อ่านหนังสือคลาสสิกแล้วจะได้อะไร

อ่านหนังสือคลาสสิกแล้วจะได้อะไร

หนังสือคลาสสิก คือ หนังสือดีชั้นเยี่ยม ที่เป็นแบบฉบับ, ทั้งจากกรีก โรมันยุคโบราณ ยุโรปสมัยหลัง

และจากอารยธรรมอื่นๆ รวมถึงหนังสือดีของชาติต่างๆ ด้วย มักใช้หมายรวมถึงทั้งหนังสือนวนิยาย บทละคร เรื่องสั้น บทกวี และหนังสือความเรียง สารคดี ปรัชญา ประวัติศาสตร์ ฯลฯ หนังสือคลาสสิกของแต่ละชาติช่วยหล่อหลอมวัฒนธรรมความเป็นเอกภาพของคนที่ใช้ภาษาเดียวกัน เมื่อแปลเป็นภาษาอื่นก็สื่อสารสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันได้ เป็นมรดกทางประสบการณ์ ภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ซึ่งมีลักษณะความเป็นมนุษย์ร่วมกัน และวรรณกรรมทีดีเด่นเป็นสากลนั้น คนชื่นชมได้ทั่วโลกโดยไม่ติดยึดว่านั่นเป็นวรรณกรรมของชาติใด

การอ่านหนังสือคลาสสิก จะทำให้เราได้ทั้งความบันเทิงของงานศิลปวรรณกรรมระดับยอดเยี่ยม และทำให้เราเรียนรู้จากชีวิต ประสบการณ์ ความคิด ความอ่าน ของผู้คนอย่างลึกซึ้งและกว้างไกลเพิ่มขึ้น การอ่านนวนิยายทำให้เรารู้จักตัวเอง คนอื่นๆ และเห็นใจคนอื่นมากขึ้น เพราะเป็นเรื่องของชีวิตมนุษย์คล้ายเรา การศึกษาในยุค 5 ศตวรรษที่แล้ว พึ่งพาการอ่านงานหนังสือคลาสสิกค่อนข้างมาก ปัจจุบันในโลกตะวันตกและประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมก็ยังให้นักเรียนมัธยมและมหาวิทยาลัยอ่านหนังสือคลาสสิกและคลาสสิกสมัยใหม่ เพราะถือว่า เป็นการวางรากฐานที่ลึกและกว้าง คนที่เป็นนักอ่านวรรณกรรมคลาสสิกมากพอจะอ่านบทละครกรีกโบราณหรือเชคสเปียร์ของอังกฤษ เหมือนกับอ่านเรื่องของมนุษย์ที่รัก โกรธ โลภ หลง เช่นเดียวกับเรา โดยไม่ค่อยรู้สึกเรื่องความแตกต่างทางชนชาติหรือยุคสมัยมากนัก

ญี่ปุ่นที่เปิดประเทศรับวัฒนธรรมตะวันตกสมัยเมจิ พร้อมๆ กับเราในซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ระดมแปลและอ่านศึกษาหนังสือคลาสสิกของโลกกันอย่างขนานใหญ่ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นเจริญก้าวหน้าทางด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ไปไกลกว่าไทยมาก ปัจจุบันคนญี่ปุ่นก็ยังแปล, เขียนและอ่านหนังสือกันมากกว่าไทย ใครที่อ่านหนังสือ เรียวมะ ซามูไรผู้นำการเปลี่ยนแปลง นวนิยายจากชีวิตคนจริง จะเข้าใจได้ดีขึ้นว่าทำไมญี่ปุ่นถึงพัฒนาได้เร็วกว่าและมากกว่าการปฏิรูปของไทยในยุคเดียวกัน

ถึงวันนี้ ยังไม่มีรัฐบาลไทยชุดไหนที่เข้าใจความจริงที่สำคัญว่า การจะปฏิรูปการศึกษา และพัฒนาพลเมืองให้มีคุณภาพ ที่จะอยู่ในโลกสมัยใหม่ได้ ต้องส่งเสริมให้คนไทยรักการอ่านหนังสือดี และควรจัดตั้งหน่วยงานที่ทำงานได้คล่องตัวแบบองค์กรมหาชนแปลและพิมพ์หนังสือคลาสสิกของโลกเผยแพร่ให้คนไทยได้อ่านกันอย่างจริงจัง

ที่ผ่านมามีสำนักพิมพ์เอกชนบางแห่งเลือกแปลและพิมพ์บางเล่มที่มีชื่อเสียงและพอขายได้ แต่ก็ยังน้อย มูลนิธิหนังสือเพื่อสังคม . ได้พิมพ์หนังสือแปลคลาสสิกและคลาสสิกสมัยใหม่มาแล้ว 17 ปก ส่วนใหญ่เป็นนวนิยาย แต่ก็มีชีวประวัติและปรัชญาความคิดของบุคคลที่น่าสนใจด้วย เพราะอยากส่งเสริมด้านภูมิปัญญาความคิดอ่านไปพร้อมกับเรื่องศิลปวรรณกรรม

