เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจพอเพียง

เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจพอเพียง

เหมือนกับประชาชนคนไทยอื่นๆ ผมรู้สึกเศร้าสลดและตระหนักอย่างยิ่งถึงความสูญเสียครั้งใหญ่หลวงของประเทศ

และประชาชนคนไทย และขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้และขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายความอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผมภูมิใจที่ได้เคยเป็นข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศอยู่หลายปีและต่อมาก็มีความผูกพันกับเศรษฐกิจไทยและประเทศไทยในฐานะนักวิเคราะห์ และในวันนี้จึงขอร่วมแสดงความเห็นเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมิทนมหาภูมิพลอดุลยเดชและประโยชน์ที่นำมาใช้ในการดำเนินการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและเป็นแนวปรัชญาที่มีพื้นฐานเดียวกับที่กำลังนำมาใช้เป็นมาตรฐานของสหประชาชาติ

ผมคิดว่าประเด็นหลักคือเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเป็นปรัชญาซึ่งในความเห็นของผมนั้นมีความใกล้เคียงกับแนวทางที่ถูกกำหนดให้เป็นมาตรฐานสากลคือ sustainable development หมายความว่าเป็นระบบและกระบวนการทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน แต่ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มิได้ให้อยู่กับที่ แต่จะต้องเป็นการพัฒนาที่รับรู้ความ “พอเพียง” โดยรอบด้าน ซึ่งสิ่งแรกที่จะต้องให้ความสำคัญคือการพัฒนาที่ไม่เอาเปรียบหรือทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสมบัติรวมของทุกคน ตรงนี้เป็นจุดอ่อนของระบบทุนินมในกรณีที่ “คุณภาพสิ่งแวดล้อม” นั้นเป็น “สินค้า” ที่มีค่าสำหรับทุกคน แต่ไม่มีใครเป็นเข้าของโดยตรงการดูแลสภาพสิ่งแวดล้อมจึงไม่ทั่วถึงและมีการแก่งแย่งไปใช้อย่างไม่รับผิดชอบ แต่เศรษฐกิจพอเพียงซึ่งมักจะถูกนำมาเป็นตัวอย่างในการทำการเกษตร ที่ให้ความสำคัญกับการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความสมดุลทางธรรมชาติเป็นหลัก เพราะหากไม่ทำแบบ พอเพียงแล้วก็เสี่ยงว่าจะไม่ sustainable หรือยั่งยืนนั่นเอง

มิติที่ 2 ของความพอเพียงในความเห็นของผมคือความพอเพียงที่มาจากความระมัดระวัง การทำธุรกิจที่สุขุมไม่รับความเสี่ยงมากเกินไป ตรงนี้จะใกล้เคียงกับ risk aversion หรือหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงจนทำให้ธุรกิจหรือประเทศสั่นคลอนได้ หมายความว่าต้องรับรู้และเข้าใจถึงความเสี่ยงและมีระบบบริหารจัดการความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ควบคุมความเสียหายให้อยู่ในกรอบจำกัด ตรงนี้ความพอเพียงในด้านของการบริหารการเงินมีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะวิกฤติเศรษฐกิจของไทยในปี 1997 และวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 2008 รวมทั้งวิกฤติเศรษฐกิจอีกหลายร้อยกรณีในอดีตก็มักจะมีบ่อเกิดจากการขาดวินัยทางการเงิน ทั้งในระดับจุลภาคและระดับมหภาค ในกรณีของวิกฤติเศรษฐกิจของไทยนั้นต้องยอมรับว่านักธุรกิจไทยและประเทศไทยโดยรวมยืมเงินจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากมาลงทุนขยายธุรกิจเพื่อหวังให้ธุรกิจขยายตัวและให้เศรษฐกิจไทยเป็นเสือตัวใหม่ของเอเชีย แต่เรากู้เงินและใช้เงินมากเกินตัว กล่าวคือขาดดุลบัญชีเดินสะพัด (ใช้เงินมากกว่าเงินรายได้ที่เข้ามา) สูงถึง 8% ของจีดีพี (มีรายได้จากการส่งออก 100 เหรียญ แต่นำเข้าสินค้า+บริการเดือนละ 108 เหรียญ)

