบต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยความคิดริเริ่มใหม่ๆ

หลักการที่ 9 ธุรกิจต้องพัฒนาหรือนำเทคโนโลยีทันสมัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้

4. หมวดการต่อต้านคอร์รัปชั่น 1 หลักการ

หลักการที่ 10 ธุรกิจต้องดำเนินการเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น การบีบบังคับ และการให้สินบนในทุกรูปแบบ

แนวทางทั้ง 10 หลักการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้ธุรกิจ สามารถตั้งเป้าหมายการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับเป้าหมาย SDG ในระดับโลกต่อไปได้