นวนิยายที่น่าประทับใจมากเรื่องหนึ่งคือ ปราการอุดมคติ ของเอ เจ โครนิน นักเขียนชาวอังกฤษที่เป็นแพทย์มาก่อน เขาเขียนนวนิยายที่สะท้อนชีวิตและความขัดแย้งของแพทย์ชาวอังกฤษ 2 กลุ่ม ในศตวรรษที่แล้วได้อย่างสมจริง เห็นเนื้อหาสาระสำคัญ และอย่างมีศิลปะในการสะท้อนความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมของคนที่มีลักษณะซับซ้อนได้ชัดเจนมาก นี่คือหนังสือที่นักศึกษาแพทย์, แพทย์ บุคลากรสาธารณสุข ควรอ่านอย่างยิ่ง พวกเราในฐานะคนไข้อ่านแล้วก็ได้แง่คิดและความรู้สึกที่น่าสนใจเช่นกัน

หนังสืออัตชีวประวัติของหมอเบน คาร์สัน คนอเมริกันผิวสี ผู้เติบโตมาจากครอบครัวยากจนในสลัม แต่กลายเป็นหมอผ่าตัดที่มีฝีมือและมีชื่อเสียงมาก เป็นหนังสือร่วมสมัยอีกเล่มหนึ่งที่น่าสนใจ ชื่อหนังสือคือ สองมือแห่งศรัทธา ชีวิตแพทย์ผู้สร้างแรงบันดาลใจ

หนังสือของอัลเบร์ต กามูส์ นักเขียนชาวฝรั่งเศสได้รับรางวัลโนเบล มีทั้งบทละครเรื่อง ผู้เที่ยงธรรม นวนิยายเรื่อง คนแปลกหน้า (ฉบับแปลเดิมคือคนนอก) และผู้ต่ำต้อย และความเรียงเชิงปรัชญา เกี่ยวกับชีวิตและความตายของมนุษย์เรื่อง เทพตำนานซีซีฟ ผู้กลิ้งก้อนหินใหญ่ขึ้นภูเขา

นวนิยายเกี่ยวกับกษัตริย์อาเธอร์และอัศวินโต๊ะกลม ตำนานที่โรแมนติก, เป็นอุดมคติที่ T.H. White ตีความแบบนวนิยายสมัยใหม่ในยุคสงครามโลก ระหว่างฝ่ายฟาสซิสม์และฝ่ายเสรีประชาธิปไตย แปลเป็นภาษาไทยชื่อ อาร์เธอร์ ราชันแห่งนิรันดร์กาล โดย นพมาส แววหงส์

หนังสือ ของอิริค ฟรอมม์ เรื่องศิลปะแห่งการรัก (The Art of Loving) เป็นหนังสือจิตวิทยาสำหรับผู้อ่านทั่วไป ที่กล่าวถึงความรักที่แท้จริงของคนที่มีวุฒิภาวะ ที่มีความสามารถที่จะรักคนอื่นได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่หลงตัวเอง เป็นหนังสือขายดีตลอดกาลที่มีชื่อเสียงจนกลายเป็นคลาสสิกเรื่องหนึ่ง

ชีวประวัติชีวิต งานและความคิดของเซอร์วิลเลี่ยม ออสเลอร์ นายแพทย์ชาวแคนาดา ในยุคร้อยกว่าปีที่แล้วผู้ได้รับการยกย่องอย่างสูงในแง่ผลงานการศึกษาค้นคว้าเรื่องโรคภัยและการใช้ชีวิตอย่างแพทย์ผู้มีอุดมคติ รวมทั้งเป็นนักอ่านหนังสือคลาสสิกตัวยงและเขียนหนังสือกล่าวปาฐกถาได้อย่างสละสลวย คมคาย และมีเนื้อหาสาระ เป็นหนังสือที่หนาถึง 3 พันหน้า สำหรับคนอ่านทั่วไป ถ้าจะอ่านข้ามๆ เรื่องรายละเอียดทางการแพทย์ สาธารณสุข ก็จะได้สนุกกับเรื่องชีวิตการต่อสู้ของปัญญาชน หนังสือ นักเขียน กวีคลาสสิก และพัฒนาการทางสังคมในโลกตะวันตกที่ต้องผ่านปัญหาหลายอย่างกว่าจะมาถึงยุคปัจุจุบัน

หนังสืออื่นๆ มีนวนิยายของวิลเลี่ยม ซาโรยัน 3 เรื่องคือ ฟ้ากว้างทางไกล, ความสุขแห่งชีวิต. ผมชื่ออารัม เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับการเติบโตทางความคิดของเด็กผู้ชาย และการเรียนรู้จักชีวิตผู้คนในเมืองเล็กๆ ที่เป็นกนัเอง และอบอุ่น คนสวน บทกวีของรพินทนาถ ฐากูร นักเขียนเอเชียคนแรกที่ได้รางวัลโนเบล ภูมปัญญาแห่งศตวรรษ บทสนทนากับผู้ทรงปัญญาของโลก โดย ฟริตจอพ คาปรา นักฟิสิกส์ผู้มองปัญหาสังคมอย่างวิพากษวิจารณ์ หนังสือหลายเล่มแปลโดย วิภาดา กิตติโกวิท

ผู้สนใจจะอ่านหนังสือเหล่านี้ ติดต่อมูลนิธิหนังสือเพื่อสังคมได้ที่ เฟซบุ๊ค –มูลนิธิหนังสือเพื่อสังคม โทร/ไลน์ 094-2037475)