ดังนั้น เมื่อการส่งออกไม่ขยายตัวในปี 1996 และทุนสำรองก็มีเหลืออยู่ไม่มาก จึงทำให้ไม่สามารถดำรงอยู่ในลักษณะเดิมได้ (ไม่ยั่งยืนหรือ sustainable) เพราะมิได้ทำตัวให้พอเพียง จึงต้องมีการปรับตัวอย่างรุนแรงครั้งยิ่งใหญ่คือการลดค่าเงินบาท (ซึ่งหมายความถึงการลดความกินดีอยู่ดีของประชาชนและของประเทศลง เพราะซื้อสินค้าต่างประเทศได้น้อยลง) และต่อมาประเทศไทยก็มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเสมอมา ทำให้ใช้คืนหนี้เก่าได้ ทั้งหมดและปัจจุบันประเทศไทยเป็นเจ้าหนี้สุทธิไปแล้ว ทำให้มั่นใจได้ว่าเศรษฐกิจไทยโดยรวมอยู่ในสภาวะที่พอเพียงในเชิงของความยั่งยืนทางการเงิน และอาจจะอยู่ในความระมัดระวังมากเกินกว่าคาดเพราะไทยจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเท่ากับ 10% ของจีดีพีติดต่อกัน 2 ปีซ้อนแล้ว

ในมิติที่ 3 นั้นผมคิดว่าการดำเนินเศรษฐกิจพอเพียงมิได้หมายความว่าจะต้องมีข้อจำกัดในส่วนของการสร้างกำไร กล่าวคือจะยังสามารถกำหนดเป้าหมายหลักคือการทำกำไรสูงสุดได้ เพราะกำไรสูงเป็นตัววัดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจที่สำคัญและธุรกิจนั้นมีหน้าที่หลักในการทำกำไรเพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดให้กับผู้ถือหุ้นเป็นหลักพื้นฐานอยู่แล้ว ในโลกปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูงและการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันนั้นกำไรที่สะสมมาพัฒนาและขยายกิจการอย่างเหมาะสมย่อมจะมีบทบาทสำคัญยิ่งในการทำให้ธุรกิจมีเสถียรภาพและมีความยั่งยืน เพียงแต่ว่ากำไรที่ได้มานั้นไม่ควรได้มาจากการกู้เงินคนอื่นมามากๆ แบบจับเสือมิเปล่าหรือเกิดจากการเบียดเบียนผู้บริโภคโดยการทำให้ธุรกิจของตนเป็นธุรกิจผูกขาด ซึ่งการทำธุรกิจภายในประเทศมีโอกาสเข้าเงื่อนไขนี้ได้คือความพยายามผูกขาดมากกว่าการส่งออกที่ต้องแข่งขันกับธุรกิจอื่นๆ ทั่วโลก

ดังนั้นในความเห็นของผมนั้นเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นคติประจำใจของผมคือการทำธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การทำธุรกิจที่บริหารความเสี่ยงที่ดีโดยเฉพาะด้านการเงิน และการแสวงหากำไรจากการสร้างมูลค่าให้กับลูกค้า ไม่ใช่การผูกขาด ซึ่งผมเชื่อว่าเมื่อทำเช่นนี้แล้ว เศรษฐกิจโดยรวมก็จะสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างราบรื่นและมั่นคง โดยจะกระจายผลประโยชน์ให้กับผู้ที่มีส่วนร่วมทุกคนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยหากสังคมยังต้องการที่จะลดความเหลื่อมล้ำลงไปอีก ก็สามารถเก็บภาษีคนรวยเพิ่มได้ โดยให้รัฐบาลมีกลไกที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพในการกระจายรายได้ให้สังคมไทยเป็นสังคมพอเพียงที่น่าอยู่ยิ่งขึ้นไปครับ