นวัตกรรมโลว์เทค

นวัตกรรมโลว์เทค

เมื่อพูดถึงคำว่า “นวัตกรรม” สามัญสำนึกของผู้คนส่วนใหญ่มักจะคิดถึงเรื่องที่เป็น ไฮเทค หรือเทคโนโลยีขั้นสูง

เป็นเทคโนโลยีเกิดใหม่ที่ยังไม่เคยมีมาก่อน และทำให้เจ้าของเทคโนโลยีหรือเจ้าของนวัตกรรมสามารถสร้างผลตอบแทนกลับคืนมาได้อย่างคุ้มค่านับเป็นสิบเท่าร้อยเท่า

แต่ส่วนใหญ่แล้ว เทคโนโลยีที่สร้างขึ้นใหม่ มักจะมีการพัฒนา ต่อยอด ปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งอยู่ตัว กลายเป็นเทคโนโลยีที่เสถียร เชื่อถือได้ในสมรรถภาพ จนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป เทคโนโลยีที่เคยเรียกว่าเป็น ไฮเทค ก็อาจจะกลายมาเป็นเทคโนโลยีธรรมดา

นอกจากนี้ เทคโนโลยีชั้นสูง หรือ ไฮเทค มักจะเกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว เมื่อเจ้าของไฮเทค สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้อย่างเต็มอิ่มแล้ว ก็จะค่อยๆ ถ่ายทอดเทคโนโลยีนั้นไปยังประเทศที่พัฒนาน้อยกว่า เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตกค้างกลับมาได้อีก

ซึ่งในช่วงเวลานั้น เทคโนโลยีที่เคยได้ชื่อว่าเป็น ไฮเทค ก็อาจกลับกลายมาเป็นเทคโนโลยีระดับปกติธรรมดา หรืออาจถูกกล่าวขานถึงว่าเป็น เทคโนโลยีที่ล้าสมัย หรือเป็น โลว์เทค ไปเสียแล้ว

ทำให้ โลว์เทค ได้กลายมาเป็นเทคโนโลยีที่มักจะพบอยู่ในบริบทของประเทศที่ด้อยพัฒนาหรือมีระดับการพัฒนาที่ด้อยกว่า

ยกตัวอย่างเช่น สมัยที่ค้นพบเทคโนโลยีเครื่องจักรไอน้ำและสามารถนำมาใช้เป็นหัวรถจักรขับเคลื่อนขบวนรถไฟได้ เมื่อ 200 กว่าปีที่แล้ว จนทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศที่มีรถจักรไอน้ำใช้ได้เจริญรุ่งเรืองไปอย่างรวดเร็วเพราะทำให้การขนส่งเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำลงกว่าเดิมเป็นอย่างมาก

อีกไม่ถึง 100 ปีต่อมา เทคโนโลยีเครื่องจักรไอน้ำ ก็กลายมาเป็นเทคโนโลยีล้าสมัย หรือ โลว์เทคไปเสียแล้ว จนไม่มีใครสนใจนำมาใช้อีกต่อไป

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ประเทศที่ไม่สามารถคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมาได้เอง จำเป็นที่จะต้องอยู่กับ โลว์เทค โดยเฉพาะประเทศที่ยากจน หรือติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง จะเป็นผู้สร้างนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ขึ้นมาได้หรือไม่ จากเทคโนโลยีรุ่นเก่าที่จำเป็นต้องใช้อยู่

เมื่อมองจากระดับประเทศมาสู่ระดับอุตสาหกรรม ก็จะยิ่งเห็นพฤติกรรมของการใช้เทคโนโลยีโลว์เทคอย่างเห็นได้ชัดในประเทศที่ยังไม่พัฒนาถึงขีดที่สามารถจะสร้างเทคโนโลยีใหม่ได้ด้วยตัวเอง

ครั้นจะคิดสร้างเทคโนโลยีที่เลียนแบบ ก็ไม่มีทุน หรือทรัพยากรการผลิตที่เพียงพอ ทำให้จำเป็นต้องซื้อเทคโนโลยีเก่า หรือเทคโนโลยีมือสองมาใช้ในระบบการผลิต

ทำให้มีการมองอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่ยังต้องพึ่งพาเทคโนโลยี โลว์เทค ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ตะวันกำลังจะตกดิน

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจหรืออุตสาหกรรม ที่ยังคงใช้เทคโนโลยีดั้งเดิมอยู่ ก็อาจพัฒนาตนเองเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมให้กับธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยไม่จำเป็นต้องไขว่คว้าหรือแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดแต่เพียงอย่างเดียว

นวัตกรรมที่สามารถสร้างขึ้นได้ในธุรกิจโลว์เทค อาจได้มาจากการพัฒนาปัจจัยหรือตัวผลักดันในด้านอื่นๆ ที่นอกเหนือจากด้านเทคโนโลยี เช่น ปัจจัยด้านทักษะและฝีมือแรงงานในการผลิต ทำให้ได้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ รูปแบบ หรือมีความแปลกใหม่ สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดีขึ้น

ตัวอย่างง่ายๆ เช่น น้ำอัดลมยี่ห้อดั้งเดิม เช่น โคคาโคล่า ก็สามารถพัฒนาไม่ให้เกิดภาพพจน์ของความล้าสมัยหรือความเป็นโลว์เทค ให้เห็นได้ ทั้งๆ ที่ตัวสินค้าก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถรองรับกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงขึ้น ก็นับว่าเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนานวัตกรรมของธุรกิจโลว์เทค ได้อีกวิธีหนึ่ง

และจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มักจะมีความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การใช้เทคโนโลยี โลว์เทค ที่มีอยู่ แต่สามารถปรับเปลี่ยนสินค้าให้รองรับความต้องการที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคได้ตลอดเวลา ก็ถือว่าเป็นแหล่งสร้างนวัตกรรมที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่งของธุรกิจที่จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีการผลิตเดิมเท่าที่มีอยู่

การสร้างนวัตกรรมประเภทนี้ มักจะเห็นได้อยู่เสมอในอุตสาหกรรมพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับความจำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ แชมพู ผงซักฟอก หรือ อุตสาหกรรมอาหาร ที่ต้องใช้เทคโนโลยีเดิมที่มีอยู่ มาสรรสร้างรสชาติหรือความแปลกใหม่ให้กับสินค้าของตนอยู่ตลอดเวลา

การสร้างนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่อยู่ในตลาดแล้ว จึงไม่จำเป็นที่จะต้องเลือกเส้นทางด้วยการเปลี่ยนแปลงไปใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยหรือล้ำสมัย ซึ่งมักจะต้องใช้การลงทุนสูง และต้องพึ่งพาอาศัยทักษะใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคย หรืออาจต้องทิ้งความชำนาญและประสบการณ์ที่สะสมมา ไปเริ่มต้นเรียนรู้ใหม่ เหมือนคนที่ไม่เคยรู้อะไรมาก่อนเลย

ส่วนสตาร์ทอัพ หรือธุรกิจเริ่มใหม่ ก็อาจไม่จำเป็นที่จะต้องมุ่งสู่การใช้ไฮเทคแต่เพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไฮเทค ที่ต้องซื้อหรือจัดหามาจากต่างประเทศ เพราะอีกไม่นาน ไฮเทค ที่ได้มา ก็จะกลายเป็น โลว์เทค โดยธรรมชาติ

ยกเว้นว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่สร้างขึ้นได้ในประเทศ ด้วยตัวเอง และสามารถพัฒนาไปสู่ระดับที่สูงขึ้นของเทคโนโลยีได้อย่างต่อเนื่อง