Thailand 4.0 ต้องปรับยุทธศาสตร์

Thailand 4.0 ต้องปรับยุทธศาสตร์

รัฐธรรมนูญผ่านประชามติไปแล้วพร้อมกับอำนาจวุฒิสมาชิก 250 คน ที่มีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีซึ่งไม่จำเป็นต้องมาจากพรรคการเมือง

กรอบเวลาสำคัญการเลือกตั้งครั้งต่อไปคือประมาณสิ้นปี 2560 หรือต้นปี 2561 โน้นเลย 

นั่นหมายความว่า ท่านนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีเวลาขับเคลื่อนประเทศอีกปีครึ่ง ไม่นับว่าอาจจะกลับมาเป็นนายกฯต่ออีกหากมีการเลือกตั้งแล้วต้องการนายกฯ คนนอกขึ้นมา 

แต่นั่นคืออนาคตครับ 

มาดูว่าอีกปีกับ 6 เดือนดีกว่า ว่าเรื่องที่เราจะต้องปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย ยิ่งเมื่อสภาพัฒน์ฯ ประกาศตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของบ้านเราว่าถึงสิ้นเดือน 6 เราโตไป 3.5% ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตมากที่สุดในรอบหลายปีและมีแนวโน้มจะโตขึ้นอีกในปีหน้า พร้อมกับแผนลงทุน Infrastructure (โครงสร้างพื้นฐาน) ต่างๆ ของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูงสายแรกที่คาดว่า น่าจะลงมือได้ในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า พร้อมกับทางด่วนสายตะวันตกเฉียงใต้ และรถไฟที่ทยอยเสร็จอีกหลายสายในอีก 2 ปีข้างหน้า 

น่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน ซึ่ง พอการเมืองนิ่งแบบนี้หมายความว่าทุกอย่างที่รัฐบาลนี้วางแผนไว้จะเกิดขึ้น แน่นอนครับ

เราในฐานะผู้ประกอบการน่าจะมั่นใจที่จะเดินหน้าหลังจาก 3-4 ที่ผ่านมา การเมืองวุ่นวายมากทำให้ผู้ประกอบการไม่กล้าขยับตัวกันเท่าไหร่

แต่นับจากนี้ไป 1.6 ปี เราเตรียมเดินแผนระยะสั้นระยะกลางรับการขยายตัวของกำลังซื้อได้เลย และต้องบอกว่าเพื่อนบ้านของเราเศรษฐกิจก็ดีวันดีคืน ประเทศไทยก็พยายามอย่างยิ่งที่จะเป็นส่วนกลางในด้านต่างๆ แต่สำหรับวันนี้สิ่งที่เราเป็นแล้วแน่ๆ คือประเทศไทยเป็น ศูนย์กลางของการพยาบาล ของคนในภูมิภาคนี้เลยไปถึงอินเดีย และอาหรับต่างๆ ก็เดินทางมาประเทศไทย 

แน่นอนเม็ดเงินที่ใช้จ่ายต่อหัวนั้นสูงกว่าการมาเพื่อการท่องเที่ยวทั่วไป เพราะการมารักษาพยาบาลในประเทศไทยไม่ได้หมายความว่ามาคนเดียว แต่ยังมีญาติพี่น้องของผู้ป่วยมาด้วย

กลับมาเรื่อง การท่องเที่ยว เช่นเดียวกัน ประเทศไทยที่ถือว่าเป็นมหาอำนาจและเราพยายามเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ ซึ่งเป็นไปได้ การที่เราขยายสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง เพื่อเพิ่มจำนวนการรองรับผู้เดินทางต่อปีเพิ่มขึ้น การขยายสนามบินในภูมิภาคไม่ว่าจะเป็นภูเก็ต เชียงใหม่ออกไป รวมทั้งสนามบินอู่ตะเภาที่นอกจากรับรองผู้โดยสารแล้วยังต้องการให้เป็นศูนย์ซ่อมเครื่องบินของภูมิภาคอีกด้วยย่อมทำให้เราต่างออกไปจากอดีต

เราเองต้องเปลี่ยนแรงงานบ้านเราที่ยังเป็นแรงงานระดับกลาง ให้มีทักษะเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของฐานการผลิตที่มีแนวโน้มที่จะย้ายออกไปจากประเทศไทย เพราะต้นทุนแรงงานของเราแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน อย่างหมวดอิเล็กทรอนิกส์ก็คงทยอยออกจากบ้านเรา แต่ยังมีอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ยังคงมีการลงทุนเพิ่มขึ้นของแต่ละยี่ห้อ เราคงต้องปรับตัวกันจริงจังในการพัฒนาแรงงานของเราให้เป็นผู้มีทักษะขั้นสูง และสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีขึ้น รวมทั้งแหล่งผลิตบุคลากรต่างๆ ควรจะปรับตัวในการผลิตบุคลากรให้สอดคล้องกับทิศทางของประเทศที่เปลี่ยนไป 

เช่น บุคลากรทางการแพทย์เราคงต้องพัฒนาและเพิ่มบุคลากรนี้มากขึ้น รวมทั้งบุคลากรที่เกี่ยวเนื่องไม่ว่าจะเป็นพยาบาล วิทยาศาสตร์การแพทย์ และแม้แต่ทีมผู้บริหารต่างๆ ในวงการแพทย์เพื่อเราจะไม่ต้องเอาหมอเก่งๆ มานั่งเป็นผู้บริหารครับ เพราะต้องยอมรับว่า วันนี้เราเสียหมอเก่งๆ หลายคนไปทำงานบริหารแทนที่จะมาทำหน้าที่โดยตรงคือรักษาคนครับ และ

แน่นอนครับ บุคลากรทางการแพทย์ ก็คงต้องพัฒนาภาษาที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อรองรับคนไข้ที่มาจากทั่วโลกเพราะภาษาทางการแพทย์นั้นถ้าจะเอามาอธิบายเป็นภาษากลางๆ เพื่อให้คนไข้เข้าใจก็อาจจะอธิบายอาการได้ยากมากครับ

คนไทยวันนี้คงต้องกลับมาย้อนคิดว่า ภาษาอังกฤษคงไม่พออีกต่อไปกับการทำงานในยุคหน้าครับ เราต้องมีภาษาที่ 3 ก็แล้วแต่จะเลือกเอาครับ